วันนี้ในอดีต

12 มี.ค.2553 ศึกไหนจะร้ายเท่ากับคนสีเดียวกัน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลับกลายเป็นว่า การจากไปของนักรบแห่งเทือกเขาบูโด ไม่ใช่เพราะแรงระเบิด หรือคมกระสุนปืน แต่อาจเป็นปากกาที่ไร้หมึก!! ของคนเซ็นต์ที่สวมชุดสีเดียวกัน!!

 

 

******************************

 

                นาทีที่รู้ข่าว เชื่อว่าคนไทยที่ใกล้ชิดจ่าเพียร หลายคนต้องกัดปาก ด้วยความโกรธแค้นเคล้าเสียใจ หากแต่คนไทยทั่วไปที่เพิ่งมาติดตามข่าวสารช่วงหลัง ก็จะรู้สึกแบบเดียวกันตามมาด้วย

 

                นั่นคือ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ จ่าเพียร หรือ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกกลุ่มก่อความไม่สงบวางระเบิดรถยนต์และยิงซ้ำจนเสียชีวิตระหว่างออกตรวจ ในวันนี้ของ 8 ปีก่อน หรือวันที่ 12 มีนาคม 2553

 

                คือคำถามที่ว่า ทำไม่ขอย้ายไม่ให้ย้าย!!!

 

 

                และหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า หากเขาได้รับการโยกย้ายตามคำขอ บางทีวันนี้เขาอาจจะได้พักผ่อนใช้ชีวิตบั้นปลายวัยเกษียณอย่างเงียบสงบกับครอบครัวก็เป็นได้

 

                แต่กลับกลายเป็นว่า การจากไปของนักรบแห่งเทือกเขาบูโด ไม่ใช่เพราะแรงระเบิด หรือคมกระสุนปืน แต่อาจเป็นปากกาที่ไร้หมึก!! ของคนเซ็นต์ที่สวมชุดสีเดียวกัน!!

 

                เพราะผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งขึ้น กรณีจ่าเพียรขอความเป็นธรรมขอย้ายเป็น ผกก.สภ.กันตัง จ.ตรัง แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ไม่มีใครผิด ทั้งที่ผลการทำงานเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม

 

                นั่นก็คืออใบไม้ที่ร่วงหล่นอย่างเงียบๆ อีกครั้ง!! และนับวันชื่อจ่าเพียรก็รังแต่จะค่อยๆ จางหายไปจากการรับรู้ของสังคม

 

                วันนี้ในอดีตจึงขอนำเรื่องราวของเขากลับมาอีกครั้ง เพื่อไว้อาลัยและเชิดชูเกียรติ

 

                พล.ต.อ.สมเพียร เป็นบุตรคนที่ 4 ใน 10 คน ของนางไกร ชาวบ้านวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กับนายโกว แซ่เจ่ง ชาวจีนอพยพมาจากไหหลำ

 

                เมื่อแรกเกิด จ่าเพียร มีชื่อว่า "เนี้ยบ แซ่เจ่ง" ภายหลังครูที่โรงเรียนประถมวังใหญ่เปลี่ยนให้เป็น “สมเพียร” ส่วนนามสกุล "เอกสมญา" ได้เปลี่ยนเมื่อเข้าเรียนโรงเรียนตำรวจ โดยอาศัยใช้นามสกุลของนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง

 

                พล.ต.อ.สมเพียร สมรสกับ นางสาวพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ บุตรสาวของนายตำรวจโรงพักปันนังสตา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2514  มีบุตรชาย 4 คนได้แก่ นายชุมพล, นายเสรฐวุฒิ, นายอรรถพร และ ส.ต.ท.โรจนินทร์ ภูวพงศ์พิทักษ์

 

                จ่าเพียร  จบ ม.ต้น โรงเรียนมัธยมเทพา ม.ปลายที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ. นครศรีธรรมราช ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จ.ยะลา เมื่อปี พ.ศ. 2513 (นพต. รุ่น 15) และได้เริ่มต้นชีวิตรับราชการตำรวจที่ สภอ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นเขตเคลื่อนไหวของขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน

 

                และแน่นอนที่นักสู้อย่างจ่าเพียรจะเคยผ่านการยิงปะทะมาแล้วนับร้อยครั้ง และยังสามารถสังหารฝ่ายตรงข้าม ยึดอาวุธปืน และที่พักเป็นจำนวนมาก ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาจ่าเพียรได้รับบาดเจ็บทั้งเล็กน้อยและสาหัสแทบนักครั้งไม่ถ้วน

 

                ชีวิตในเส้นทางราชการผ่านไปตามลำดับจนปี พ.ศ. 2550 พล.ต.อ.สมเพียร กลับสู่บันนังสตา มารับตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตา ติดยศ พ.ต.อ.

 

                และอย่างที่รู้กัน ช่วงนั้นแผ่นดินปลายด้ามขวานกำลังลุกเป็นไฟ ข่าวคราวแต่ละวันที่คนไทยต้องได้รับรู้ คือจะต้องเป็นเรื่องที่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ถูกลอบยิง วางระเบิด ฆ่าตัดคอ ล้มตายเป็นใบไม้ร่วง นับครั้งไม่ถ้วน

 

                จ่าเพียรเป็นที่รู้กันว่าเป็นนายตำรวจฝีมือดี จัดเจนงานในพื้นที่ หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตาได้ไม่นาน วันที่ 1 สิงหาคม 2550 เขาได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมตรวจค้น และยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้ายที่บ้านเตี๊ยะ หมู่ 5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ผลการปะทะ ทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต 6 ราย สามารถยึดอาวุธปืนสงครามและยุทธภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก

 

                และอีกหลายๆ ครั้ง ที่จ่าเพียรปฏิบัติหน้าที่สำเร็จ ก่อนจะมาเสียชีวิต ด้วยคำถามของสังคมว่า ทำไมขอย้ายไม่ให้ย้าย!! โดยไม่ใช่ครั้งเดียวที่จ่าเพียรขอย้ายออกจากพื้นที่!! เพราะระหว่างที่เขายังทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง เข้มข้น ระหว่างนั้น เขาได้ทำเรื่องขอย้ายออกนอกพื้น เพื่อใช้ชีวิตก่อนเกษียณ

 

                แต่ไม่ว่ากี่ครั้งที่เขาขอไป ก็ได้รับคำตอบเป็นความเงียบ

 

                น่าสะเทือนใจเมื่อ บทสัมภาษณ์สุดท้ายของ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ที่ให้ไว้แก่ศูนย์ข่าวอิศรา และ "จรูญ ทองนวล" ช่างภาพเครือเนชั่น และได้รับการตีพิมพ์ใน นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 7 มีนาคม 2553 ก่อนพบจุดจบในอีก 5 วันต่อมา โดยเขาบอกว่า

 

                "ทุกคนทำงานเสียสละ แต่ไม่เคยได้รับการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตำรวจบางคนอายุมากแล้วยังเป็นแค่นายดาบ ไม่ต้องรู้จักนาย หรือเป็นลูกหลานแล้วถึงจะได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง คนบางคนถึงจะไม่มีความรู้ แต่มีผลงานก็ต้องบรรจุ ทีมงานของผมหลายคนไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าจ้างค่าตอบแทน ทำงานกันด้วยใจจริงๆ สู้เพื่อแผ่นดินตรงนี้...”

 

 

12 มี.ค.2553 ศึกไหนจะร้ายเท่ากับคนสีเดียวกัน!

 

            

 

                 “ที่เดินทางไปโวยวายกับ สตช. ก็ไม่ใช่เพื่อให้ตัวเองได้ดิบได้ดี แต่อยากให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงรับรู้ว่า พวกเราทำงานกันยังไง ทำงานท่ามกลางความขาดแคลน แต่ไม่เคยเอาอุปสรรคตรงนี้ไปอ้างเพื่อสร้างปัญหา ที่ไปไม่ใช่เพราะผิดหวังที่ไม่ได้โยกย้ายไปที่อื่น”

 

                “ แต่มันเหลือเวลาแค่ 1 ปีก็คิดว่า น่าจะทำอะไรเป็นแบบอย่างให้น้องๆ บ้าง วันนี้เราต้องมาพูดความจริงว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมไม่ตอบแทนคนเหล่านี้ขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ให้เขาอยู่ในหลุมฝังศพแล้วค่อยบอกว่าเขาเป็นวีรบุรุษ..”

 

                “ บางคนยังไม่ได้รบถูกยิงเสียชีวิตขณะลาดตระเวนแล้วได้รับการสดุดีว่าเป็นวีรบุรุษ แล้วคนที่ทำงานหนัก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ทุกวัน ทำไมไม่ให้กำลังใจเขา"

 

                 ในชั้นแรกแม้จะปรากฏรายชื่อในบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย แต่ทว่าเมื่อคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายของบช.ภ.9 ออกมา ปรากฏว่ากลับไม่มีชื่อของ พล.ต.อ.สมเพียร อยู่ในคำสั่ง นั่นก็หมายความว่า พล.ต.อ.สมเพียร ยังอยู่ที่เดิม!

 

                ดังนั้นในห้วงเวลา 2 สัปดาห์ก่อนที่จะเสียชีวิต จึงได้บากหน้าเดินทางขึ้นมา กทม.เพื่อยื่นหนังสือถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร. เพื่อขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย

 

                มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า หากมองอีกมุม การขึ้นมาขอความเป็นธรรมของจ่าเพียร เหมือนเป็นการขอชีวิตจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากเขานั้นก็เสมือนเป็นศัตรูหมายเลข 1 ที่ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ หมายหัวเอาไว้!!

 

                และในที่สุด วันนั้นที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็มาถึง!

 

                จนถึงวันนี้ 8 ปีมาแล้ว ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะจ่าเพียรตาย เพราะขบวนการกองโจร แต่ลึกๆ แล้วคนไทยรู้ดีว่า ใครบ้างที่มีส่วนต้องรับผิดชอบ!

 

 

*******************************

 

ขอบคุณข้อมูลจาก oknation

วิกิพีเดีย

ผู้จัดการออนไลน์

               

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ