วันนี้ในอดีต

20 มี.ค.2456 สิ้นเจ้าอุตรการโกศล กับคำสาบานรักสุดสะพรึง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มะเมี๊ยะ บ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า เป๋นลูก อุปราชท้าว เจียงใหม่"

 

 

****************************

 

 

            “มะเมียะ เป๋นสาวแม่ก้า คนพม่า เมืองมะละแมง งามล้ำ เหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่ง หลงฮักสาว มะเมี๊ยะ บ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า. เป๋นลูก อุปราชท้าว เจียงใหม่”

 

              นี่คือเนื้อเพลง “มะเมียะ” ของ จรัล มโนเพชร ที่คนไทยยุคหนึ่งจำได้ติดหู ถูกใจกันดี

 

              บางคนนึกถึงตำนานเรื่องเล่าขานจากเมืองเชียงใหม่ โดยคิดว่าเป็นเพียงนิยายรักพื้นบ้าน ที่แต่งขึ้นมา

 

              หากแต่รู้หรือไม่ว่า สาวพม่า นามว่า “มะเมียะ” นั้นมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และชีวิตของเธอก็มาเกี่ยวข้องผูกพันกับ บุคคลที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้

              นั่นคือ เจ้าอุตรการโกศล หรือ เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่ จนกลายเป็นตำนานความรักที่หลายคนต้องหลั่งน้ำตา!!

20 มี.ค.2456 สิ้นเจ้าอุตรการโกศล กับคำสาบานรักสุดสะพรึง!

 

 

              อย่างไรก็ดี วันนี้เมื่อ 105 ปีก่อน คือวันที่ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) สิ้นใจด้วยอาการป่วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2456

 

              วันนี้ในอดีตจึงใคร่พาผู้อ่านรู้จักกับ เจ้าน้อยผู้มีรูปงามท่านนี้อีกครั้ง กับเรื่องเล่าความรักแสนเศร้าที่สุดสะพรึง

 

              เจ้าน้อยศุขเกษม ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2423 เป็นราชโอรสองค์โตในเจ้าแก้วนวรัฐ กับ แม่เจ้าจามรีมหาเทวี

 

              เจ้าน้อยมีน้องสาวและน้องชายร่วมพระมารดา คือ เจ้าบัวทิพย์ และเจ้าวงศ์ตวัน

 

              ช่วงปี พ.ศ. 2441 ขณะที่ท่านอยู่วัย 15 ปี ได้ถูกส่งตัวไปศึกษายังโรงเรียนเซนต์แพทริคในเมืองมะละแหม่งของพม่า

 

              แต่นั้นมาตำนานความรักต้องห้ามจึงได้เกิดขึ้น เมื่อช่วงปี 2445 ขณะเจ้าน้อยอายุได้ 19 ปี ได้ออกไปเที่ยวตลาด แล้วเกิดไปพบกับ “มะเมียะ” แม่ค้าสาวชาวพม่า ที่ว่ากันว่าเป็นสาวงามที่ชายหลายคนต่างเข้ามาทำความรู้จักหลงใหล

 

 

20 มี.ค.2456 สิ้นเจ้าอุตรการโกศล กับคำสาบานรักสุดสะพรึง!

ภาพวาดมะเมียะในจินตนาการ

 

 

 

              ที่สุดทั้งคู่จึกตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนได้ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา และยังว่ากันว่า ทั้งสองได้สาบานต่อกัน ณ ลานหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่น ว่า

 

              “จะรักกันตลอดไปและจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น”

 

 

 

20 มี.ค.2456 สิ้นเจ้าอุตรการโกศล กับคำสาบานรักสุดสะพรึง!

ภาพมะเมียะจาก http://chiangmai.siamdot.com/100-ma-mei/

 

 

 

              ไม่ทราบด้วยดลบันดาลแห่งคำสาบานหรือไม่ ที่ว่ากันว่าส่งผลต่อช่วงชีวิตบั้นปลายของเจ้าชายหนุ่ม

 

              เพราะหลังจากนั้น ข่าวการคบหากับสาวพม่าได้ยินมาถึงคุ้มเชียงใหม่ ข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่า เจ้าศุขเกษม ก็ถูกเรียกกลับเชียงใหม่ในปีพ.ศ. 2446 ขณะที่บางแหล่งระบุว่าเป็นไปตามกำหนดที่เจ้าน้อยฯ อายุครบ 20 ปี มีกำหนดต้องเดินทางกลับเชียงใหม่

 

              แต่หนนั้นมะเมียะได้ปลอมตัวเป็นผู้ชายติดตามขบวนมาด้วย โดยเจ้าน้อยให้คนสนิทปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

 

              หลังจากเรื่องแดง มะเมียะซึ่งเป็นคนพม่าและมีฐานะยากจน ก็จำต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐาน โดยมีข้อมูลแย้งกันมากมาย

 

              ด้านหนึ่งระบุว่า เธอถูกคุ้มเชียงใหม่บีบบังคับให้แยกทางจากเจ้าศุขเกษมอย่างเด็ดขาด และอีกแหล่งระบุว่า การที่เจ้าศุขเกษมและมะเมียะต้องแยกทางกัน เพราะมะเมียะเป็นคนในบังคับอังกฤษเกรงจะเป็นปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น

 

              ซึ่งมุมนี้ตรงกับตำนานเรื่องเล่าทางฝ่ายของมะเมียะที่ระบุว่า มะเมียะได้รับการเกลี้ยกล่อมโดยหญิง-ชาย ชาวพม่า ให้นางกลับไปรอเจ้าน้อยฯ ที่เมืองมะละแหม่ง มิฉะนั้นบ้านเมืองอาจเดือดร้อน มะเมียะจึงจำต้องจากไปเพื่อมิให้ผู้ใดได้รับความเดือดร้อน

             

 

              นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าว่า เช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน พ.ศ. 2446 เจ้าน้อยฯ กับมะเมียะได้ทำการร่ำลากัน โดยเจ้าน้อยฯ ได้รับปากกับมะเมียะว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพุทธรูปวัดใจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่และยังสัญญาว่าภายในเดือนจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้

 

              จากนั้น มะเมียะคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯ ก่อนที่เธอจะขึ้นไปบนกูบช้างจากไป

 

              อย่างไรก็ดี ต่อมา เจ้าศุขเกษมได้เข้าพิธีสมรสกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ แต่ว่ากันว่า หลังจากนั้นเจ้าศุขเกษมมีอาการติดสุรา ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเพียง “เจ้าอุตรการโกศล” ที่ไม่มีสิทธิขึ้นครองนครต่อ เนื่องจากไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าขันห้าใบ

 

              กระทั่งเจ้าศุขเกษม ต้องมาถึงแก่กรรมด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2456 ด้วยวัยเพียง 33 ปีเท่านั้น โดยมีพิธีปลงศพ ในวันที่ 31 สิงหาคมของปีเดียวกัน

 

             ทั้งนี้หลายคนเชื่อกันว่า ที่เจ้าน้อยศุขเกษม ต้องยึดสุราเป็นที่พึ่ง ก็เพื่อดับความกลัดกลุ้มอันเกิดจากความรักอาลัยในตัวมะเมียะ

 

              สำหรับทางฝ่ายของมะเมียะ ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย ทั้งหลังจากเดินทางกลับถึงบ้านเกิดแล้ว และระหว่างที่รอคอย กระทั่งหลังจากทราบข่าวการสิ้นชีวิตของผู้เป็นสามี

 

             ทั้งนี้ แม้ว่าภายหลังมีความพยายามสืบค้นว่าเรื่องนี้มีความจริงทางประวัติศาสตร์มากน้อยขนาดไหนในอีกหลายแง่มุมด้วยกัน ซึ่ง คอลัมน์วันนี้ในอดีตจักนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป แต่เรื่องเล่าขานความรักท่ามกลางคำสาบานศักดิ์สิทธิ์ครั้งนี้ ยังติดตรึงในใจคนไทยทุกครั้งที่ได้ยิน

 

***************************

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากวิกิพีเดีย

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%B0

และ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%A5_(%E0%B8%A8%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A1_%E0%B8%93_%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ