วันนี้ในอดีต

"กบฏวังหลวง" ครั้งสุดท้ายก่อนลี้ภัยถาวร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ว่ากันว่า ฝ่ายปรีดี เศร้าโศกเสียใจมากกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงขนาดจะยิงตัวตาย เพราะนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ไม่เคยมีกบฏหรือรัฐประหารที่มีคนตายมากขนาดนี้

                ชื่อ ”กบฏวังหลวง” คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะคุ้นๆ  แต่คนยุคหนึ่งจะจดจำได้เป็นอย่างดีว่าเป็นการก่อการครั้งที่สำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

                เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 หรือวันนี้ของ 69 ปีก่อน เมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ (จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏในครั้งนี้) ในเวลาประมาณ 16.00 น.

                เรียกปฏิบัติการนี้ว่า "แผนช้างดำ-ช้างน้ำ" จากนั้นในเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย และได้ประกาศแต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และแต่งตั้ง พลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยที่ทั้งสองคนนี้ไม่มีส่วนรู้เห็นอันใดกับการกบฏครั้งนี้

                นายปรีดีที่หลบหนีออกประเทศไปตั้งแต่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แอบเดินทางกลับมาโดยปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่มกบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้

                หากแต่ความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนล่วงหน้า ว่าอาจมีเหตุเกิดขึ้นได้ เพราะจอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัย ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไว้ถึง 2 ครั้ง เช่น

                "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุถึง 3 วัน และมีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2492

                รวมทั้งได้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของทหารบกที่ตำบลทุ่งเชียงราก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งหนังสือพิมพ์ได้ขนานนามการซ้อมรบครั้งนั้นว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"

                ในระยะแรก ฝ่ายกบฏเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด ชนิดที่เรียกว่าเป็นปฏิบัติการ “สายฟ้าแลบ”

                แต่ตกค่ำนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพเรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบริเวณคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้

                เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว

                จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ, ถนนพระราม 4, ถนนสาทร, สี่แยกราชประสงค์ มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับๆ มีผู้ได้บาดเจ็บและล้มตายมากมายกันทั้ง 2 ฝ่าย โดบรวมแล้วมีจำนวนผู้เสียชีวิต 10 ราย จากเหตุการณ์นี้

                ในส่วนของรัฐบาลได้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 และประกาศต่อเนื่องในวันที่ 29 มีนาคม ปีเดียวกัน

                โดยครั้งนี้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพระบรมราชโองการผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม

                ครั้งนี้ มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ

                ว่ากันว่า ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ เศร้าโศกเสียใจมากกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ถึงขนาดจะยิงตัวตาย เพราะที่ผ่านมานับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ไม่เคยมีกบฏหรือรัฐประหารครั้งไหนที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขนาดนี้ แต่ได้ถูกท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ห้ามไว้ ที่สุด จึงต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง!!!

                   และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วันฝ่ายประเทศไทย ได้มีข่าวการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลและ พ.ต.โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น (ซึ่งเหตุการณ์นี้ "คอลัมน์วันนี้ในอดีต" จักได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป)

                กระทั่งรัฐบาลได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2492

                อนึ่ง ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้ายังได้ระบุว่า ดิเรก ชัยนาม ซึ่งถูกประกาศให้เป็นนายกรัฐมนตรีของฝ่ายกบฎ เกรงว่าจะต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเพื่อน จึงได้ปรารภอย่างหวาดหวั่นต่อผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของจีน ซึ่งต่อมาได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งต่อเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเพื่อจะได้ช่วยคุ้มครอง ต่อมาดิเรก ชัยนามได้พบและทำความเข้าใจเป็นการส่วนตัวกับจอมพลป.พิบูลสงคราม

                ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับผลร้ายอย่างยิ่งต่อการพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือ ปรีดี พนมยงค์ เพราะทำให้ปรีดีไม่มีโอกาสกลับมามีบทบาททางการเมืองในประเทศไทยอีกเลย หลังจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ ปรีดีได้หลบอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2492 และลอบเดินทางไปยังประเทศจีน หลังจากนั้นก็ลี้ภัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่นานถึง 21 ปี และเดินทางไปลี้ภัยต่อที่ประเทศฝรั่งเศสจนถึงแก่กรรม รวมเวลาที่ลี้ภัยนานถึง 34 ปี ไม่ได้กลับมายังบ้านเกิดอีกเลย

                สิ่งที่ตามมาจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ คือ การสลายตัวอย่างสิ้นเชิงของคณะราษฎรสายพลเรือนและการสลายตัวของเสรีไทยซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายพลเรือนที่เข้มแข็งที่สุดภายหลังพ.ศ.2475 ทำให้พลังฝ่ายพลเรือนที่จะถ่วงอำนาจฝ่ายทหารนั้นหมดไป และหลังจากนั้นคณะราษฎรสายพลเรือนก็กระจัดกระจายไป และยังถือเป็นจุดสุดท้ายของเสรีไทยด้วย http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87

//////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

และสถาบันพระปกเกล้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ