วันนี้ในอดีต

19 ก.พ.2531 จบสงครามพี่น้องสองฝั่งโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จำได้หรือไม่ “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า” ซึ่งเป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวที่นับเป็นการสูญเสียชีวิตทหารมากที่สุดในการรบของไทยเท่าที่เคยมีมา

                วันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน คือวันที่หลายคนโล่งใจ เมื่อการทำสงครามครั้งที่รุนแรงครั้งหนึ่งของไทยกับบบ้านพี่เมืองน้องอย่าง สปป.ลาว ได้ยุติลง นั่นคือที่เรียกกันว่า “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า” หรือ “ยุทธการบ้านร่มเกล้า”

                ซึ่งเป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ณ บริเวณบ้านร่มเกล้า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 จากการสู้รบอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งฝ่ายไทยและลาว และนับเป็นการสูญเสียชีวิตทหารมากที่สุดในการรบของไทยเท่าที่เคยมีมา

                การรบสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังจากฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีเข้าไปในดินแดนลาว 30-40 กิโลเมตร และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร

                ย้อนรอยอีกครั้ง สมรภูมิบ้านร่มเกล้าเกิดจากกรณีพิพาทด้านพรมแดนระหว่างไทยกับลาว เนื่องจากยึดถือพรมแดนจากแผนที่คนละฉบับ โดยในปี พ.ศ. 2450 สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ยึดถือจากผลการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2430 ได้กำหนดให้แม่น้ำเหืองเป็นเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส

                ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 เจ้าหน้าที่สำรวจแผนที่ของฝรั่งเศสได้พบว่าแม่น้ำเหืองมีสองสาย จึงได้เขียนแผนที่โดยยึดสายน้ำที่ทำให้ฝรั่งเศสได้ดินแดนมากกว่าเดิม และไม่ได้แจ้งให้รัฐบาลสยามทราบ ต่อมาในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐได้จัดทำแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศ และได้พบแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ชื่อว่า ลำน้ำเหืองป่าหมัน ซึ่งไม่เคยปรากฏในเอกสารสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส มาก่อน

                ในปี พ.ศ. 2530 ทางการลาวได้อ้างสิทธิเหนือดินแดนบริเวณบ้านร่มเกล้า และยกกำลังเข้ามายึดพื้นที่บ้านร่มเกล้า ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และเกิดปะทะกับกองกำลังทหารพราน 3405 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 และยึดเนิน 1428 เป็นที่มั่น

                วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 กองทัพภาคที่ 3 เริ่มส่งกำลังเข้าโจมตีเนิน 1428 โดยใช้กองกำลังทหารราบและทหารม้า โดยการสนับสนุนจากกองทัพอากาศไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากฝ่ายลาวมีชัยภูมิที่ดีกว่า และว่ากันว่ายังได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากสหภาพโซเวียตและเวียดนาม

19 ก.พ.2531 จบสงครามพี่น้องสองฝั่งโขง

เนิน 1428

                และด้วยที่ทางลาวถือว่ามียุทธภูมิดีกว่า มีอำนาจการยิงสนับสนุนต่อเนื่องและรุนแรง ฝ่ายทหารไทยจึงต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะแนวกับระเบิด ที่มีมากมาย จนกลุ่มทหารไทยยอมรับกันว่า เป็นการรบที่หนักที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมาในชีวิตการเป็นทหาร โดยเฉพาะบริเวณเนิน 1182, 1370, และ 1428

                และขณะนั้น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น ก็ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดทหารไทยทั้ง ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ และทหารพราน

                แต่ฝ่ายไทยก็ยังไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนิน  1428 ซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ถึงแม้จะใช้กำลังทางอากาศบินโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักก็ตาม จนทำให้กองทัพอากาศไทยสูญเสียเครื่องบิน เอฟ 5 อี และ โอวี 10 ไปอย่างละ 1 เครื่อง ซึ่งถูกยิงตกด้วยปืนต่อต้านอากาศยาน และจรวดแซม

                ทั้งนี้ ทางลาวได้รวบรวมกำลังพลเข้ารักษาเนิน 1428 ไว้อย่างเหนียวแน่นโดยมีกำลังรบและกำลังสนับสนุนดังนี้คือ กองพลที่ 1 จำนวน 4 กองพัน พร้อมอาวุธหนักปืนใหญ่ 130 มม. 3 กระบอก ปืน 105 มม. 3 กระบอก รถถังอีก 4 คัน รวมกำลังพล 372 นาย

                กองพลที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่หลวงพระบาง จำนวน 4 กองพัน เช่นกัน มีกำลังพลกว่า 418 คน สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ 130 มม. 3 กระบอก ปืนใหญ่ 105 มม. 3 กระบอก รถถัง 5 คัน ปืน ค. ขนาด 62 และ 82 มม. รวมทั้ง ปตอ. ด้วย นอกจากนี้กองกำลังหลักซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ ไชยบุรี มีปืนใหญ่ 130 มม. 2 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 122 มม. อีก 3 กระบอกรวมทั้งหน่วยจรวดต่อสู้อากาศยานแบบแซม 7

              ที่สุดหลังพบว่าการรบในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คณะนายทหารจึงปรับแผนการรบใหม่ โดยใช้กำลังปืนใหญ่ระยะยิงไกลแบบ เอ็ม 198 และปืนใหญ่แบบต่าง ๆ ระดมยิงเข้าไปในดินแดนลาว ที่หมายคือการยิงฐานปืนใหญ่และที่ตั้งกำลังทหาร พร้อมทั้งส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไปตัดการส่งกำลังสนับสนุนของฝ่ายลาว

                จนกระทั่งการสนับสนุนการรบของลาวได้ลดประสิทธิภาพลงไปอย่างมาก ที่สุด วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีการเจรจายุติศึกแยกกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายออกจากกันฝ่ายละ 3 กิโลเมตร

                เป็นอันจบสงครามที่จนถึงวันนี้ ยังเถียงกันไม่จบว่าตกลงใครแพ้ใครชนะ เพราะที่สุด เนิน 1428 ปัจจุบันเป็นเขตปลอดทหาร ไม่ได้เป็นของไทยหรือลาว แต่ที่จริงอาจพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย เพราะความสูญเสียชีวิตทหารกล้าไปมากมายทั้งคู่!!

                ขอไว้อาลัยแด่ทหารหาญทุกคน รวมถึงฝั่งสปป.ลาวมา ณ ที่นี้!

/////////////

               หมายเหตุ น่าแปลกใจมากที่ไม่ปรากฏข้อมูลตัวเลขความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นทางการ หากแต่มีผู้ใช้เวบไซต์พันทิปได้แสดงข้อมูลโดยมิได้ระบุอ้างอิงแหล่งที่มาว่า

            จำนวนผู้เสียชีวิต

            ฝ่ายไทย -เสียชีวิต 147 นาย -พิการ 55 นาย -บาดเจ็บสาหัส 167 นาย -บาดเจ็บเล็กน้อย550นาย

            ฝ่าย ลาว -ทหาร สปปล.เสียชีวิต 286 นาย, บาดเจ็บ 301 นาย

            ทหารเวียดนาม เสียชีวิต 157 นาย, บาดเจ็บ 112 นาย

            ทหารโซเวียตเสียชีวิต 2 นาย, บาดเจ็บ 2 นาย และ ทหารคิวบา เสียชีวิต 2 นาย

//////////////////////

*ขอบคุณข้อมูลจากผู้ใช้พันทิป ล๊อคอินโลกต้องตะลึง 

และสามารถอ่านเรื่องราวละเอียดได้จากลิงค์นี้ https://pantip.com/topic/31924140

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ