วันนี้ในอดีต

ออเจ้ารู้ยัง..18 มี.ค.2521 เกิดเหตุการณ์"Black Out"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อุณหภูมิที่ไต่ระดับร้อนระอุ!! การใช้ไฟพุ่งสูงปริ๊ด!! จากนั้น..ทั่วทุกภาคของไทยเข้าสู่ภาวะ “มืดสนิท” กฟผ.ต้องใช้เวลานานถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที ถึงกู้สถานการณ์ได้

 

        ภาพจำ ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพไร้ไฟฟ้าใช้กันถ้วนหน้า ซึ่งเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Blackout” ทั่วประเทศไทย เป็นระยะเวลายาวนานที่สุด นับแต่ก่อตั้งการไฟฟ้าขึ้นในเมืองไทย สาเหตุเกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสำคัญของประเทศ เกิดเหตุขัดข้องขึ้น ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีระบบการทำงานต่อเนื่อง เป็นอันขัดข้องตามกันไปด้วย

    

         วันนี้ในอดีต เมื่อ 40 ปีที่แล้ว 18 มีนาคม 2521 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ในทุกภูมิภาคของประเทศ เริ่มตั้งแต่เวลา 07:40 น. สำหรับในเขตภาคเหนือ ประมาณ 1 ชั่วโมง เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 นาที เขตภาคกลางประมาณ 1 ชั่วโมง และเขตนครหลวง ประมาณ 2 ชั่วโมง จึงสามารถกลับมาเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในบางพื้นที่ จนกระทั่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศไทยตามปกติ เมื่อเวลา 17:00 น. รวมเป็นระยะเวลานานที่สุดถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที

 

        ว่ากันว่า Blackout ทั่วประเทศไทย มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งมีกำลังจ่ายอยู่ที่ 1,030 เมกกะวัตต์ ทั้ง 4 เครื่อง เกิดขัดข้องในขณะจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นกำลังการผลิตหลักที่จ่ายให้กับระบบไฟฟ้าทั้งหมดร้อยละ 77 ของความต้องการในขณะนั้น และทำให้โรงไฟฟ้าที่เหลือเกิดความขัดข้องและหลุดไปจากระบบไปด้วย หรือเกิด BlackOut นั่นเอง ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต้องใช้เวลาถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที จึงสามารถกอบกู้สถานการณ์็นำระบบไฟฟ้า ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติได้

   

          สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลระบุว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ (Black Out) ถือว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งมีความเสียหายมากมายมหาศาลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากระบบการผลิตไฟฟ้า คล้ายคลึงกับการแข่งขันชักเย่อ ที่มีผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจำนวนเท่า ๆ กัน ต่างดึงด้วยกำลังใกล้เคียงกัน จะทำให้การดึงนั้นอยู่ในสภาวะสมดุล แต่ถ้าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล้มลงกระทันหันเพียงคนเดียวก็จะทำให้ผู้เล่นทั้งหมดลองฝ่ายนั้นล้มลง และถูกกระชากไปทั้งหมด

   

          สาเหตุการเกิด Blackout มีสาเหตุหลัก 4 ประการด้วยกันคือ 1. การไม่มีระบบป้องกันที่ดีเมื่อความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลง 2. มีโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมากหลุดออกจากระบบไฟฟ้า 3. ระบบส่งไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพ 4. ระบบจ่ายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขัดข้อง

 

           เหนืออื่นใด  การผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา จะต้องสมดุลกับความต้องการใช้ในขณะนั้น ถ้าโรงไฟฟ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเกิดความขัดข้องและหลุดออกจากระบบการผลิตโดยมิได้คาดคิดหากไม่มีระบบป้องกันที่ดีและมีประสิทธิภาพก็อาจทำให้ระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมดหลุดออกจากระบบได้เกิดเป็นความเสียหายเป็นวงกว้าง หรือถึงกับเกิดไฟฟ้าดับทั่วประเทศ

 

          สาเหตุของแบล๊กเอาท์นี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงเวลาไม่กี่นาที หรือ ไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคงของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยื่งในโลกปัจจุบันที่มีการเชื่อมโยงกันด้วยระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์และระบบอิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆ วงจรชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง จึงผูกพันกับกระแสไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นในเวลาหลับหรือตื่นก็มีประแสไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น แม้เพียงเกิดไฟฟ้าขัดข้องเพียงเล็กน้อย เช่น การกระเพื่อม หรือ กระพริบของกระแสไฟฟ้าเพียงวินาทีเดียวก็สามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือการใช้ชีวิตประจำวันของมษุษย์เราได้

     

       ในต่างประเทศก็มีเหตุการณ์ไฟ้าดับทั่วประเทศเช่นเดียวกัน และค่อนข้างจะรุนแรงกว่าในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ และได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในประเทศนั้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การเกิดแบล๊คเอาท์ใน“ประเทศมาเลเซีย” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2539 ได้เกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วประเทศเป็นเวลานานถึง 16 ชั่วโมง สร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 1,250 ล้านบาท

     

      แบล๊คเอาท์ ที่มาเลเซียเกิดจากความขัดข้องจากโรงไฟฟ้า PAKAR ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งมีกำลังผลิต 900 เมกกะวัตต์ เกิดหลุดออกจากระบบขณะกำลังจ่ายไฟ ซึ่งหากศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าของมาเลเซียสามารถตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในบางพื้นที่ได้ทัน ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ หรือ BlackOut ขึ้น จะมีก็เพียงแต่การเกิดไฟฟ้าขัดข้องในบางพื้นที่ (Patia Blackout) เท่านั้น

 

       แต่เนื่องจากแบล๊คเอาท์ที่มาเลเซียคราวนั้น ได้เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค ที่ศูนย์ควบคุมไม่สามารถควบคุมการตัดจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงทำให้ระบบการจ่ายไฟล่มสลาย โรงไฟฟ้าทั้งหมดจึงหลุดออกจากระบบทันทีและทุกอย่างก็สายเกินกว่าการแก้ไขได้ทัน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าดับทั่วประเทศมาเลเซียนานถึง 16 ชั่วโมง สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนจำนวนมากต้องอยู่ท่ามกลางความมืด บ้างก็ติดอยู่ในลิฟต์โดยสาร บ้างก็เสียชีวิตเนื่องจากเครื่องช่วยชีวิตในโรงพยาบาลไม่ทำงาน ความเสียหายที่เกิดขึ้นสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต่างต้องการความเชื่อมั่นของระบบไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ด้วย

     

         ดูเหมือนว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 หรือเป็นปีที่ก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งประเทศเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เมื่อ 18 มีนาคม 2521 เท่านั้น แต่เคยเกิดเหตุการณีไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ 

 

        วันที่ 5 เมษายน 2556 คนกรุงเทพฯ และคนส่วนใหญ่ รับรู้และเกาะติดสถานการณ์กันว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤตไฟฟ้า หลังประเทศเมียนมาร์หยุดจ่ายก๊าซให้ประเทศไทย จนเกรงกันว่า อาจเกิดปัญหาไฟตก หรือไฟดับ เพราะอยู่ในช่วงหน้าร้อน ที่มีการทำลายสถิติใช้ไฟฟ้ายอดพุ่งปรี๊ด พอๆ กับอุณหภูมิที่ไต่ระดับระอุ ตามความร้อนแรงของฤดูร้อน

        เมื่อช่วงใกล้ค่ำ เวลา 18.52 น. วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ไม่เคยมีใครนึกถึง จาก “อุบัติเหตุไฟดับเป็นวงกว้าง” ก็เกิดขึ้นใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อกระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ตั้งแต่จ.ชุมพร มืดไปจนถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทบทั้ง ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ชนิดทำเอาลือกันหึ่งว่า เป็นฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโจมตี หลังมีการสะพัดก่อนหน้าจะลงมือทำก่อกวนสถานการณ์ใหญ่ ควบคู่มากับ ลือว่าเกิดการปฎิวัติในไทยขึ้นอีกครั้ง

        21 พ.ค.2556 พื้นที่ด้ามขวานของไทย มืดมิดเกือบทั้งหมด มีตั้งแต่ไฟดับประมาณ 20 นาที ไปจนถึง 2 ชั่วโมงกว่า จนกระทั่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) สามารถกู้สถานการณ์กลับมาได้ทั้งหมด ก็ปาเวลาเข้าไป 5 ทุ่มกว่าๆ ประมาณการกันว่า ไฟดับวงกว้าง ใน14 จังหวัดนี้ มีผลกระทบและสร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ

 

         ปัจจุบันระบบของกฟผ. เป็นระบบที่มีความมั่นคงมีกำลังการผลิตถึง 15,500 เมกกะวัตต์ ขณะที่เครื่องผลิตที่มีกำลังผลิตสูงที่สุดอยู่ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง ซึ่งมีขนาดเครื่องละ 600 เมกกะวัต์ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของระบบทั้งหมดแล้วจะเห็นว่า หากเครื่องใหญ่ที่สุดหลุดจากระบบก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบมากนัก  ในการตัดกระแสไฟฟ้าบางพื้นที่ หรือ การนำโรงไฟฟ้าสำรองเข้ามาในระบบ

   

        โดยในประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตไฟฟ้าสำรองได้ที่ร้อยละ 15 มีความมั่นคงของระบบในเชิงปริมาณค่อนข้างสูง และได้มีโรงไฟฟ้าสำรองที่สามารถเดินเครื่องได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส ซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งระบบ โดยโรงไฟฟ้าจำพวกนี้สามารถเดินเครื่องเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเวลาอันสั่นคือ เพียง 10 - 15 นาที ซึ่งหากโรงไฟฟ้าในระบบโรงใดขัดข้องกระทันหันก็จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเสริมได้ในเวลาอันรวดเร็วละเพียงพอต่อความต้องการกระแสไฟฟ้า

     
       แม้ว่า กฟผ. จะไม่สามารถรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับทั้งประเทศขึ้น อีกครั้ง แต่จากสภาพของระบบส่งไฟฟ้า โรงไฟฟ้า และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้มีการฝึกซ้อมสถานการณ์อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์ที่ใช้ โอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าดับขึ้นทั่วประเทศ หรือ ในวงกว้างของประเทศไทยจึงมีน้อยมาก หรือถ้าเกิดขึ้น กฟผ. ก็พร้อมที่จะกู้ระบบไฟฟ้ากลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

 

         ไทยเลนด์ยุค 4.0 ก้าวสู่ยุค 5.0 ภาพที่จะปรากฏค่อนข้างชัดเจน หากเกิดเหตุการณ์"Black Out"ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย บรรดาพลเมืองไทยในภาวะ"สังคมก้มหน้า"ถูกโซเชียลครอบงำ อาจแทบจะบ้าตาย นะออเจ้า!!

    ------///------

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ