วันนี้ในอดีต

วืด!!ชาวทิเบตลุกฮือต้านจีน “องค์ทะไล ลามะ”ต้องลี้ภัย!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ชมการแสดงละครและร่วมดื่มน้ำชา”ทหารจีนอ้างเมื่อครั้งเรียกตัว“องค์ทะไล ลามะ”ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบตไปพบที่“ค่ายทหาร"โดยห้ามมิให้มีผู้ใดติดตาม

 

          “ทิเบต”กลายเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง นับตั้งแต่รัฐบาลปักกิ่งของจีนส่งกองทัพเข้ายึดครองดินแดนบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนกุมอำนาจปกครองประเทศเมื่อปี 2492 โดยอ้างว่า ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ชาวทิเบตจำนวนมากแย้งว่า ทิเบตเป็นรัฐอิสระมายาวนานในประวัติศาสตร์ภายการปกครองของผู้นำในศาสนาพุทธแบบทิเบตคือ “องค์ทะไล ลามะ”

         ย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2493 กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีนยาตราทัพเข้าทิเบต และบดขยี้กลุ่มต่อต้านชนชาติทิเบตที่จับอาวุธขึ้นสู้ได้ชัยชนะอย่างง่ายดาย

           นับจากวันที่ผู้นำจีนส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าสู่ดินแดนพุทธศาสนาทิเบตบนหลังคาโลกในปี  2493  ทำให้อุณหภูมิศึกเผชิญหน้าระหว่างผู้นำจีนและชนชาติทิเบต ทวีความร้อนแรงอย่างน่ากลัว ขณะที่จีนระดมกำลังพร้อมรับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาทุกวินาที

         ปฏิบัติการครั้งนั้นรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน ประกาศว่าเป็นการ“ปลดแอก” ทิเบตจากระบอบศักดินา และสังคมทาส โดยมีกลุ่มศาสนาเป็นชนชั้นปกครอง และประชาชนทั่วไปเป็น“ทาส”ขณะที่รัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เรียกการกระทำของจีนนี้ ว่า เป็น“การรุกราน”

         เดือนพฤษภาคมปีัถัดมาผู้แทนทิเบตลงนามข้อตกลงที่กรุงปักกิ่ง กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวระบุอธิปไตยจีนครอบคลุมเหนือดินแดนทิเบต กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นได้เผยในภายหลังว่าการลงนามนี้ “เป็นไปเพราะแรงกดดัน”

         วันนี้ในอดีตเมื่อ 59 ปี 10 มีนาคม 2502 จีนเรียก“องค์ทะไล ลามะ”ไปรายงานตัวในค่ายทหาร จุดฉนวนการประท้วงใหญ่ แม้ว่าก่อนหน้านั้นกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน ได้บุกเข้ารุกรานธิเบตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2493 หลังฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถกุมอำนาจในแผ่นดินใหญ่ได้ราวหนึ่งปี และในปี 2494 รัฐบาลธิเบตยอมลงนามใน“ข้อตกลง 17 ประการเพื่อการปลดปล่อยธิเบตโดยสันติ”ตามแรงกดดันของจีน ซึ่งยังคงยืนยันอำนาจในการดูแลกิจการภายในของธิเบต

        การต่อต้านอำนาจจีนของชาวธิเบตค่อยๆก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การจลาจลของประชาชนในภาคตะวันออกของธิเบตในปี 2499 และปลายปี 2501 เค้าลางของการต่อต้านจีนเริ่มปรากฏให้เห็นในลาซา (เมืองหลวงของธิเบต) ขณะที่กองทัพจีนได้ออกมาข่มขู่ว่า “ พร้อมที่จะถล่มลาซาทันทีที่มีการละเมิดข้อตกลง17ประการ”

         ว่ากันว่าการลุกฮือในเดือนมีนาคม 2502 เริ่มขึ้นจากความกังวลว่า รัฐบาลจีนกำลังวางแผน “ลักพาตัว” องค์ทะไล ลามะ

         ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต หลังทหารจีนได้เรียกตัวทะไลลามะไปพบที่กองบัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนโดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามใดๆเข้าไปในศูนย์บัญชาการด้วย

         ในการเรียกตัว"องค์ทะไล ลามะ"ครั้งนั้น ฝ่ายทหารจีนอ้างว่า “ต้องการเชิญทะไลลามะไปชมการแสดงละคร และร่วมดื่มน้ำชา ”แต่การเชิญไปยัง “ค่ายทหาร” พร้อม “สั่ง” ให้องค์ทะไล ลามะเดินทางไปคนเดียวโดยห้ามมีผู้ติดตาม ย่อมทำให้ชาวธิเบตอดเคลือบแคลงในเจตนาของกองทัพจีนมิได้

         วันที่ 10 มีนาคม ชาวบ้านอย่างน้อยกว่า 3 หมื่นคน ได้ออกมาล้อมวังนอร์ภูลิงคะ (Norbulinka Palace, ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวังโปตาลา) เพื่อขวางมิให้ “องค์ทะไล ลามะ”ยอมรับคำสั่งของกองทัพปลดปล่อยประชาชน

          ศึกลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนโดยชนชาติทิเบต ระเบิดขึ้นในกรุงลาซา จีนประกาศกฎอัยการศึก กลุ่มรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นเผยว่า มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนระหว่างการปราบปรามของจีนครั้งนั้น

         ทว่าสองวันถัดมาหญิงชาวธิเบตจำนวน 5 พันคน ได้ออกมาเดินขบวนในลาซาเรียกร้องอำนาจปกครองตนเอง ตามคำขวัญ “ธิเบตเพื่อชาวธิเบต” พร้อมประกาศว่า “ธิเบตเป็นอิสระนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

       วันที่ 15 มีนาคม องครักษ์ขององค์ทะไลลามะ เริ่มออกจากลาซาเพื่อเตรียมเส้นทางหลบหนี ขณะที่กองทัพจีนเริ่มเพิ่มกำลังประจำการ และได้ยิงปืนใหญ่ 2 ลูกเข้าโจมตีวังนอร์ภูลิงคะในวันที่ 17 มีนาคม ทำให้องค์ทะไลลามะต้องหลบหนีออกไปยังอินเดีย

        แต่การลุกฮือของชาวธิเบตยังประท้วง จนเกิดการจราจลมาอย่างต่อเนื่อง กระทั้งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2502 ได้เกิดการสู้รบกันในลาซา ซึ่งเป็นการต่อสู้ที่แทบจะสิ้นหวังของชาวธิเบตที่ด้อยกว่าทั้งกำลังคนและอาวุธของจีนถึงวันที่ 21 มีนาคม ในปีเดียวกัน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ใช้ปืนใหญ่กว่า 800 ลูกยิงถล่ม“วังนอร์ภูลิงคะ”สังหารหมู่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงไปนับหมื่น

        15 วันต่อมา  หลังการหลบหนีออกจากทิเบตของ“องค์ทะไล ลามะ”เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2502 “องค์ทะไล ลามะที่ 14” ได้เดินทางมาถึงประเทศอินเดีย ซึ่งในเวลาต่อมารัฐบาลอินเดียได้รับรองการลี้ภัยทางการเมืองแก่“องค์ทะไล ลามะ”ในวันที่ 3 เมษายน 2502

          “ดูหน้าคุณสิ ผมรู้เลยว่าตัวเองคงแก่มากแล้วเหมือนกัน” องค์ทะไลลามะตรัสหลังทั้งสองสวมกอดกันด้วยความยินดี พร้อมทั้งทรงขอบใจที่“นายดาส”ได้ช่วยคุ้มกันให้ระหว่างการลี้ภัยเมื่อ 59 ปีก่อน จนเสด็จถึงที่ปลอดภัยในรัฐอรุณาจัลประเทศของตอนเหนืออินเดียในที่สุด

          องค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้พบกับ “นายนาเรน จันดรา ดาส” อดีตทหารชาวอินเดียวัย 79 ปี ระหว่างเสด็จเยือนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยอดีตทหารผู้นี้เป็นหนึ่งในทีมที่ทางการอินเดียส่งมาช่วยเหลือ“องค์ทะไล ลามะ”ให้หลบหนีข้ามแดนจากทิเบตเมื่อปี 2502 หลังการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจีนล้มเหลว

         ว่ากันว่าเมื่อครั้งที่“องค์ทะไล ลามะ”ต้องหลบหนีออกจากทิเบต โดยเดินข้ามเขาสูงอย่างยากลำบาก เป็นเวลาถึงสองสัปดาห์ ทรงต้องปลอมพระองค์เป็นทหารไปกับผู้ร่วมทางกลุ่มเล็ก ๆ จนถึงพรมแดนที่ติดกับอินเดีย โดยมี“กองทหารหน่วยปืนไรเฟิลที่ 9 แห่งรัฐอัสสัม” มารอรับอยู่ และนำส่งจนถึงวัดที่พักแห่งหนึ่งในเมืองทาวังของ“รัฐอรุณาจัลประเทศ” ก่อนที่จะเสด็จไปปักหลักตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่เมืองธรรมศาลา “รัฐอรุณาจัลประเทศ”ตอนเหนือของอินเดียในเวลาต่อมา

          การหลบหนีขององค์ทะไล ลามะ“สร้างความไม่พอใจกับทางการจีนเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งจีนยังแสดงความไม่พอใจที่”องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนรัฐอรุณาจัลประเทศของอืนเดียในครั้งนี้ เนื่องจากจีนยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนของรัฐดังกล่าว ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับทั้งจีนและภูฎาน

         โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้เตือนอินเดียไม่ให้กระทำการใด ๆ ที่จะทำให้ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก และเตือนไม่ให้อินเดียสนับสนุนความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนขององค์ทะไลลามะ ซึ่งทางการจีนกล่าวเสมอมาว่า“องค์ทะไล ลามะ มีส่วนรู้เห็นกับการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน และเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ในทิเบต"

         หลังสิ้นสุดการสู้รบลาซา ชนชาวธิเบตต้องสูญเสียวัดวาอารามสำคัญ วัตถุล้ำค่าและคัมภีร์โบราณไปจำนวนมาก และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 8 หมื่นราย ชาวธิเบตที่รอดชีวิตหลายหมื่นคน ยังได้อพยพหนีตาม“องค์ทะไลลามะ”ที่ตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย

        ปี 2508 รัฐบาลจีนประกาศจัดตั้งเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขตปกครองตัวเองนี้ ครอบคลุมพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของดินแดนทิเบตที่ยอมรับกันมาโดยประเพณี ส่วนพื้นที่ของชนชาติทิเบตแห่งอื่นๆก็ผนวกเข้ากับมณฑลต่างๆของจีน ได้แก่ ชิงไห่ หยุนหนัน และซื่อชวน (เสฉวน)

        ปี 2531-หู จิ่นเทา (ประธานาธิบดีจีนในปัจจุบัน) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต และรับผิดชอบการการปราบปรามในดินแดน

        มกราคม 2532-ปันเชน ลามะ ที่ 10 ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดอับดับ 2 รองจากทะไล ลามะ ได้ใช้ชีวิตหลายปีในกรุงปักกิ่ง มรณภาพอย่างกะทันหัน หลังจากที่ได้วิจารณ์การปกครองของรัฐบาลจีน

        มีนาคม 2532 -เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในกรุงลาซาในวาระครบรอบ 30 ปี แห่งการลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นระบุมีผู้เสียชีวิตระหว่างการปราบปรามของจีน จำนวนหลายสิบคน หรืออาจเป็นร้อย

          ตุลาคม 2532 องค์ทะไล ลามะ ที่14 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากจีน ท่ามกลางความไม่พอใจของผู้นำจีนซึ่งได้ประกาศเขตปกครองตนเองทิเบต เป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธ์” แห่ง มาตุภูมิ

        ขณะที่จีนพยายามเดินหน้าครอบงำชาวธิเบตอย่างเต็มที่ โดยหลังจากที่พานเฉินลามะ (เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 ของชาวพุทธธิเบต) องค์ที่ 10 เสียชีวิตลง ทะไลลามะได้ประกาศให้ เกดหุน โชคยี นยีมา วัย 6 ขวบ เป็นพานเฉินลามะองค์ที่ 11 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ในปี 2538

       เพียงสามวันหลังจากนั้น ทางการจีนได้จับตัวพานเฉินลามะองค์นี้ไป ก่อนประกาศให้ กยัลต์เซน นอร์บู ลามะที่เกิดจากสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และเติบโตในปักกิ่งได้ขึ้นเป็นพานเฉินลามะ ลำดับที่ 11 แทน ส่วนพานเฉินลามะที่ได้รับการประกาศจากทะไลลามะถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบชะตากรรม หลายคนยังเชื่อว่าเขาอาจถูกจองจำในฐานะนักโทษการเมืองมานานนับ 20 ปี

        10 มีนาคม 2551 ลามะและชาวทิเบตทั่วโลกพร้อมใจกันประท้วงจีนในวาระครบรอบ 49 ปีเหตุการณ์การลุกฮือต่อต้านอำนาจจีน

           14 มีนาคม 2551  เกิดจลาจลครั้งใหญ่กลางกรุงลาซา และขยายสู่เขตชุมชนทิเบตในบรรดามณฑลเพื่อนบ้านของจีน โดยรัฐบาลพลัดถิ่นแถลงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ชีวิตระหว่างปฏิบัติการปราบปรามของกองกำลังจีน ขณะที่ทางการจีนระบุว่าเจ้าหน้าที่สังหาร “ผู้ก่อการลุกฮือ” 1 คน และการเสียชีวิตของผู้คนอีก 21 คนนั้น เป็นความรับผิดชอบของ “กลุ่มก่อการจลาจล” .

            เดือนพฤศจิกายน 2559 ผู้นำด้านจิตวิญญาณของทิเบตที่อยู่ในระหว่างการลี้ภัยที่อินเดีย ได้เสด็จเยือนมองโกเลียเป็นเวลา 4 วัน เพื่อพบปะกับผู้นำศาสนาระดับสูงของมองโกเลีย ได้สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลจีนเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นประกาศยกเลิกการประชุมทวิภาคีกับรัฐบาลมองโกเลียเพื่อเจรจาความร่วมมือเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษกิจมองโกเลียที่กำลังถดถอยหนัก ซึ่งมองโกเลียต้องการเงินกู้จำนวน 4.2 พันล้านดอลลาร์ ในการผลักดันเศรษฐกิจที่ถดถอยให้ฟื้นกลับคืนดี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหารือความร่วมมือในการก่อสร้างทางรถไฟ และโรงผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากถ่านหินในมองโกเลียอีกด้วย แต่ทั้งหมดถูกยกเลิกเหตุเพราะผู้นำจิตวิญญาณทิเบต “ทะไล ลามะ” เสด็จเยือนมองโกเลียเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน

          ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศจีนก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ให้มองโกเลียปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศของ“องค์ทะไล ลามะ” เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองชาติจะยังคงอยู่ต่อไป ทว่ารัฐบาลในอูลานบาตอร์กลับไม่สนใจแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับทางปักกิ่งเป็นอันมาก

         รัฐบาลปักกิ่งได้ออกคำสั่ง“ยกเลิก”เที่ยวบินปักกิ่งและอูลานบาตอร์ เพื่อโต้ตอบที่“องค์ทะไล ลามะ”เยือนมองโกเลีย อย่างไรก็ดี เที่ยวบินเส้นทางนี้ได้รับอนุญาตกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในภายหลัง

         "องค์ทะไล ลามะ"องค์ที่ 14 แห่งทิเบต หรือ สมเด็จพระเทน ซิน เกียตโซ ทะไลลามะ องค์ที่ 14 แห่งทิเบตประสูติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2478 ณ เมืองตักเซอร์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต ทรงถูกค้นพบด้วยวิธีการตามประเพณีทิเบตเมื่อพระชนมายุ 2 พรรษาเศษ พระนามตอนเป็นเด็กคือ ลาโม ดอนดุป เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร จึงถูกเปลี่ยนพระนามตามประเพณีเป็น จัมเพล เยเช และต่อมาก็ใส่ชื่ออื่นๆ ด้วย จึงมีพระนามเต็มว่า จัมเฟล นาวัง ลบซัง เยเช เทนซิน เกียตโซ

         ทรงขึ้นครองราชย์เป็นผู้นำทิเบต เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2483 พระชนมายุ 5 พรรษา ด้านการศึกษา ทรงเริ่มต้นเมื่อพระชนมายุ 6 พรรษา กระทั่ง 25 พรรษา ทรงจบปริญญาเอกปรัชญาของทิเบต ชื่อ เกเช ลารามปา

          ทั้งนี้ “ทะไล” เป็นคำจากภาษามองโกล แปลว่าทะเลอันกว้างใหญ่ หรือมหาสมุทร ส่วน “ลามะ” เป็นภาษาทิเบต หมายถึงผู้มีความรู้ “ทะไลลามะ” จึงหมายถึงมหาสมุทรแห่งปัญญา อย่างไรก็ตาม องค์ทะไล ลามะเคยมีรับสั่งว่า คำ ทะไล แปลมาจากคำว่า “เกียตโซ”ในพระนามขององค์ทะไล ลามะ องค์ที่ 3 ซึ่งแปลว่ามหาสมุทร สำหรับพระองค์เอง แต่เดิมชาวทิเบตเรียกว่าพระองค์ว่า เกียลวา รินโปเช, คุนดุนหรือ เยเช นอรบ แต่ปัจจุบันก็เรียก ทะไลลามะ ตามที่รู้จักกันในคำสากล ส่วนพระนามที่ชาวตะวันตกเรียกเป็นภาษาอังกฤษคือ His Holiness The XIV Dalai Lama

          ทรงได้รับตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ เป็นประมุขของชาติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2493 ปีเดียวกับที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเข้าปราบปรามการต่อต้านในทิเบต ก่อนรัฐบาลจีนเสนอข้อตกลงให้ทิเบตยอมรับว่าจีนมีอำนาจเหนือ ช่วงเวลานั้น พระองค์เดินทางไปปักกิ่งในปี 2497 เพื่อเจรจาสันติภาพกับ เหมา เจ๋อ ตุง, โจว เอิน ไหล และเติ้ง เสี่ยว ผิง อีก 2 ปี ถัดมาทรงเดินทางไปอินเดียเข้าร่วมงานฉลอง 2500 ปี พุทธชยันตี และได้ปรึกษากับนายกรัฐมนตรีเนห์รู ถึงสถานการณ์ทิเบตที่เลวร้ายลง

         เดือนมีนาคม พ.ศ.2502 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทิเบตที่กรุงลาซา เมืองหลวง ผู้ประท้วงชาวทิเบตจำนวนมากถูกกองทหารจีนจับกุมและสังหาร องค์ทะไลลามะต้องทรงเดินทางลี้ภัยไปอินเดีย โดยมีชาวทิเบตประมาณ 80,000 คน ติดตามพระองค์ไป และนับตั้งแต่ พ.ศ.2502 เป็นต้นมา พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของอินเดีย

           องค์ทะไลลามะ ได้รับการยอมรับจากชาวโลกทั้งตะวันออกและตะวันตก ทรงได้รับการถวายรางวัลและปริญญาบัตรสาขาต่างๆ โดยเฉพาะด้านสันติภาพจำนวนมาก รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ.2532 โดยคณะกรรมการแถลงว่า “ต้องการเน้นความเป็นจริงที่องค์ทะไลลามะ ได้พยายามต่อสู้อย่างต่อเนื่องและอย่างสันติ เพื่อปลดปล่อยทิเบต ทรงเสนอหนทางแก้ไขปัญหาโดยเน้นเรื่องความอดทนและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อคุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประชาชนทิเบต”

          “ข้าพเจ้าเป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ไม่มีอะไรมากกว่านี้และน้อยกว่านี้ อาตมาก็เหมือนพระทุกรูป คืออยู่กับความจน ไม่มีสมบัติส่วนตัว ในห้องนอนมีแต่เตียง เวลาลุกขึ้น สิ่งแรกที่ได้เห็นคือพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าจากพระพุทธรูป เวลาตื่นขึ้นมานั้นหนาวเย็นนัก จึงต้องออกกำลังกายและรีบอาบน้ำแต่งตัวอย่างรวดเร็ว อาตมานุ่งจีวรสีแดงเข้มเช่นนี้ดุจพระองค์อื่นๆ ผ้าหยาบๆ มีปะชุน หากเป็นผ้าผืนเดียวก็จะเอาไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับอะไรได้ การนุ่งห่มผ้าอย่างนี้เอาไปขายไม่ได้ เป็นการยืนหยัดปรัชญาของเรา ที่สอนให้ไม่ติดยึดในสิ่งของต่างๆ ทางโลก”องค์ทะไล ลามะ ตรัสเช่นนี้แล!!

------------//------------

ขอบคุณข้อมูลจาก : วีกีพีเดีย เวบไซด์ History (Rebellion in Tibet)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ