วันนี้ในอดีต

รู้จักเจ้าตำนาน "ซาร์เศรษฐกิจ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากเด็กชายเชื้อสายจีนไหหลำ สู่ผู้นำแถวหน้าของเมืองไทย

 

 

*********************

 

                เมืองไทยผ่านความจน ความเจ็บ จากภาวะเศรษฐกิจมามาก เป็นภารกิจใหญ่ที่ผู้นำรัฐบาลทุกสมัยต้องเจอ

 

                ยุคหนึ่งบ้านเมืองเรามีมือดีทางเศรษฐกิจผู้หนึ่ง ที่ถึงกับ ได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “ซาร์เศรษฐกิจ” ผู้ยิ่งใหญ่

 

 

                เขาคือ “บุญชู โรจนเสถียร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้เมื่อ 11 ปีก่อน ท่านได้ล่วงลับจากภาวะโรคมะเร็งในเม็ดเลือด ในวันที่ 19 มีนาคม 2550 รวมอายุได้ 86 ปี

 

                และที่ต้องชื่นชมคือ ท่านยังมอบร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ให้กับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ รพ.รามาธิบดี แต่ภายหลัง ทางรพ.ได้คืนร่างกายกลับให้ ทายาท เพื่อทำพิธีทางศาสนา

 

                สำหรับประวัติของนายบุญชู โรจนเสถียร เกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2464 ที่จังหวัดชลบุรี เป็นบุตรของนายสันต์กับนางละมัย โรจนเสถียร ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำ มีฐานะยากจน และเป็นลูกชายคนโตจากบรรดาพี่น้องทั้งหมด 5 คน

 

                จบการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูง วิชาบัญชี เทียบเท่าปริญญาโทจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

 

                จากนั้น ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบบัญชีประจำสำนักตรวจบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และต่อมาได้ออกมาตั้ง "สำนักงานบัญชีกิจ" รับตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทห้างร้านต่างๆ และได้เข้าไปช่วยนายชิน โสภณพาณิชเข้าไปบริหารธนาคารกรุงเทพ ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง

 

                แต่บุญชูเข้าไปปรับปรุงการบริหาร จัดวางระบบงานใหม่ จนกระทั่งทำให้ธนาคารกรุงเทพ มีชื่อเสียงขึ้นมา นับเป็นบทบาทสำคัญของนายบุญชู ต่อทิศทางเศรษฐกิจของไทย จนได้รับขนานนามว่า "ซาร์เศรษฐกิจ" แห่งวงการธุรกิจการธนาคาร จนได้รับตำแหน่งถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ

 

                นายบุญชู หันหัวเรือชีวิตเข้าสู่ลำน้ำแห่งการเมืองช่วงปี 2503 โดยร่วมก่อตั้ง “พรรคกิจสังคม” ร่วมกับ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” โดยรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนแรก จากนั้น ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2508

 

                ต่อมาการเลือกตั้งเมื่อ 26 มกราคม 2518 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 72 ที่นั่ง และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกกดดันอย่างรุนแรง จาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ขณะนั้น จนต้องลาออกเมื่อ 6 มีนาคม 2518 และพรรคกิจสังคมที่มีเสียงเพียง 18 ที่นั่งที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมาเมื่อ 17 มีนาคม 2518

 

                ครั้งนั้น นายบุญชู ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคนไทยรู้หรือไม่ว่า นโยบายลักษณะเดียวกับ “ประชานิยม” น่าจะเรียกว่ารัฐบาลนี้เป็นต้นกำเนิด โดยขณะนั้นมีชื่อว่า นโยบาย “เงินผัน” โดยการเอาเงินคงคลังแจกจ่ายทุกให้สภาตำบลกว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศ สร้างเสียงฮือฮาไปทั่ว!!

 

            

 

            ในปี 2526 นายบุญชูหวนกลับสู่งานด้านธุรกิจการธนาคาร ในฐานะประธานกรรมการธนาคารนครหลวงไทย แต่ก็ หวนกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง ในฐานะ "หัวหน้าพรรคกิจประชาคม" ในการเลือกตั้งปี 2529 ได้รับการเลือกตั้ง 15 ที่นั่ง แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล

 

                ต่อมาปี 2530 ส.ส.ในพรรครลาออกไปถึง 5 คน กระทั่งภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 กรกฎาคม 2531 มีการรวมพรรค ได้แก่พรรคประชาชน พรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า และพรรครวมไทย และตั้งชื่อใหม่เป็น "พรรคเอกภาพ" โดยมีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค นายบุญชูจึงได้เป็นรองหัวหน้าพรรค และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานดูแลเศรษฐกิจเหมือนเดิม

 

                ต่อมานายบุญชูเข้าเป็นสมาชิก ลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม พรรคพลังธรรม และ พรรคประชาธิปัตย์ ตามลำดับ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชวน หลีกภัยเมื่อปี 2536

 

                หลังจาก รัฐบาลชวน 2 นายบุญชูได้ประกาศวางมือทางการเมือง หลังจากเป็น ส.ส. ถึง 8 สมัย หลังเลิกเล่นการเมือง บุญชูนำบ้านพักตากอากาศของตนมาเปิดกิจการ ชีวาศรม รีสอร์ต แอนด์ เฮลท์สปา ซึ่งมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

 

                นายบุญชูเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550 ด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด รวมอายุได้ 86 ปี

 

 

*********************************

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ