วันนี้ในอดีต

“คุมกำเนิด” หลักสูตรนอกที่ตั้ง ขุมทรัพย์อธิการบดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อทุกสถานที่่เป็นห้องเรียนได้ ขอเพียงทั้งผู้เรียนและผู้สอนสะดวกสะบาย อาคาร ห้องแถว หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าก็เป็นที่ทำการเรียนการสอนหลักสูตรนอกที่ตั้งได้

 

         “เรียนไปก่อน รับรองหลักสูตรภายหลัง”กลายเป็นแฟชั่นยอดนิยมของบรรดา“อธิการบดี”มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน ต่างพาเหรดผุดหลักสูตรแปลกประหลาดๆผ่านการประโคมโฆษณา ไม่ต่างอะไรกับสินค้าราคาถูก แต่เมื่อเรียนจบมีดีกรีพ่วงท้าย

          10 ปีของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หลังเข้าสู่โครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี2546 ช่วงเวลาที่สารพัดหลักสูตรกำลังบ่งบาน อาจารย์มีรายได้ดีจากการ “วิ่งรอกสอน” ขณะที่ “อธิการบดี”แต่ละมหาวิทยาลัยต่างร่ำรวยอู้ฟู้ ในฐานะที่ปรึกษาหลักสูตร

          ที่ปรึกษาหลักสูตรมหาวิทยาลัยบางแห่งรับค่าตอบแทนหลักสูตรละ " 2-5 หมื่นบาท" บางมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรพิเศษสอนนอกที่ตั้งกว่า 100 หลักสูตร บางแห่งมีจำนวนถึง 400-500 หลักสูตร คิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาล แต่เงินเหล่านี้เข้ากระเป๋าประธานหลักสูตร กรรมการหลักสูตร และที่ปรึกษาหลักสูตร เรียกได้ว่าเป็น“ขุมทรัพย์”ที่หล่อเลี้ยงผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องส่งกระทรวงการคลัง ไม่นับรวมเม็ดเงินที่หารายได้จากการรับจ้างทำงานวิจัยจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เแต่ทั้งหมดนี้เดินสวนทางกับ“คุณภาพบัณฑิต"

           จนเกิดกระแส “จ่ายครบจบแน่” ผู้เรียนแค่เพียงมีเงินจ่ายก็สามารถเรียนจบได้อย่างง่าย แต่บัณฑิตเรียนจบแล้วกลับพบว่าหลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรอง นั่นหมายถึงเกิดความสูญเปล่าทางการศึกษา ทำให้เกิดการร้องเรียนไปค่อนประเทศ ประชาชนคนยากไร้ตามไม่ทัน “ธุรกิจการศึกษา” ตกเป็น “เหยื่อ” เพราะบางหลักสูตร เปิดสอนไม่กี่ปีก็ “ปิดหลักสูตร” ไปซะงั้น!!

         กระทรวงศึกษาธิการ ถูกมองว่าเป็นแค่ “เสือกระดาษ” ให้คุณให้โทษสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรนอกที่ตั้งชนิด “เถื่อน” ไม่ได้ จนนำไปสู่ความพยายามที่จะ “ล้อมคอก”หลักสูตรนอกที่ตั้ง  ด้วยการใช้มาตรการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของ“หลักสูตร”ที่ไม่่ผ่านการรับรอง

           ฮือฮา!! เมื่อวันนี้ในอดีต 11 ก.พ.2556 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาบอร์ดคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ออกมาเผยต่อสาธารณชนว่ามีหลักสูตรนอกที่ตั้งจาก 285 หลักสูตร แต่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาถึง 186 หลักสูตร

             "รศ.นพ.กำจร ตติยกวี" รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) บอกว่าในการประชุมบอร์ดกกอ.ที่ประชุมพิจารณาสรุปผลการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ปีงบประมาณ 2555 ซึ่งได้ประเมินไปแล้วระหว่าง วันที่ 14 ก.พ. ถึง 30 พ.ย.2555 จำนวน 43 สถาบัน 110 ศูนย์ 285 โดยมีหลักสูตรที่ผ่าน 35 หลักสูตร ต้องปรับปรุง 64 หลักสูตร และไม่ผ่าน 186 หลักสูตร โดย สกอ. จะได้นำรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านและอยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศผ่านเว็บไซต์ www.mua.go.th เพื่อให้ประชาชนและผู้เรียนสามารถตรวจสอบได้ สำหรับหลักสูตรที่ไม่ผ่านการประเมินนั้น จะต้องงดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2556

          จำนวนหลักสูตรนอกที่ตั้งที่ไม่ผ่านการรับรอง นำไม่สู่มาตรการ “คุมกำเนิด” เมื่อบอร์ดกกอ.ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ... โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญให้การจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งจะต้องเป็นการจัดการศึกษาในหลักสูตรเดิมที่ได้เปิดสอนในสถานที่ตั้งแล้วและเป็นหลักสูตรที่ กกอ.รับทราบโดยต้องมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว 

         ไม่เพียงเท่านั้นจะต้องเป็นหลักสูตรในสถานที่ตั้งที่มีผลประเมินคุณภาพภายในรวมทุกองค์ประกอบอยู่ในระดับดีมาก และมีผลการประเมินภายในองค์ประกอบด้านผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัยไม่ต่ำกว่าระดับดี และต้องเป็นหลักสูตรที่มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกในภาพรวมระดับดีมาก และมีผลการประเมินภายนอกด้านคุณภาพบัณฑิตและด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่าระดับดี 

          3 ปีต่อมาราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ได้เผยแพร่กฎกระทรวงการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาเอกช นพ.ศ. 2559 มีผลให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับปีพ.ศ. 2551 เนื่องจากการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎกระทรวง ปีพ.ศ. 2551 ไม่ได้มาตรฐานการอุดมศึกษา การผลิตบัณฑิตไม่สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งเสียใหม่ เพื่อให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ

        สาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้ ต้องมิใช่หลักสูตรปริญญาเอก, เป็นสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ, เป็นสาขาวิชาที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีความเชี่ยวชาญ, เป็นหลักสูตรเดียวกับที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ได้รับทราบและได้เปิด สอนในสถานที่ตั้งแล้ว โดยมีผู้จบแล้วอย่างน้อยหนึ่งรุ่น และยังคงจัดอยู่ในสถานที่ตั้ง, เป็นหลักสูตรที่ได้เปิดสอนในสถานที่ตั้งที่มีผลประเมินคุณภาพภายในระดับ หลักสูตรในระดับดีขึ้นไป ซึ่งประเมินโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการการ อุดมศึกษา(สกอ.) และมีผลประเมินคุณภาพภายนอกระดับคณะวิชา

          โดยให้ใช้ผลการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสุดท้ายของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จาก 3 ส่วน คือ ผลประเมินภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก, ด้านคุณภาพบัณฑิตและด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ ไม่ต่ำกว่าระดับดี, มีอาจารย์ประจำหลักสูตรและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรซึ่งมีคุณวุฒิและคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร, จัดสิ่งสนับสนุนทางการศึกษาที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับการจัดการศึกษาในสถาน ที่ตั้ง, จัดให้มีคำปรึกษาทางวิชาการ การแนะแนวอาชีพ การจัดบริการสวัสดิการนักศึกษาและบริการด้านอื่นให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับ การจัดการศึกษาในสถานที่ตั้ง, มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ, มีระบบบริหารงานบุคคล ระบบการเงิน และระบบทะเบียนนักศึกษาที่เป็นระบบเดียวกับการจัดการศึกษาในสถานที่ตั้ง และสามารถตรวจสอบได้ และจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานครบถ้วนตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรและกรอบ มาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของกระทรวง ศึกษาธิการ(ศธ.)

         ส่วนการยื่นคำขอในการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง เมื่อสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเห็นชอบแล้ว ให้อธิการบดียื่นคำขอต่อสกอ.พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ถ้าเอกสารไม่ครบถ้วน ให้สกอ.แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบใน 7 วันและแก้ไขให้ถูกต้องใน 30 วัน จากนั้นกกอ.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน กรณีจำเป็น ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน ส่วนกรณีที่ปรับปรุงแล้ว กกอ.มีมติไม่อนุญาตให้จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ให้สกอ.แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 7 วัน 

        กรณีที่ได้รับอนุญาต สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องเริ่มจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งภายในระยะเวลาไม่ เกินวันเริ่มต้นปีการศึกษาถัดไปนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต และแจ้งให้สกอ.ทราบภายใน 15 วัน กรณีที่ไม่สามารถจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งได้ภายในเวลาที่กำหนด ให้ทำเรื่องขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละหนึ่งภาคการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งต้องรายงานผลและรายชื่อ นักศึกษาต่อสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและสกอ.ภายใน 60 วันนับแต่วันที่สิ้นสุดปีการศึกษาและต้องเปิดเผยรายงานผลการจัดการศึกษาต่อสาธารณชน

          เมื่อสกอ.ตรวจสอบและประเมินการจัดการศึกษา พบว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงนี้ ให้เสนอ กกอ.พิจารณาสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ส่วนกรณีจะเลิกจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ให้ทำหนังสือยื่นต่อสกอ.พร้อมทั้งเหตุผลและแผนการจัดการศึกษาของนักศึกษาที่ เหลืออยู่ก่อนสิ้นปีการศึกษาไม่น้อยกว่า 3 เดือน เมื่อได้รับอนุญาตจาก กกอ.แล้วจึงจะเลิกการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งได้

          “สำหรับสถาบัน อุดมศึกษาเอกชนที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้ บังคับ ให้จัดต่อไปสำหรับหลักสูตรที่มีผลประเมินในระดับผ่านจากการตรวจของสกอ. โดยให้จัดได้เป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กกอ.มีมติรับทราบผลประเมินนั้น ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับโดยอยู่ระหว่างการปรับปรุง ให้จัดต่อไปพลางก่อน เมื่อได้ปรับปรุงแล้ว ให้สกอ.ตรวจประเมินอีกครั้ง หากผ่าน ให้จัดได้เป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กกอ.มีมติรับทราบผลประเมินนั้น ในกรณีที่ไม่ปรับปรุงภายใน 1 ภาคการศึกษานับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการประเมินจากสกอ.หรือไม่ผ่าน การประเมิน ให้สกอ.เสนอกกอ.พิจารณาสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง

         ส่วนสถาบันที่จัดนอกสถานที่ตั้งอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ โดยยังไม่ได้รับการตรวจประเมินจากสกอ. ให้จัดต่อไปพลางก่อน และให้สกอ.ตรวจประเมิน หากผ่าน ให้จัดได้เป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กกอ.มีมติรับทราบผลการประเมิน กรณีที่ผลการประเมินต้องปรับปรุง เมื่อได้ปรับปรุงแล้ว ให้สกอ.ตรวจประเมินอีกครั้ง หากผ่าน ให้จัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งได้เป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กกอ.มีมติรับทราบผลการประเมินนั้น” ราชกิจจานุเบกษา ระบุ

         ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำของวันที่วันที่ 16 มกราคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ยุค"ดร.สุภัทร จำปาทอง"เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)ได้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรจากการประเมินการประกันคุณภาพภายในระดับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด และในกำกับของ สกอ. ในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ขึ้นเว็บไซต์ www.mua.go.thตามที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีมติให้เผยแพร่หลักสูตรที่ไม่มีมาตรฐาน 182 หลักสูตร จากที่เปิดสอน จำนวน 9,099 หลักสูตร ในสถาบันอุดมศึกษา 40 แห่ง

   ณ วันนี้ หลักสูตรนอกที่ตั้งต้อง “ปิด”จำนวนมาก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง  และมีแนวโน้มว่าโลกของการเรียนรู้เข้าสู่โลกออนไลน์ ควบคู่ไปกับการเรียนแบบออฟไลน์ที่นับวันจะน้อยลง

    ——-//——- 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ