วันนี้ในอดีต

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ช่างแตกต่างกับบางคน เพราะหมอบุญส่งถือเป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทยอย่างแท้จริง!!!

                เพื่อให้จด จำ และตอกย้ำ!! มากกันเข้าไปอีกสำหรับความสูญเสียชีวิตสัตว์ป่าผู้บริสุทธิ์ จากข่าวคนใหญ่เข้าป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแล้วไปฆ่าสัตว์ป่าสงวนมากมายหลายชีวิต!!

                วันนี้ในอดีต ขอนำผู้อ่านย้อนความทรงจำกับ ชีวประวัติและเรื่องราวของบุคคลที่เป็นอีก “หนึ่งตำนาน” เพื่อทุกชีวิตในพงไพร อย่าง นพ.บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งวันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน ท่าได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยวัย 85 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลมเหสักข์ กรุงเทพมหานคร

 

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

 

                น.พ.บุญส่ง เกิดที่บ้านบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และมัธยมศึกษาปีที่ 8 ที่กรุงเทพ จากโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2467 จากนั้นไปสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2476

                อย่างไรก็ดี หลายคนรู้ดีว่าท่าน นอกจากจะเป็นแพทย์แล้ว ท่านยังมีความชอบและความสามารถหลากหลาย ทั้งช่างภาพ จิตรกร นักเขียน และอาจารย์

                แต่ที่มีชื่อเสียงมากคือ ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย เนื่องจากท่านชื่นชอบและหลงใหลการเดินป่าเป็นอันมาก หากแต่เป็นการเดินป่าเพื่อชื่นชมความงามตามจิตวิญญาณนักอนุรักษ์หาใช่การเข้าไปเพื่อทำทารุณกรรมกับสัตว์ป่าไม่!

                ตามประวัติเล่าว่า ผลพวงหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วงปีพ.ศ. 2484 - 2488 คือ สัตว์ป่าถูกล่า ฆ่าอย่างครึกโครม เนื่องจากหลังสงครามมีรถจี๊ปเหลือใช้ และปืนก็หาซื้อได้ง่าย

                และการล่าสัตว์เปลี่ยนไปใช้สปอตไลต์ส่องยิงสัตว์ ยิงโดยไม่เลือกว่าเป็นตัวผู้ ตัวเมียหรือลูกน้อย เกิดการทำลายล้างสัตว์ป่าอย่างกว้างขวาง

                น.พ.บุญส่งและคณะนักนิยมไพร ซึ่งส่วนใหญ่เคยเที่ยวป่ามาก่อน จึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "นิยมไพรสมาคม" ขึ้น ในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยน ติดตามสถานการณ์และทำการรณรงค์ด้านป่าไม้และสัตว์ป่า โดยที่ทำการของนิยมไพรสมาคมนั้นคือที่บ้านขอท่านเอง ตรอกโรงภาษีเก่า ถนนเจริญกรุง ที่ทำการนิยมไพรสมาคมนั้นเป็นห้องโถงใหญ่

                ในปี พ.ศ. 2497 หมอบุญส่ง ได้นำประสบการณ์จากการเที่ยวป่าและสังเกตพฤติกรรมสัตว์ มาเขียนเป็นหนังสือได้แก่เรื่อง สัตว์ป่าเมืองไทย, วัวแดง, แรดไทย, เนื้อสมัน, สิงห์โต, ยีราฟ, ม้าลาย, ฮิปโปโปเตมัส, และช้างไทย

 

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

เครดิตภาพจากผู้ใช้เวบไซต์พันทิป ยุง บิน ชุม

                ต่อมาท่านได้ริเริ่มออกนิตยสาร นิยมไพรสมาคม ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนเมษายน 2501 ซึ่งในหน้าแรกของนิตยสารทุกเล่ม จะเขียนว่า "นิยมไพร" เป็นหนังสือรายเดือน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหล่าสัตว์ป่า

                ส่วนงานเขียนที่เป็นนวนิยาย ที่อิงจากชีวิตจริงของสัตว์ป่า และสร้างชื่อเสียงให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก คือเรื่อง "ชีวิตฉันลูกกระทิง" ซึ่งเคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในนิตยสาร ชัยพฤกษ์

 

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

 

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

เครดิตภาพจากผู้ใช้เวบไซต์พันทิป ยุง บิน ชุม

 

                เมื่อพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียน ต่อมาได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่านในโครงการวิจัยของ สกว. และเป็น 1 ใน 500 หนังสือดีของเด็กและเยาวชน ของสมาพันธ์องค์กรเพื่อการพัฒนาหนังสือฯ

               นอกจากนี้ นอกจากจะเขียนเองแล้ว ในช่วงแรกๆ ท่านยังวาดภาพประกอบเองอีกด้วย

 

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

เครดิตภาพจากผู้ใช้เวบไซต์พันทิป ยุง บิน ชุม

                ในงานเขียนของ น.พ.บุญส่ง นั้น บ่อยครั้งจะสอดแทรกอารมณ์ขันหรือเหน็บแนมกระทุ้งเตือนผู้มีอำนาจ อย่างในงานเขียนเรื่อง ความรักของแม่กวาง ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร "นิยมไพร" ฉบับปฐมฤกษ์ เนื้อความตอนหนึ่งว่า

                "ผู้แทนราษฏรชุดปัจจุบันนี้ จะมีน้ำจิตน้ำใจอย่างไรกันบ้าง ผมยังไม่ทราบดี" ข้าพเจ้าตอบ "ผมเคยพบแต่ผู้แทนราษฏรชุดสมัยรัฐบาลเก่า บางคนท่านก็ดีมาก เห็นใจพวกสัตว์ป่าและทรัพยากรของชาติที่กำลังทรุดโทรมแหลกลาญลง แต่ส่วนมากละก็เหลือรับทีเดียว”

                “ ส่วนมากถือว่าตัวเองเป็นผู้แทนของราษฏร ไม่ใช่ผู้แทนของสัตว์ป่า ราษฎรเป็นผู้เลือก สัตว์ป่าไม่ได้เลือกเขา ฉะนั้นการที่จะไปร้องขอให้เขาออก พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ให้คนฆ่าน้อยลงกว่าเดิม จะไปขอไม่ให้ยิงสัตว์ตัวเมียหรือลูกเล็กเด็กแดงนั้น เขาถือว่าเป็นการไปตัดสิทธิ์ของราษฎร เขาจึงปฏิเสธไม่ยอมช่วยด้วย เขาคงเกรงไปว่าอาจจะเสียเสียงจากบางคนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เขาจึงไม่สนใจที่จะช่วยเหลือในเรื่องเหล่านี้เลย"

9 ก.พ.2535 รำลึก”หมอบุญส่ง” ชีวิตเพื่อพงไพร ตัวจริง!

เครดิตภาพจากผู้ใช้เวบไซต์พันทิป ยุง บิน ชุม

 

                ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 น.พ.บุญส่ง เลขานุการนิยมไพรสมาคม และคณะกรรมการนิยมไพรสมาคมจำนวนหนึ่ง ได้เข้าพบปะกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งจอมพลสฤษดิ์และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามข้อเสนอ จึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 (ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2535)

                และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศป่าขนาดใหญ่หลายแห่งให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาทิ ป่าเขาใหญ่ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2505 ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2508 และป่าอีกหลายแห่งให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว

                นอกจากนี้ น.พ.บุญส่งและสมาชิกนิยมไพรสมาคม ยังได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ. 2526

                สิ่งต่างๆ ที่ท่านได้กระทำเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่  ช่างนับเป็นประโยชน์ต่ออนุชนคนรุ่นหลัง โดยแม่ท่านจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ผลงานและเรื่องราวของท่านจะได้รับการกล่าวขานไปตราบนานเท่านาน

             ขอไว้อาลัยให้กับสัตว์ป่าผู้บริสุทธิ์ทุกชีวิต!!

 

/////

ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

และภาพสวยๆ จากผู้ใช้เวบไซต์พันทิป ยุง บินชุม

และอ่านเรื่องได้จากลิงค์นี้ http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2006/02/E4093865/E4093865.html

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ