วันนี้ในอดีต

3 เม.ย.1893 668 ปี สถาปนาราชธานี อโยธยาศรีรามเทพนคร!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รำลึกถึงครั้งความหลังอันรุ่งเรือง ของวันนี้เมื่อ 668 ปีก่อน ที่พระมหากษัตริย์ไทยแห่งอาณาจักรอยุธยา ได้ทรงสถาปนากรุงศีอยุธยาเป็นราชธานี

         กระแสออกเจ้าแรงจนฉุดไม่อยู่ ทำให้เวลานี้ชาวไทยพากันไปเยี่ยมเยือนยังถิ่นแคว้นแดนออเจ้า หรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นกรุงเก่า หรือ ราชอาณาจักรศรีอยุธยา กันเพียบ!!

         วันนี้ในอดีต จึงขอพาท่านผู้อ่านรำลึกถึงครั้งความหลังอันรุ่งเรืองของอาณาจักรแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันนี้เมื่อ 668 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 3 เม.ย. 1893 คือวันที่ “สมเด็จพระรามาธิบดีที่” 1 หรือ “พระเจ้าอู่ทอง” พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกในราชวงศ์อู่ทองแห่งอาณาจักรอยุธยา ได้ทรงสถาปนากรุงศีอยุธยาเป็นราชธานี

3 เม.ย.1893 668 ปี สถาปนาราชธานี อโยธยาศรีรามเทพนคร!

กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ภาพโดย Josh ที่ วิกิพีเดียภาษาดัตช์

 

         สำหรับการกำเนิดอาณาจักรอยุธยา ที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุดนั้น อธิบายว่า รัฐไทยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เจริญขึ้นมาจากราชอาณาจักรละโว้ (ซึ่งขณะอยู่ใต้การควบคุมของขอม) และอาณาจักรสุพรรณภูมิ

         แหล่งข้อมูลหนึ่งระบุว่า กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เกิดภัยโรคระบาดคุกคาม สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง จึงทรงย้ายราชสำนักลงไปทางใต้ ยังที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา บนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นนครท่าเรือเดินทะเล ชื่อ อโยธยา (Ayothaya) หรือ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” นครใหม่นี้ถูกขนานนามว่า “กรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา” ซึ่งภายหลังมักเรียกว่า กรุงศรีอยุธยา แปลว่า นครที่ไม่อาจทำลายได้

         ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับแว่นแคว้นต่างๆ มากมาย บ้านเมืองเจริญรุดหน้า และยังทรงตรากฎหมายหลายฉบับในรัชสมัยของพระองค์ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะพยาน,พระราชบัญญัติลักษณะอาญาหลวง,พระราชบัญญัติลักษณะรับฟ้อง ฯลฯ

         สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ครองราชย์อยู่ 20 ปี จนเสด็จสวรรคต และสิ้นรัชกาล ในปี 1912 จากนั้น “สมเด็จพระราเมศวร” พระราชโอรสก็ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา โดยขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 37 พรรษา

         แต่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียวก็สละราชสมบัติให้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ผู้เป็นพระมาตุลา (แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ) กระทั่งทรงกลับมาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้ง (ขณะพระชนมายุได้ 49 พรรษา) ภายหลังจากที่ทรงสำเร็จโทษ สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ที่ครองราชสมบัติได้เพียง 7 วัน

         ทั้งนี้ ในยุคของพระองค์ก็นับว่า สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรส เป็นพระมหากษัตริย์ที่ควรยกย่องเชิดชูพระเกียรติที่ทรงปกครองบ้านเมืองให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยที่ไม่มีเมืองต่างๆ มารุกราน และยังทรงขยายอาณาเขตให้อาณาจักรอยุธยายิ่งใหญ่ พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา แม้เวลาส่วนมากจะทำศึกสงคราม

         จนกระทั่งสมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1938 จากนั้น “สมเด็จพญารามเจ้า” หรือ “สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช” พระราชโอรสก็ทรงขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา ขณะมีพระชนมายุได้ประมาณ 21 พรรษา

         และเช่นเดียวกัน ที่ในรัชสมัยของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาเป็นปกติสุข มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิต้าหมิงตั้งแต่ปี พ.ศ. 1940 ทำให้อยุธยาเริ่มรับอิทธิพลจากจีนทั้งทางค้า การเมือง วัฒนธรรม และกฎหมาย ด้านความมั่นคงก็โปรดให้ยกทัพไปตีอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรสุโขทัย แต่ไม่สำเร็จ

         ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 5 แห่งอาณาจักรอยุธยา ครองราชย์ระหว่าง อยู่ 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 1938-1952 ราชอาณาจักรอยุธยาก็ตกเป็นของกษัตริย์ไทยใน “ราชวงศ์สุพรรณภูมิ” อีกครั้ง

         สิริรวมแล้ว พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา มี 5 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ 3 พระองค์ ดังรายพระนามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1, สมเด็จพระราเมศวร และ สมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราช

         จากนั้นมี ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ 13 พระองค์, ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ 7 พระองค์, ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ 4 พระองค์, ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ 6 พระองค์ รวมมีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 33 พระองค์

         โดยเฉพาะเหตุการณ์ครั้งสำคัญ คือ การเสียกรุงครั้งแรกในยุคของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมามีราชวงศ์สุโขทัยมาแทนที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2112-2173 ตามมาด้วย ราชวงศ์ปราสาททอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2173-2231 และราชวงศ์บ้านพลูหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2231-2310 จากนั้นจึงเสียกรุงครั้งที่2 

         โดยการเสียกรุงครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายลงแล้ว ตะนาวศรีตอนใต้ยังได้ตกเป็นของพม่าเป็นการถาวร และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับต่างๆ จนแทบนำไปสู่การล่มสลายของรัฐไทย

         อย่างไรก็ดี พม่าจำต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิมกลับคืนประเทศไปเมื่อถูกจีนบุกครอง จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเถลิงอำนาจและตั้งอาณาจักรของคนไทยใหม่ มาสู่กรุงธนบุรีนั่นเอง

         อนึ่ง เมื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และ พระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท ในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน และ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาทและพระที่นั่งตรีมุขด้วย พระราชวังระยะแรกนี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 7 พระองค์ เป็นเวลา 98 ปี

           ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 1991 ทรงยกบริเวณพระราชวังเดิม ได้แก่ พระที่นั่ง 3 องค์นั้น ให้เป็นพุทธาวาส หรือก็คือวัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชวังมาสร้างใหม่ทางด้านเหนือของพระราชวังเดิม ใกล้แม่น้ำลพบุรี คูเมืองด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทและพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท เป็นพระที่นั่ง 2 องค์แรก

 

3 เม.ย.1893 668 ปี สถาปนาราชธานี อโยธยาศรีรามเทพนคร!

สถานที่ภายในพระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ayutthaya_Tourism.JPG

 

        มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งซึ่งสร้างในเขตนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด ก็คือ พระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระที่นั่งวิหารสมเด็จพระมหาปราสาท 3 องค์นี้ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ 16 พระองค์ เป็นเวลา 182 ปี

         ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงขยายให้วังหลวงกล้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้เขตพระราชวังไปเชื่อมติดกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาปราสาทเพิ่มอีก 2 องค์ คือพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ และ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์

          ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ขึ้นเป็นที่ประทับอีกองค์หนึ่ง ดังนั้นวังหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายมี พระมหาปราสาทรวมทั้งสิ้น ๖ องค์ เป็นที่ประทับของ พระมหากษัตริย์ 10 พระองค์ เป็นเวลา 137 ปี จนเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310

           พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพมหานครนั้น ได้สร้างเลียนแบบพระบรมมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยา

////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ