วันนี้ในอดีต

14 ก.พ.2490รู้จักไหม "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากคำให้สัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงบุญหลง พหลโยธิน ในหนังสือ 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เล่าว่า จิ้งจกในห้องน้ำหล่นลงมาโดนตัว ทำให้พระยาพหลฯตกใจจนล้มลง!

           “เชษฐบุรุษประชาธิปไตย” คนรุ่นใหม่อาจไม่ทราบว่าเป็นสมญานามของใคร

           หากแต่คนไทยยุคหนึ่งจะรู้ดีว่า หมายถึง “พระยาพหลพลพยุหเสนา” หรือเรียกให้เต็มคือ "พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา" อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย

           เป็นบุคคลสำคัญที่คอลัมน์ “วันนี้ในอดีต” ไม่กล่าวถึงไม่ได้!

           และวันนี้เมื่อ 71 ปีก่อน คือวันที่ท่านได้ลาจากโลกนี้ไป คงเหลือไว้แต่วีรกรรมและผลงานทางประชาธิปไตยที่คนไทยจะไม่มีวันลืมเลือน!

           ย้อนประวัติของท่านพอสังเขป พระยาพหลพลพยุหเสนา เดิมชื่อว่า “พจน์ พหลโยธิน” เกิดวันที่ 29 มีนาคม 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร

           เป็นบุตรของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) กับท่านผู้หญิงจับ พหลพลพยุหเสนา สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา

           นอกจากนี้ ท่านยังมีพี่ชายที่รับราชการทหาร มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพหลพยุหเสนาเช่นกัน คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ พหลโยธิน) ยศสูงสุดเป็น พลโท พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี

           ในช่วงวัยต้น ท่านเข้ารับการศึกษาที่ โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม) และย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสุขุมาลวิทยาลัย

           จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียน นายร้อยทหารบก โดยมีผลการเรียนดีมาตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในเมืองโกรสลิสเตอร์ เฟล เด ประเทศเยอรมนี

           ศึกษาอยู่ 3 ปี ต่อจากนั้นได้เข้าประจำอยู่ในกองทัพบกเยอรมัน สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 ในปี พ.ศ. 2455 ได้เดินทางไปศึกษาต่อวิชาช่างแสงที่ประเทศเดนมาร์ก

           แต่โชคร้าย ท่านเรียนได้ปีเดียว ถูกเรียกตัวกลับเนื่องจากเงินทุนการศึกษาไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

           อย่างไรก็ดี ที่สุด พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้กลับมารับใช้ชาติในฐานะชายชาติทหาร โดยก้าวหน้าได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวง” และ “พระ” ตามลำดับ ในราชทินนามเดียวกันว่า “สรายุทธสรสิทธิ์”

           กระทั่งได้เป็นนายพันเอก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 (บางตำราว่าวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471)

           ต่อมา วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวร

14 ก.พ.2490รู้จักไหม "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย"

           กระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” มีราชทินนามเดียวกับบิดา!

           แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นเองในปี 2475 ดูเหมือนว่า จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ท่านได้กลายมาเป็น “เชษฐบุรุษประชาธิปไตย”

           โดยวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านได้เป็นหัวหน้า “คณะราษฎร” ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

           โดยข้อมูลระบุว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ (อีก 3 คน ได้แก่ พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น))

           ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้สั่งเสียไว้กับภรรยา (ท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา) ว่า หากทำการมิสำเร็จและต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิตแล้ว ขอให้คุณหญิงจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า “การที่คิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย” และฝากให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีด้วย

           ก่อนออกจากบ้านไป มุ่งหน้าไปทำภารกิจที่ตั้งใจไว้ จนสำเร็จและท่านจึงได้รับสมญานาม "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย”

           แต่แล้วท่านตัดสินใจเข้าสู่การเมือง โดยทำรัฐประหาร "พระยามโนปกรณนิติธาดา" (ก้อน หุตะสิงห์) เมื่อัวนที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

           แต่หลังจากนั้น การทำหน้าที่ของท่านไม่ราบรื่น เนื่องด้วยประสบกับปัญหาหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งการสงคราม ที่กำลังจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ขึ้น

           ส่งผลทำให้ท่านต้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 3 สมัย จากนั้นก็ลงจากตำแหน่ง แล้วเข้ามาเป็นรัฐมนตรีอีก 2 กระทรวง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2477 รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2478 จากนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง ท่านก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ 4 โดยนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ 

           หลังจากนั้น ก่อนจะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 และลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 และยุติบทบาททางการเมืองไป ซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ก็คือ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายทหารรุ่นน้องที่ท่านรักและไว้ใจนั่นเอง

           พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับพระราชทานวังปารุสกวัน จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่พำนัก แม้ถึงตอนที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งท่านได้ใช้ที่นี่เป็นที่พำนักพักอาศัยตราบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

           ชีวิตผ่านช่วงเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายทางการเมือง ที่สุด พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาตเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2488 เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก

           แต่ด้วยความสามารถของนายแพทย์และด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง ท่านได้ต่อสู้โรคร้ายมาตลอดราว 2 ปีเศษ จนเมื่อเวลา 21.40 น. ของคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2490 อาการทรุดลงตามลำดับ จนถึงเวลา 3.05 น. ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยวัย 60 ปี

           รู้กันว่า งานศพของท่านทางครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอที่จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ จนทางรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ต้องเข้ามารับอุปถัมภ์ จัดการงานพระราชทานเพลิงให้ท่านแทน

           ศพของพระยาพหลฯได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วังปารุสกวันและพระราชทานเพลิงศพที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2490 ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอยู่จำศีลภาวนาเมื่อคราวอุปสมบท

            อนึ่ง ว่ากันว่า วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ภายหลังที่ประเทศไทยประกาศสันติภาพได้ 5 วัน พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (ขณะนั้นเป็นแม่ทัพใหญ่และแม่ทัพบก) ได้ประสบอุบัติเหตุล้มในห้องน้ำ เนื่องจากจิ้งจกในห้องน้ำหล่นลงมาโดนตัว ทำให้พระยาพหลฯตกใจสุดขีดจนล้มลงบนพื้น (พระยาพหลฯเป็นคนเกลียดจิ้งจก) เป็นผลให้เส้นเลือดในสมองแตกและกลายเป็นอัมพาต ภายหลังได้รักษาโรคอัมพาตอยู่เป็นเวลา 2 ปี จึงได้ถึงแก่อสัญกรรม

            ทั้งนี้ กรณีที่จิ้งจกตกใส่พระยาพหลฯ มาจากคำให้สัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงบุญหลง พหลโยธิน ในหนังสือ 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา "เชษฐบุรุษ" 29 มีนาคม 2541

           แต่หากใครติดตามประวัติศาสตร์ จะรู้ว่าท่านมีคติประจำใจว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชาย ต้องไว้ชื่อ”

           วันนี้ ชื่อของท่านยังคงอยู่ ในเอกสารต่างๆ รอให้คนรุ่นหลังไปศึกษา!

///

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ