วันนี้ในอดีต

22 ก.พ. 2514 ลอบสังหารครูโกมล คีมทอง จากความเข้าใจผิด!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครูโกมลรู้ดีว่ามันอันตราย เพียงแต่คิดว่าตนเองอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และจากการที่เขาเพียงต้องการเข้าไปถ่ายรูป กลับทำให้เขาต้องมาเสียชีวิต

                ทำไมกระสุนเลือกคนผิด!

                ถามแบบนี้ คงไม่ได้ เพราะต่อให้ไม่ผิด ก็ไม่มีสิทธิ์ที่ใครจะพิพากษาชีวิตผู้อื่นแบบนี้!!

                สิ่งที่เกิดขึ้น กับ ครูคนหนึ่ง ที่เขาได้สูดลมหายใจสุดท้ายในวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น  เขาคือ โกมล คีมทอง ชื่อที่คนไทยคุ้นเคยกันดี หากน้อยคนจะรู้ว่าเส้นทางของเขาเป็นมายังไง

                วันนี้ในอดีต หรือ 22 ก.พ.2514 คือวันอันแสนสลดนั้น จึงใคร่ขอเล่าเรื่องราวของเขาอีกครั้ง

                โกมล คีมทอง  เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2489 ที่จังหวัดสุโขทัย  บิดามารดา ชื่อนายชวน และนางทองคำ คีมทอง มีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด 5 คน เป็นชายทั้งสิ้น

                คนโตชื่อโอภาส สิ้นชีวิตเมื่อมีอายุได้ 3 เดือน คนที่สองคือโกมล คนที่สามชื่อด้วง สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 1 ขวบ คนที่สี่สิ้นชีวิตเสียแต่เมื่อยังไม่ได้ตั้งชื่อ คนที่ห้าชื่อนิพนธ์ บวชเป็นพระตั้งแต่ ปี 2540สมัยเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ต่อมาลุงกับป้าขอตัวไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก

                โกมลเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประจำอำเภอจังหวัดนั้น

                มาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2509 จากนั้นได้สอบเข้าศึกษาต่อใน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ในปี พ.ศ.2512

                ข้อมูลจาก http://www.info.ru.ac.th/province/Sukhotai/komol.htm อ้างคำบอกเล่าของคุณแม่ของครูโกมลเองว่า เมื่อเริ่มจากชั้นประถมและมัธยมศึกษา โกมล ก็เหมือนเด็กผู้ชายไทยธรรมดาที่เรียบร้อย ว่าง่าย และเชื่อฟังพ่อ- แม่แต่จะมีลักษณะพิเศษอยู่บ้างตรงที่เป็นเด็กช่างคิด ช่างฝัน และค่อนข้างเงียบขรึม

                แต่เขาก็เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ใฝ่หาความรู้อย่างมีแบบแผน มิได้ใช้เพียงมองดู อ่าน สำรวจ และสังเกตเท่านั้น แต่ยังช่างซักถาม ช่างคิดค้นคว้าและทดลองกระทำอีกด้วย กิจกรรมต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย ทำให้สามารถสร้างสมประสบการณ์และพัฒนาความคิดได้อย่างเป็นระบบ เช่น เมื่อเป็นสาราณียกรของคณะครุศาสตร์ ผลงานการทำหนังสือได้แสดงความคิดริเริ่มในทางสร้างสรรค์ เป็นต้น

                นอกจากนี้ โกมล ยังสนใจงานอาสาสมัคร จนเมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว โกมล คีมทอง ได้ก่อตั้งและเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลที่เหมืองห้วยในเขา ตำบลบ้านส้อง กิ่งอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดการศึกษาแบบ โรงเรียนชุมชน

                ความมุ่งหมายให้โรงเรียนนี้เป็นศูนย์รวมทางประสบการณ์ของชาวบ้านและเด็กๆ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน ให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามีสิทธิ์เป็นเจ้าของโรงเรียน ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ ที่ชุมชนนั้นมีอยู่ เช่น มโนราห์ นิทานชาวบ้าน พยายามส่งเสริมค่านิยมทางจิตใจ และเจตคติด้านความรักท้องถิ่น

                ทุกคนเห็นตรงกันว่าเขาคนนี้ นับว่าเป็นตัวอย่างของคนหนุ่มที่มีความคิดและปรับเปลี่ยนความคิดออกเป็นการกระทำ ด้วยความมานะพยายามและความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เป็นแบบอย่างของคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมคติของความเป็น "ครู" ที่มีความกล้าหาญ เสียสละ มุ่งมั่น และเอาจริงเอาจัง ในอันที่จะอุทิศตนเองให้กับการศึกษาและสังคมในชนบทโดยแท้

                แต่แล้วช่วงสุดท้ายของชีวิต ขณะที่ครูโกมลไปอยู่ในเขตพื้นที่ของเหมือง และหมู่บ้าน ในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานีนั้น หลายคนรู้ดีว่าเป็นพื้นที่อันตราย เพราะอยู่ในเขตปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

                แต่โกมลก็รู้ดี เพียงแต่คิดว่าตนเองอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และจากการที่เขาเพียงต้องการเข้าไปถ่ายรูป กลับทำให้เขาต้องมาเสียชีวิต

                เนื่องจากประมาณปี 2512-2513 มีคำบอกเล่าจากเจ้าของเหมืองคนหนึ่ง ว่าทางราชการจะตัดถนนจากบ้านนาสาร ผ่านบ้านส้อง จ.สุราษฎร์ฯ ถึงอำเภอฉวาง จ.นครศรีฯ และมาขอรถแทร็กเตอร์ของทางเหมืองไปช่วยตัดถนน

                ต่อมาอีกปี ทางราชการก็มาขอให้ช่วยทำทางไปหมู่บ้านเหนือคลองเพราะตอนนั้นยังไม่มีถนนขึ้นไป ครั้นตัดถนนเสร็จต้นปี 2514 ทหารจากค่ายทหารในชุมพร ก็ยกกำลังพร้อมลากปืนใหญ่ขึ้นไปถล่มพวกคอมมิวนิสต์ที่หมู่บ้านเหนือคลอง ปรากฏว่าบ้านเรือนชาวบ้านถูกเผา ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเหมืองไป “รับใช้” บ้านเมือง ทำให้เขาเดือดร้อน

                จนมีการสืบสวนเรื่องราวโดยทางรัฐบาลและดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งบังเอิญว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งอาสาหาช่างภาพให้ ก็เลยนึกถึง “ครูโกมล” ด้วยเห็นว่าเขามีกล้องถ่ายรูป ประกอบกับตอนนั้นครูโกมลเคยไปที่หมู่บ้านนั้นหลังจากทำถนนเสร็จ เพราะแกจะเขียนเรื่องลงในวิทยาสาร ว่าแกเป็นคนตั้งโรงเรียนชุมชนแห่งแรกขึ้นที่เหมืองบ้านส้อง

                ช่างโชคร้าย ที่ผู้ก่อการร้ายเกิดสงสัยครูโกมล คิดว่าเป็นสายลับปลอมตัวมาสืบราชการลับให้กองทัพบก ประกอบกับทางเหมืองก็รู้เห็นเป็นใจช่วยทางราชการตัดถนนขึ้นไปทางบ้านเหนือคลอง เลยถูกระแวงว่าเป็นการมาอยู่เพื่อติดตามพฤติกรรมชาวบ้าน จึงทำให้ครูสองคน คือครูโกมล และ ครูรัตนา สกุลไทย อีกท่านหนึ่ง และยังมีนายเสรี คนนำทาง ถูกยิงเสียชีวิต

                มีคำบอกเล่าจากภรรยาของเสรีเล่าว่า วันนั้นคือวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2514  ทั้งสามคนออกเดินทางจากโรงเรียนเหมืองห้วยในเขาประมาณเที่ยงวันหลังโรงเรียนเลิก วันนั้นครูโกมลแวะมากินข้าวมื้อสุดท้ายที่บ้าน เป็นน้ำพริก กับแกงเลียงผัก ครูโกมลบอกว่าดูแล้วไม่น่าจะอร่อย แต่พอกินแล้วรู้สึกว่าอร่อยดี กินกันจนอิ่ม แล้วก็ขึ้นไป

                ตอนนั้นถนนไปบ้านเหนือคลองเป็นลูกรัง ยังไม่ราดยาง พอไปถึงโรงเรียนที่เหนือคลอง ชาวบ้านเขาบอกให้กลับ กลุ่มที่ไปด้วยบอกว่าไม่ได้ไปทำอะไร แค่ถ่ายรูป แต่พวกข้างบนกลัวว่าจะถูกทางนายซัก เลยฆ่าปิดปาก!!!

                ข้อมูลว่า ผู้ร้ายนำศพลงมาวางไว้บริเวณทางแยกหมู่บ้านทุ่งคา โดยที่จริงชาวบ้านแถวนั้นทราบเรื่องครูถูกยิงบ้างแล้ว แต่ที่เหมืองยังไม่มีใครรู้ รุ่งขึ้นอีกวันจึงรู้กันทั่ว พวกผู้ชายซึ่งเป็นผู้ใหญ่ไปเอาศพลงมา

                ตอนนั้นยังไม่มีรถเข้าถึง ต้องเอาศพวางบนไม้กระดานคนละแผ่น คลุมด้วยใบกล้วย ผูกเชือกคล้ายเปลหามกันลงมา เพราะตอนกลางคืนไม่มีใครกล้าขึ้นไปเอา

                “ครูโกมลของเด็ก ๆ 40 คนที่โรงเรียนเหมืองห้วยในเขามีโอกาสใช้ชีวิตเป็นครูตามปณิธานแห่งชีวิตในถิ่นทุรกันดารแห่งนั้นได้ไม่ครบปีดี ก็ถูกยิงเข้าทางด้านหลังจนเสียชีวิต ขณะที่มือของรัตนาเองก็ยังกำหญ้าแน่น บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่เธอได้รับ โดยทั้งคู่อายุเพียง 25-26 ปีเท่านั้น บรรยากาศของเย็นวันนั้น จึงเย็นเยือกและมืดมนไปทั่วบ้านส้อง” (http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=34&s_id=4&d_id=4&page=3&start=1)

                เรื่องราวของครูท่านนี้ ยังมีอีกมากมาย  แบบอย่างของครูโกมลได้สร้างความศรัทธาให้กับผู้อยู่ข้างหลัง ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิในนามของเขา คือ มูลนิธิโกมล คีมทอง ขึ้นในปี พ.ศ. 2514

                โดยมิใช่เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เขาเท่านั้น หากยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อและสนับสนุนผู้มีอุดมคติให้แพร่หลายในสังคม และเพื่อกระตุ้นเตือน สนับสนุนให้บุคคลมีความเสียสละเพื่อสังคม มีอุดมคติ และเป็นผู้นำชุมชนที่ดี

///////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.komol.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ