วันนี้ในอดีต

15ก.พ.2481น้อมรำลึกทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม เจ้าฟ้าหญิงผู้นำสมัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาววังออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง" แต่บ้างก็ออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม" มีพระพักตร์คล้ายกับชาวตะวันตก และโปรดฉลองพระองค์อย่างสตรีตะวันตก

                วันนี้ของ 80 ปีก่อน คือวันที่ชาวไทยโศกสลด เมื่อต้องสูญเสียเจ้าฟ้าหญิงผู้นำสมัย นายพันเอกหญิง สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ไปด้วยโรคพระวักกะพิการเรื้อรัง ยังความโศกเศร้าแก่คนไทยทั้งประเทศ

                วันนี้ในอดีตจึงขอร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์อีกครั้ง สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ประสูติเมื่อวันที่  16 เมษายน พ.ศ. 2427 เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 43 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

                และยังเป็นพระขนิษฐาร่วมพระมารดาของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารพระองค์แรกของสยาม และเป็นเชษฐภคินีของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

                เมื่อพระชนม์ครบหนึ่งเดือน ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชบิดา พระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี” หากชาววังออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง"

                แต่บ้างก็ออกพระนามว่า "ทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม" เนื่องจากทรงไว้พระเกศายาวประบ่าตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กับมีพระพักตร์คล้ายกับชาวตะวันตก และโปรดฉลองพระองค์อย่างสตรีตะวันตก เรียกได้ว่าทรงนำสมัยมาตั้งแต่วัยเยาว์

 

15ก.พ.2481น้อมรำลึกทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม เจ้าฟ้าหญิงผู้นำสมัย

                แต่เนื่องจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงสูญเสียพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ใน พ.ศ. 2430 พระองค์ทรงปรารภจะมีพระราชธิดา จึงทรงขอประทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี (ขณะพระชนมายุเพียง 4 ชันษา) จากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีให้เป็นพระราชธิดาในปลายปี พ.ศ. 2431 โดยมีนางจันทร์ ชูโต เป็นพระพี่เลี้ยง

                 พระองค์จึงเรียกสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถว่า "เสด็จแม่" และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีว่า "สมเด็จป้า"

                ช่วงปี 2436 ทรงได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชกุมารีที่ตั้งอยู่ในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ร่ำเรียนการวิชามากมาย ขณะเดียวกันก็ยังได้รับการกวดขัน จากสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างสมัยใหม่ ทั้งการศึกษา, การแต่งกาย, แนวคิด และการปฏิบัติพระองค์

                จนทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม มีพระชนม์ 12 พระชันษา พระราชบิดาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี

                ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 พระองค์ได้การสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

                ในรัชกาลนี้ พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศทางทหาร ซึ่งล้นเกล้ารัชการลที่ 6โปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่สอง มีพระยศเป็นนายพันเอก ซึ่งเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์เองก็เคยรับสั่งกับเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ให้จัดงานแบบทหารด้วย โดยรับสั่งว่า "ฉันเป็นทหาร"

                อย่างไรก็ดีในทางหนึ่ง สิ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ พระองค์โปรดปรานฉลองพระองค์กระโปรง และตัดพระเกศาอย่างชาวตะวันตก ทั้งยังทรงเป็นผู้ริเริ่มการนุ่งผ้าถุงเป็นพระองค์แรก โดยการดัดแปลงผ้าซิ่นธรรมดาให้เป็นผ้าถุงสำเร็จเพื่อความสะดวกสบายในการนุ่ง

                นอกจากนี้ พระองค์ถือเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงนำสมัยในเรื่องการแต่งกาย ฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ถือเป็นฉลองพระองค์เจ้านายที่ทันสมัยและเก๋ไก๋ที่สุดในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

                ครั้งหนึ่ง พระพี่เลี้ยงหวน หงสกุล ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความว่า "...ท่านโปรดทรงหนังสือฝรั่ง ทรงรับแมคคาซีนนอก แม้แต่แบบเสื้อก็สั่งนอก แม่ [พระพี่เลี้ยงหวน] ก็เป็นผู้เย็บให้ทรงคนเดียว บางครั้งก็ทรงเลือกแบบเอง แล้วให้ฝรั่งห้างยอนแซมสันตัด แต่เป็นชื่อของแม่ และวัดตัวแม่เอง ไม่ต้องลอง นำไปถวายก็ทรงพอดีเลย ถ้าเป็นเสื้อแม่ ฝรั่งเรียกราคาตัวละ 80 บาท ถ้าเป็นฉลองพระองค์เขาก็เรียกราคาแพงกว่านั้น ต่อมาเมื่อเย็บได้เก่งแล้ว ภายหลังก็ไม่ต้องจ้างฝรั่งเย็บ"

                 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ก็ทรงกล่าวถึงพระองค์ใน เกิดวังปารุสก์ ความว่า "...ทูลหม่อมอาหญิงท่านทั้งงามทั้งเก๋ ข้าพเจ้าชอบไปเฝ้าท่านบ่อย ๆ... "

                พระองค์ไม่โปรดเครื่องประดับชิ้นใหญ่ แม้จะทรงมีเครื่องประดับจำนวนมากก็ตาม แต่โปรดเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ที่เหมาะสมกับฉลองพระองค์ในแต่ละชุด ซึ่งเด็กๆ ในพระอุปถัมภ์ พระองค์ก็ไม่ทรงปล่อยให้เชย หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุลทรงเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อโรงเรียนราชินีมีงานออกร้านขายของนั้น โปรดให้หม่อมเจ้าพิไลยเลขามาช่วยขายของให้เจ้านายต่างประเทศ รับสั่งให้ถอดเครื่องเพชรที่แต่งอยู่ออกให้หมด เหลือเพียงจี้เพชรอย่างเดียว แล้วตรัสว่า "เด็กฝรั่งเขาไม่แต่งเพชรมาก ๆ "

15ก.พ.2481น้อมรำลึกทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม เจ้าฟ้าหญิงผู้นำสมัย

                รวมทั้งนางข้าหลวงของพระองค์ถูกกล่าวถึงว่า "...ไม่มีข้าหลวงตำหนักใดจะสวยเก๋ทันสมัยเท่าข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์..."

                พระราชกรณีกิจที่สำคัญสำหรับประเทศไทย สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเล็งเห็นความสำคัญกับการศึกษาของสตรีไทย เช่น ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ของโรงเรียนราชินี การก่อสร้างโรงเรียนราชินีบน และทรงจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์) เป็นต้น

                และท้ายที่สุดในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพ็ชร์บุรีราชสิรินธร จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

                ช่างน่าเศร้าใจที่เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงมีพระโรคประจำพระองค์ คือ พระวักกะพิการเรื้อรัง (ไตพิการเรื้อรัง) เคยเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดที่ต่างประเทศถึง 2 ครั้ง และพระอาการของพระองค์กลับกำเริบขึ้น จนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 มีพระอาการหนักมากจนน่าวิตก

 

15ก.พ.2481น้อมรำลึกทูลกระหม่อมหญิงแหม่ม เจ้าฟ้าหญิงผู้นำสมัย

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ฉายเมื่อครั้งเสด็จไปรักษาพระอาการประชวร ในยุโรป

                ที่สุด พระองค์สิ้นพระชนม์ที่วังคันธวาส ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 เวลา 23.15 นาฬิกา ด้วยพระอาการสงบ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารตลอดจนผู้ใกล้ชิด นับเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีที่สิ้นพระชนม์

                ในการนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพด้วยพระองค์เอง ซึ่งก่อนหน้านี้สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ไม่เคยเสด็จไปงานพระราชทานเพลิงพระศพพระราชโอรสธิดาพระองค์ใด เนื่องจากคติโบราณที่ห้ามบิดามารดาเผาศพบุตร มิฉะนั้นต้องเผาอีก

                กระทั่ง พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ณ ท้องสนามหลวง

 

//////////////

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ