วันนี้ในอดีต

4 มี.ค 2492 " 4ผู้แพ้ถูกสังหารหมู่กลางกรุง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แผนลวงให้กลับไทย"4อดีตรัฐมนตรี"ถูกสวมกุญแจมือ นั่งในรถตำรวจที่คุ้มกันแน่นหนา แต่ไฉนกรมตำรวจออกข่าวทั้งหมดตายเพราะถูกโจรมลายูชิงตัวถึงกลางกรุง

 

         สถานการณ์ทางการเมืองโลกเดือด การเมืองไทยก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่2 กลุ่มการเมืองไทยเกิดการแบ่งแยกออกได้เป็น3กลุ่มคือ กลุ่มทหารและอำนาจนิยม กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม

         กลุ่มทหารและอำนาจนิยม นำโดย“จอมพล ป. พิบูลสงคราม” และกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งนำโดย “พลโทผิน ชุณหะวัน”(เป็นผู้บัญชาการทหารบก (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2497)ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 กลุ่มนี้จะเสียอำนาจและลดบทบาทลง ก่อนที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

         กลุ่มอนุรักษ์นิยมเป็นกลุ่มนิยมเจ้าและขุนนางเก่า มีผู้นำคนสำคัญเช่น ควง อภัยวงศ์, เสนีย์ ปราโมช และคึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มนี้มีพรรคการเมืองของตนเองคือ พรรคประชาธิปไตย และพรรคก้าวหน้า ก่อนที่ใน พ.ศ.2489 จะรวมตัวกันตั้งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมจะมีบทบาททางการเมืองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 แต่ในระหว่าง พ.ศ. 2488–2490 นั้นกลุ่มที่มีบทบาทมากกว่าคือกลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม

         กลุ่มเสรีนิยมและสังคมนิยม เป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกลุ่มที่สนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์ และโดยมากเคยร่วมงานกันในกลุ่มเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ได้แก่ กลุ่มข้าราชการพลเรือน ทหารเรือ ผู้ประกอบการและนักธุรกิจเอกชน ซึ่งรวมตัวกันอยู่ในพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญซึ่งมี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้นำ และกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสหชีพซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ซึ่งนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง ก็เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคสหชีพ นายทองอินทร์ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกใน พ.ศ. 2487 ส่วนคนอื่นๆ ได้เป็นรัฐมนตรีในระหว่าง พ.ศ. 2488–2490

        ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 “พลโทผิน ชุณหะวัน” และพวกก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก “รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ทำให้กลุ่มทหารและอำนาจนิยมกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง ในระยะแรกคณะรัฐประหารเชิญ “นายควง อภัยวงศ์” มาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่จะจี้ให้  " นายควง  อภัยวงศ์” ลาออกแล้วเชิญ "จอมพลป.พิบูลสงคราม" มาเป็น “นายกรัฐมนตรี” เขาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (8 เมษายน พ.ศ. 2491 – 16 กันยายน พ.ศ. 2500) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง(15 เมษายน พ.ศ. 2491-25 มิถุนายน พ.ศ. 2492)

          “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรี มีมือขวาอย่าง"พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์"ยุค“รัฐตำรวจ” หรือ “อัศวินผยอง”เรืองอำนาจคับประเทศไทย และเจ้าของประโยคเด็ด"ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง” จนได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า“บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย”

 ่        เหนืออื่นใด“คณะรัฐประหาร”ได้เฝ้าติดตามและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างดุเดือด ไล่เรียงมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 รัฐบาล"จอมพล ป." ได้จับกุมบุคคลจำนวนมากในข้อหาต่างๆ กัน บุคคลส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุม เป็น"อดีตรัฐมนตรี" ในรัฐบาลถวัลย์ และ"กลุ่มผู้สนับสนุน "ปรีดี พนมยงค์"

         ในช่วงเวลานั้น “ทองอินทร์”ถูกจับกุมในข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง “ทองเปลว”ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่วน“ถวิล”ถูกจับกุมในข้อหาทุจริตเงินเสรีไทย แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวไป

       ในช่วง พ.ศ. 2491 “ทองอินทร์”และ“ถวิล” ก็ถูกจับกุมในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน ส่วน“จำลอง”ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ที่สุดก็ถูกปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานในการกระทำผิด ขณะที่“ทองเปลว”ถูกจับกุมในเหตุการณ์กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 หลังออกจากที่คุมขังก็เดินทางไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนัง

        ปีถัดมาเกิดเหตุการณ์กบฏวังหลวง และยุติลงในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2492 ฝ่ายกบฏได้ยอมแพ้และแยกย้ายกันหลบหนี ทางรัฐบาลก็ยังได้ส่งตำรวจติดตามและสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น “พันตรีโผน อินทรทัต” ถูกกระสุนปืนยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าผาก ศพอยู่ที่พบที่อำเภอดุสิตในวันที่ 27 กุมภาพันธ์, “พันตำรวจเอกบรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข” อดีตผู้บังคับการตำรวจสันติบาลก็ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากถูกจับกุม ในวันที่29 กุมภาพันธ์ 2492

        1 มีนาคม 2492  หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของ “จอมพลป. พิบูลสงคราม ” นายกรัฐมนตรี  ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตอันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ“นายปรีดี พนมยงค์”อดีตนายกรัฐมนตรี

         ทางการได้ออกประกาศตามจับและให้สินบนนำจับ โดยลดหลั่นกันลงไป เช่น นายปรีดี หัวหน้าขบวนการมีรางวัลนำจับ 50,000 บาท, พลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ รองหัวหน้า รางวัลนำจับ 30,000 บาท

         หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 รัฐบาลได้อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการจับกุมและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้นกว่าที่ผ่านมา “ทองอินทร์, ถวิล, และจำลอง” ถูกจับกุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วน “ทองเปลว  ชลภูมิ"ได้รับโทรเลขลวงจากรัฐบาลแจ้งว่าปฏิบัติการของปรีดีสำเร็จลุล่วงด้วยดี จึงเดินทางโดยเครื่องบินเข้ามาในประเทศไทยและถูกจับกุมตัวในวันที่ 1 มีนาคม ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในข้อหากบฏ 4 อดีตรัฐมนตรี(ทั้ง4คนเป็นรัฐมนตรีหลายสมัยในหลายรัฐบาลในระหว่าง พ.ศ. 2487–2490)ถูกข่มขู่และกระทำทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนการสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อให้รับสารภาพ

       วันนี้ในอดีต เมื่อ “69ปี” ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2492  “4 อดีตรัฐมนตรี”ซึ่งถูกคุมขังไว้ในที่ต่างๆ กัน ถูกนำตัวขึ้นรถ เพื่อนำไปคุมขังที่สถานีตำรวจบางเขน ตำรวจที่ทำหน้าที่ควบคุม 4 อดีตรัฐมนตรีคือ “พ.ต.อ.หลวงพิชิต  สุรการ” เมื่อมาถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 14 –15 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ตำรวจก็ลงมือสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีซึ่งถูกสวมกุญแจมือด้วยการ“ยิง” กต่อมารมตำรวจยุคกระทรวงมหาไทยก็อ้างว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากโจรจีนมลายูจากแดนใต้ บุกเข้าแย่งชิงนักโทษ ทำให้ 4 อดีตรัฐมนตรีถูกยิงตาย!! ซะงั้น!!

     "4อดีตรัฐมนตรี"ประกอบด้วย รองอำมาตย์ตรี ทองอินทร์ ภูริพัฒน์  เป็นนักการเมือง ภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในกรณี “พระราชบัญญัติปักป้ายข้าวเหนียว” ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น นักการเมืองผู้ต่อสู้เพื่อชาวอิสานอย่างแท้จริงคนหนึ่ง

       นายถวิล อุดล (3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2492) เป็นนักการเมือง หนึ่งใน “สี่เสืออีสาน” ซึ่งประกอบด้วย ตัวนายถวิลเอง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ และนายจำลอง ดาวเรือง

        นายถวิล ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด 2 สมัย เป็นหัวหน้าเสรีไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเคยเดินทางไปติดต่อขอความร่วมมือจาก ประเทศจีน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ต้องเป็นประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนทั้งหมด

        ดร.ทองเปลว ชลภูมิ (พ.ศ.2455-2492) ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์อดีตรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎรอดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ

        นายจำลอง ดาวเรือง ขุนพลเมืองมหาสารคาม  ผู้นำเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่2  อดีตส.ส.ตัวแทนชาวไร่ชาวนาเมื่อปี 2480 ื  อยู่ในกลุ่ม"สีเสืออีสาน"

       ก่อน“4อดีตรัฐมนตรี”จะพบจุดจบแบบอำพราง!!  ปรากฏว่าช่วงค่ำวันที่ 3 มีนาคม 2592 ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้ง“4อดีตรัฐมนตรี”ไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหลายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี “พ.ต.อ.หลวงพิชิต ธุรการ ”เป็นผู้ควบคุม โดยรับ “ดร.ทองเปลว” ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน  “นายจำลอง” ที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา “นายถวิล”ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และ“นายทองอินทร์” ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน

       เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่12ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร  เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2492 ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่า 10 นัดจนร่างเละ ทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง

       ต่อมาตำรวจแถลงว่า ในที่เกิดเหตุกลุ่มโจรมลายูพร้อมอาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

      ว่ากันว่าญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องการเสียชีวิต ก็เมื่อได้ไปเยี่ยมที่สถานีตำรวจเดิมที่คุมขังแล้วไม่พบตัว ต้องไปตามหาตามที่ต่าง ๆ เช่นวังปารุสกวัน ซึ่งในขณะนั้นเป็น“กองบัญชาการตำรวจนครบาล”และได้รับคำบอกต่อให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง จึงได้ทราบเรื่อง

      ศพของ"4อดีตรัฐมนตรี"ตั้งบำเพ็ญกุศลที่“วัดมกุฏกษัตริยาราม”กระนั้นในงานศพก็ยังมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานศพ“4อดีตรัฐมนตรี”อยู่เสมอ

         จากความผิดปกติในครั้งนี้ ทำให้สังคมโดยทั่วไปไม่เชื่อว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนของโจรมลายูจริง แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ “พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการปราบกบฏและมีตำแหน่งเป็น“รองอธิบดีกรมตำรวจ”ในเวลานั้น

         หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการฆาตกรรมนักการเมืองและบุคคลฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงข้ามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เช่น นายเตียง ศิริขันธ์, นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์, นายอารีย์ ลีวีระ

         คดีนี้ได้ถูกรื้อฟื้นและตัดสินอย่างจริงจังหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 โดย“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ศาลดำเนินคดีในปีพ.ศ. 2502พบผู้ต้องหา 5 ราย ได้แก่ พลตำรวจจัตวาผาด ตุงคะสมิท, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร้อยตำรวจโทจำรัส ยิ้มละมัย, ร.ต.ท.ธนู พุกใจดี และสิบตำรวจเอกแนบ นิ่มรัตน์ โดยศาลพิพากษาในปีพ.ศ. 2504จำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหา 3 ราย คือ พล.ต.จ.ผาด, พล.ต.จ.ทม และส.ต.อ.แนบ ส่วน ร.ต.ท.จำรัส และร.ต.ท.ธนู ศาลได้ยกฟ้อง แต่กระนั้นก็ยังมีความเชื่อว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาตัวจริง อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและไม่จริงใจในการดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะมีผู้ต้องหาหลายคนที่เคยเป็นทหารและตำรวจในสังกัดของจอมพล ป. มาก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องการให้ทหารและตำรวจเหล่านี้ค้ำจุนอำนาจไว้

        ในหนังสือ13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซียของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ นายตำรวจคนสนิทของ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุขึ้น ตอนหนึ่งได้บันทึกถึงคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ยิ่งโดยเฉพาะ ส.ต.อ.แนบ เป็นเพียงนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่รู้จักกับผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ ซึ่งตน (พ.ต.อ.พุฒ) ทราบว่า ผู้ลงมือสังหารจริง ๆ คือใคร แต่ไม่ขอเปิดเผย แต่การกระทำแบบนี้ต้องใช้การประชุมในขั้นสูง และที่ประชุมต้องตัดสินร่วมกันว่าต้องใช้วิธีเด็ดขาด นั่นคือใช้วิธีการที่เรียกว่า Eliminate คือการลบให้หายจากบัญชีพลเมืองของโลกไปเลย

       เชื่อหรือยังละ.."ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้"

  -------//-------

 ขอบคุณข้อมูล oknation-วีกีพีเดีย

   

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ