วันนี้ในอดีต

21 ก.พ.2481 จากอ้ายฟ้าร้อง สู่ตนบุญแห่งล้านนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ที่น่าตกใจคือครั้งนั้น ประชาชนได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการะบูชา

          คนไทยได้ยินชื่อนี้มานาน แต่คนรุน่ใหม่ อาจยังไม่ทราบว่า “ครูบาศรีวิชัย” นั้นเป็นใครและได้ทำอะไรไว้ ถึงได้มีผู้คนมากมายมหาศาลรำลึกจดจำคำสอน และยังคงเลื่อมใสศรัทธาท่านมาจนถึงทุกวันนี้

          แม้ขนาดว่าท่านได้ละสังขารไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.2481 หรือวันนี้เมื่อ 80 ปีก่อนก็ตาม

          วันนี้ในอดีต จึงใคร่ขอพาผู้อ่านย้อนเรื่องราวของ ครูบาศรีวิชัยอีกครั้ง

          ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ “เฟือน” หรือ “อินท์เฟือน” บ้างก็เรียกขานท่านว่า “อ้ายฟ้าร้อง” เนื่องจากในขณะที่ท่านเกิด มีปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก

          ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์ หรือเมืองของพระอินทร์ ก็ไม่แตกต่างกันทั้งสองชื่อ

          โดยท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

          “อ้ายฟ้าร้อง” เป็นบุตรของนายควาย และ นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน บ้านเดิมของพวกเขาคือ บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน

          นอกจากนี้ อ้ายฟ้าร้องยังมีบรรพรุษ ซึ่งก็คือ หมื่นปราบ (หมื่นผาบ) ตาของบิดา ที่มีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 (ช่วง พ.ศ. 2414-2431)

          ภายหลังนายควายพาครอบครัวไปบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง ซึ่งเป็นที่กันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง

          ต่อมา เมื่ออ้ายฟ้าร้องหรือ นายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปี ก้ได้เข้าสู่เส้นทางธรรม บวชเปนเณร และพระ ร่ำเรียนวิชาต่างๆ จนเมื่ออายุ 25 ปี เป็นพระครบพรรษาที่ 5 ก็ได้เป็นถึงเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง ที่บ้านเกิด

          จากนั้นก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือ ท่านได้ย้ายวัดไปยังบริเวณเนินเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเห็นว่าเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี

          โดยวัดแห่งนี้ได้ชื่อใหม่ว่า “วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

          ตามข้อมูลและคำร่ำลือตรงกัน กล่าวว่า “ครูบาศรีวิชัย” เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด เช่น ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง

          ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ

          วันอาทิตย์ไม่ฉันฟักแฟง วันจันทร์ไม่ฉันแตงโม และแตงกวา วันอังคารไม่ฉันมะเขือ วันพุธไม่ฉันใบแมงลัก วันพฤหัสบดีไม่ฉันกล้วย วันศุกร์ไม่ฉันเทา วันเสาร์ไม่ฉันบอน

          นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลย คือ ผักบุ้ง, ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน)

          โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้ว จะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

000

          อย่างไรก็ดี ในความเลื่อมใสศรัทธา ก็ยังมีปมปัญหาเมื่อครั้งหนึ่ง "ครูบาศรีวิชัย" เคยต้องอธิกรณ์ โดยสรุปเพื่อความเข้าใจคือ

          ครูบาศรีวิชัย มีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ท่านจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา

          แต่ภายหลังท่านกลับถูกสอบสวนเกี่ยวกับกรณีที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร โดยไม่ได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ

          ที่สุด เมื่อครูบาศรีวิชัย ไม่ยอมให้กับส่วนกลาง ยังยึดถือขนบปฏิบัติแบบล้านนาอยู่ จึงนำไปสู่การจับกุมครูบาศรีวิชัย  

          โดยการจับกุมในช่วงแรก เกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2451-2453 ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกจับกุมด้วยข้อหาต้องอธิกรณ์ดังที่กล่าวไป ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกถูกขังไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้้ 4 คืนครั้งที่ 2 กักขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน เป็นเวลา 23 วัน ส่วนในครั้งที่สาม ถูกจับขังไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชยเป็นเวลาอีกถึง 1 ปี 

          นั้น ยังมีการปลดครูบาเจ้าศรีวิชัยให้พ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด มิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป และถูกจับขังต่อไปอีก 1 ปีด้วย

          จะเห็นได้ว่า การที่ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุม ก็เนื่องจากความกระด้างกระเดื่อง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง ตลอดจนไม่สนใจพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่

          หลายคนวิเคราะห์ว่า เนื่องด้วยครูบาเจ้าศรีวิชัยมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรม มากกว่าที่จะสนใจในระเบียบแบบแผนใหม่ อีกทั้งท่านยังยึดมั่นกับจารีตแบบแผนแบบดั้งเดิม โดยปฏิบัติตามวินัยสงฆ์ที่อาจารย์พระอุปัชฌาย์สั่งสอนมา ความสัมพันธ์แบบหัวหมวดวัด

          และยังได้สร้างความผูกพันระหว่างพระในชุมชนด้วยกันที่ให้ความเชื่อถือในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลาง เป็นจุดเริ่มต้นของการยืนหยัดที่จะสืบสานจารีตแห่งความเป็นล้านนา

          ดูเหมือว่าปัญหาเดิมๆ ครูบาศีวิชียจะนังต้องเตออีกเรื่อยๆ เพราะท่านยังมาถูกจับกุมอีกและยังมีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          แต่น่าแปลกที่ เมื่อท่านยิ่งต้องอธิกรณ์มากครั้งเท่าไหร่ ความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับทบทวีคูนขึ้น!!

000

          บางทีอาจเพราะผู้คนรับรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ นานา ที่ทำให้ความนับถือเลื่อมใสในตัวของครูบาเจ้าศรีวิชัยแพร่ขยายออกไป แต่สิ่งนี้ก็กลับทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องตกที่นั่งลำบากอีก

          เพราะทางเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ตั้งข้อกล่าวหาว่า ท่านซ่องสุมคนคฤหัสถ์ นักบวช เป็นก๊กเหล่า และใช้เวทมนตร์โหงพราย

          จนต่อมาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2462 ทางเจ้าคณะได้ออกหนังสือให้ท่านออกจากพื้นที่จ.ลำพูนภายใน 15 วัน 

          ครั้งนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวอ้างถึงพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติขึ้นมาว่า ท่านได้กระทำผิดพุทธบัญญัติข้อใดไปบ้าง เจ้าคณะแขวงไม่สามารถเอาผิดได้ จึงเลิกราไปพักหนึ่ง และังคงเกิดเหตุลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ีอหลายหน แต่โดยรวมแล้วท่านหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุกกระทง

          และได้มีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นการส่วนพระองค์ครั้งหนึ่ง จากการเข้าเฝ้าครั้งนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงได้ประทานส่งสมณสาส์นไปยังพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มีใจความว่า

          “...วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย (14 ก.ค. 2463) ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช้ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญา พอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ...”—สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

          แต่คนทำงานมาก มักเจอปัญหาบ่อย ปรากฏว่าหลังากนั้น เมื่อครูบาศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ ขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม 10 แขวง 50 วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน

          เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ลุกลามไปทั่วทุกหัวเมือง รวมวัดต่าง ๆ ที่แยกตัวออกไปถึง 90 วัด พระสงฆ์ในจังหวัดต่างๆ ก็เริ่มที่จะเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัว ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกส่งตัวไปยังกรุงเทพฯ เพื่อระงับเหตุที่จะบานปลาย

          สิ่งนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสในหมู่หัวเมืองที่รักและเคารพในตัวท่าน

          ต่อมาช่วงปี 2479 ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ และได้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

          แต่ปมที่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน ยังคงอยู่ และได้แปรสภาพจากปัญหาเล็กๆ ระหว่างสงฆ์ล้านนารูปหนึ่งกับคณะสงฆ์ในส่วนกลาง มาเป็นปัญหาระหว่างชาวล้านนากับอำนาจจากส่วนกลาง

          สมเด็จพระสังฆราช จีงมีพระบัญชา ให้พระธรรมวโรดม พระศรีสมโพธิ เป็นที่ปรึกษา รับพระกระแสขึ้นมาเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2450 เข้าทำการปรึกษากับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)ข้าหลวงมณฑลพายัพ จัดการคัดหาตัวพระมหาเถระ ผู้แตกฉานธรรมวินัย เพื่อแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะเมือง เจ้าคณะรอง เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะแขวง มีหน้าที่บังคับบัญชาคณะสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์

          การเข้ามามีบทบาทของส่วนกลาง ส่งผลกระทบต่อวงการสงฆ์ล้านนาอย่างมาก ล้านนามีจารีตการปกครองสงฆ์ค่อนข้างเป็นอิสระ ให้ความสำคัญแก่ “ระบบหมวดอุโบสถ” หรือ “ระบบหัวหมวดวัด” มากกว่า และการปกครองก็เป็นในระบบพระอุปัชฌาย์ อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย

          ที่สุดเรื่องนี้นำมาสู่ การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย ถูกขับออกจากเมืองเชียงใหม่ ท่านจึงได้ปวารณาตนว่า จะไม่กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก เว้นแต่แม่น้ำปิงจะไหลย้อนกลับ

          ท่านได้จากเมืองเชียงใหม่มา จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2481 หากแต่มีการตีความใหม่ว่า ท่านมรณภาพในวันที่ 21 ก.พ. 2481 ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ 60 ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา 1 ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวีอำเภอเมืองลำพูน

          จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก

           ที่น่าตกใจคือครั้งนั้น ประชาชนได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา

          อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้ ส่วนที่ 1 บรรจุที่วัดจามเทวีจ.ลำพูนส่วนที่ 2 บรรจุที่วัดสวนดอกจ.เชียงใหม่ส่วนที่ 3 บรรจุที่วัดพระแก้วดอนเต้าจ.ลำปางส่วนที่ 4 บรรจุที่วัดศรีโคมคำจ.พะเยาส่วนที่ 5 บรรจุที่วัดพระธาตุช่อแฮจ.แพร่ส่วนที่ 6 บรรจุที่วัดน้ำออกรูจ.แม่ฮ่องสอนส่วนที่ 7 บรรจุที่วัดบ้านปางอำเภอลี้จ.ลำพูน

            สำหรับ สถานที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับครูบาศรีวิชัย เช่น อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ภายในวัดดอยติ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูนถนนศรีวิชัย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

////////

ขออขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ