วันนี้ในอดีต

20 ก.พ.2512 เรื่องราวสุดทึ่งของ นายทองดี ฟันขาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายทองดีเริ่มสร้างชื่อกระฉ่อน ในวัย 18 ปี เมื่อขึ้นเวทีมวยเอาชนะครูมวยเจ้าถิ่นชื่อดังได้ หลังจากนั้นก็เดินทางไปเรียนดาบที่เมืองสวรรคโลก จนช่ำชองในเวลาอันรวดเร็ว

                วันนี้เมื่อ 49 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 20ก.พ. 2512 ได้มีพิธีสำคัญ คือการเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี

                และใครที่ติดตามเรื่องราวของท่านพระยาผู้นี้จะพบว่า ชื่อ ทองดี ฟันขาว ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เรียกขานกันในสมัยนั้น

                แต่ความสำคัญ และวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก ที่ได้ทำไว้แก่บ้านเมืองไทยนั้น ต้องบอกว่า สุดทึ่ง!

                จึงขอย้อนอดีตเรื่องราวของ นายทองดี ฟันขาวกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการรำลึกถึง

                 "พระยาพิชัยดาบหัก" ทหารเอกคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีนามเดิมว่า "จ้อย" เกิดเมื่อปี 2284 ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย (ปัจจุบันคืออำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์) ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

                เป็นบุตรของชาวไร่ เมื่อมีอายุได้ 14 ปี มีเรื่องวิวาทชกต่อยกับลูกเจ้าเมืองพิชัย จนต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "ทองดี" หรือ "ทองดีฟันขาว" (เนื่องจากไม่ได้กินหมากเหมือนคนอื่นในสมัยนั้น) แล้วก็ต้องหลบหนีเร่ร่อนไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูเที่ยง ครูมวยที่วัดบ้านเก่ง และ ครูเมฆ ที่วัดท่าสา

                นายทองดีเริ่มสร้างชื่อกระฉ่อน ในวัย 18 ปี เมื่อขึ้นเวทีมวยเอาชนะครูมวยเจ้าถิ่นชื่อดังได้ หลังจากนั้นก็เดินทางไปเรียนดาบที่เมืองสวรรคโลก จนช่ำชองในเวลาอันรวดเร็ว

                ต่อมาจึงมีการรับลูกศิษย์เพื่อฝึกสอนวิชาดาย โดยศิษย์เป็นคนแรก ชื่อ "บุญเกิด" และเคยใช้มีดสั้นฆ่าเสือเพื่อช่วยชีวิตของลูกศิษย์คนนี้ไว้ด้วย จนชื่อเสียงของนายทองดีกลายเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว

                นายทองดีได้ขึ้นเวทีมวยที่เมืองตาก ซึ่ง "พระยาตาก" (ชื่อเดิมคือ "สิน") ผู้เป็นเจ้าเมืองตาก ได้จัดขึ้นเพื่อคัดเลือกนักมวยฝีมือดีได้เข้ามารับราชการในกองทัพ

                แน่นอน นายทองดี สามารถเอาชนะนักมวยชั้นยอดได้หลายคน จนเป็นที่ถูกใจของพระยาตากสิน จากนั้นจึงได้เข้ารับราชการเป็น "หลวงพิชัยอาสา" ทำหน้าที่เป็นองครักษ์คอยอยู่ข้างกายของพระยาตากสิน และเป็นครูมวยครูดาบให้กับทหารในกองทัพเมืองตาก

                หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามพระยาตากสินไปทำศึกเรื่อยมา ตั้งแต่การช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยาจากทัพพม่าที่เข้าล้อมกรุง จนกระทั่งก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก พระยาตากสินได้ฝ่าเข้าวงล้อมของกองทัพพม่าออกไปซ่องสุมกำลังทางหัวเมืองทางชายทะเลตะวันออก ตั้งแต่เมืองชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ตั้งเป็นชุมนุม "เจ้าตากสิน" แล้วจึง ยกทัพกลับมาขับไล่พม่าที่กรุงศรีอยุธยา แล้วจึงประกาศเอกราชของชาติได้อีกครั้งในปลายปี พ.ศ. 2310 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ หลวงพิชัยอาสาก็ได้มีส่วนร่วมในฐานะนายทหารคนสำคัญมาโดยตลอด

                เมื่อพระเจ้าตากสินปราบดาภิเษกเป็น "สมเด็จพระเจ้าตากสิน" แห่งอาณาจักรธนบุรี หลวงพิชัยอาสาก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งเรื่อยมา ตั้งแต่ "จหมื่นไวยวรนารถ" "พระยาสีหราชเดโช" และ "พระยาพิชัย" เจ้าเมืองพิชัยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน

                ปลายปี พ.ศ. 2316 "โปสุพลา" แม่ทัพพม่าที่คุมกองทัพอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ได้นำทัพจากเชียงใหม่ยกลงมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยนำทัพออกไป ดักซุ่มโจมตีอยู่ที่เมืองชัยภูมิ และได้เข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด

                อีกทั้งพระยาพิชัยได้ใช้ดาบสองมือต่อสู้กับทหารพม่าที่กลุ้มรุมเข้ามา แล้วใช้ดาบเล่มหนึ่งยันพื้นไม่ให้ล้ม จนดาบหัก และก็ยังใช้ดาบที่หักต่อสู้กับทหารพม่า จนกระทั่งในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2317 การรบในครั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับพระยาพิชัยอีกครั้ง จนผู้คนจึงขนานนามเรียกท่านว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"

                ภายหลังเมื่อ "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" นำทัพเข้ามาปราบปรามความวุ่นวายในกรุงธนบุรี และทำการสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 แล้วได้ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ก็ได้ทรงชักชวนให้พระยาพิชัยดาบหักอยู่ทำราชการต่อ

                แต่พระยาพิชัยจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินยิ่ง จึงยินยอมถูกประหารชีวิตตายตามไป ในวันที่ 7 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์บรรจุอัฐิพระยาพิชัยดาบหักไว้ที่วัดบางยี่เรือเหนือ ริมคลองบางกอกใหญ่ (ปัจจุบัน คือ วัดราชคฤห์)

                เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีของพระยาพิชัยดาบหัก ที่เคยได้สร้างไว้ให้กับประเทศ และเทิดทูนในความจงรักภักดีอย่างสูงที่มีให้ต่อผู้เป็นนาย ที่จะยอมตาย โดยไม่ต้องได้ชื่อว่าเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย!!

                ส่วนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหักก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์และศาลบูชาขึ้นหลายแห่ง โดยคนอุตรดิตถ์นับถือท่านเป็นวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานของจังหวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้

              ถือว่า พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญรวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป
 
///////

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

และhttp://www.amazing-lablae.com/aboutus/phrayapichais/

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ