วันนี้ในอดีต

6 ก.พ.2553 “เรามีผู้นำพอแล้วหรือยัง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับว่า มีความทันสมัย เข้ากับบรรยากาศบ้านเมืองเวลานี้อยู่พอสมควร!! เมื่อป๋าเปรม ปาฐกถาพิเศษ ถามหา"ผู้นำเพื่อสังคมธรรมาธิปไตย"

           ที่จริงสำหรับคนไทยแล้ว การปาฐกถาพิเศษของ พล..เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ถือเป็นเรื่องคุ้นเคยที่มีอยู่สม่ำเสมอ ในวาระสำคัญต่างๆ ในหลากหลายองค์กร และแต่ละครั้ง ก็จะมีข้อคิด ข้อควรทบทวน ให้พวกเราได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป

           แต่กับครั้งที่เกิดขึ้นของวันนี้ เมื่อ 8 ปีก่อน หรือวันที่ 6 ..2553 ก็ถือเป็นครั้งที่ควรค่าแก่การนำมาเล่าสู่กันฟัง หรือนำเสนออีกครั้ง

           เพราะมีความทันสมัย เข้ากับบรรยากาศบ้านเมืองเวลานี้อยู่พอสมควร!!

           โดยวันนั้นนั้น พล..เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ในงานประชุมวิชาการว่าด้วย นวัตกรรมผู้นำระดับครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "การพัฒนาผู้นำเพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย" มีใจความโดยสรุปว่า

           พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำนิยาม ธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความถูกต้องเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสังคมธรรมาธิปไตย ต้องเป็นสังคมที่น่าอยู่ น่ารื่นรมย์ น่าศรัทธา ใครๆก็อยากเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมนั้น ผู้นำของสังคมจะมีความสะดวกสบายในการนำและพัฒนาสังคม เพราะสังคมนั้น ยึดถือธรรม ยึดถือความถูกต้อง เป็นปัจจัยเกื้อหนุน”

           เวลาเราพูดถึงคำว่าธรรม จะมีการพูดถึงคุณธรรม และจริยธรรม โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยให้คำอธิบายที่น่าสนใจ โดยรวมควรพูดว่าจริยธรรม ประกอบด้วยคุณธรรมคือธรรมที่เป็นคุณและศีลธรรม คือธรรมที่เป็นข้อห้ามเช่นศีล 5 ซึ่งเป็นคำอธิบายที่มีเหตุผล”

           เมื่อพูดถึงผู้นำตนถามตัวเองว่า เราจะได้ผู้นำมาโดยวิธีใด ตอบก็คือเราจะได้ผู้นำมาโดยการสร้าง มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางคน ที่โชคดีที่มีลักษณะผู้นำติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งข้อยกเว้นนี้มีน้อยมาก และผู้โชคดีที่มีลักษณะผู้นำติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้น ก็ใช่ว่าจะครบถ้วนสมบูรณ์ จำเป็นต้องสร้างเพิ่มเติมอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ในสถาบันการศึกษาจึงมีหลักสูตรวิชา ลักษณะผู้นำ ในสถาบันการศึกษาทางทหารให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะผู้นำทางทหารเกี่ยวข้องกับชีวิตคน”

           พล..เปรม กล่าวอีกว่า เมื่อมีผู้นำต้องมีผู้ตาม ผู้นำคนใดดีมากๆจะมีคนตามมาก เหมือนคนมีเสน่ห์ซึ่งมีแต่คนอยากอยู่ใกล้ ถ้าในชาติบ้านเมืองของเราสามารถสร้างสังคมธรรมาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริง คนไทยจะมีความสุข มีความเป็นธรรม และได้รับความเป็นธรรม เพราะสังคมนั้นคนไทยจะถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความถูกต้องเป็นหลัก เชื่อว่าความใฝ่ฝันของมหาวิทยาลัยมีความเป็นได้สูง หากทำสำเร็จประเทศไทยจะมีสังคมที่เป็นแม่แบบแห่งคุณงามความดี ชาติบ้านเมืองจะสงบและเป็นปกติสุข

           ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ เรามีผู้นำหรือยัง มีพอหรือยัง ผู้นำเหล่านั้นเข้าใจสังคมธรรมาธิปไตยหรือยัง มีความพร้อมที่จะร่วมกันสร้างสังคมธรรมาธิปไตยแล้วหรือยัง เราจำเป็นต้องสร้างผู้นำ เพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย”

           ซึ่งประเด็นนี้ตนขอเสนอความเห็นส่วนตัวว่า 1. ขณะนี้เรามีผู้นำแล้ว มีจำนวนมากมาย อาจจะกล่าวได้ว่ามากเกินพอ ในบ้านเมืองของเรามีคนจำนวนมากอาสาเป็นผู้นำ อยากทำตัวเป็นผู้นำ แต่มีเสน่ห์น้อย จึงไม่ค่อยมีคนอยากเป็นผู้ตาม จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะจัดให้มีการคัดสรร สรรหาผู้นำที่มีเสน่ห์ที่คนอยากตามหรือแย่งกันตาม เมื่อสรรหาได้แล้วจึงนำมารวมกันเพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย”

           “2. สังคมธรรมาธิปไตยเป็นคำที่เข้าใจง่าย แต่ผู้นำที่เรามีอยู่มากมาย ชอบและอยากมีสังคมนี้หรือไม่ เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองจริงหรือไม่ รับได้หรือไม่ หรือรับได้แต่ไม่ชอบ ไม่ประสงค์นำไปใช้เพราะไม่สอดคล้องกับแนวทางความสำเร็จของตน ของญาติและกลุ่มคนของคน ถ้าเป็นปัญหาอย่างนี้ตกเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ต้องออกแรงมากหน่อยเพื่อขายความคิดให้สังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งทั้ง 2 ข้อเป็นงานยาก งานหนัก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้ ความฝันของมหาวิทยาลัยจึงประสบความสำเร็จ”

           ผู้นำในองค์กรต่างๆทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชน บทบาทของผู้นำก็จะคล้ายกันมาก ผิดกันก็เฉพาะแต่การนำไปใช้ มีสิ่งที่จะเป็นตัวแปรบทบาทของผู้นำแต่ละประเทศแต่ละทวีป คือ วัฒนธรรมและจารีตประเพณี ในประเทศเรา ที่เห็นได้ชัดคือความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อน ความเป็นผู้มีพระคุณ เป็นปัจจัยทำให้ผู้นำในชาติของเราแตกต่าง บางกรณีมีผลถึงเสียหลักความยุติธรรมและหลักนิติรัฐ”

           อย่างไรก็ตาม โดยหลักการพื้นฐานสำคัญ ผู้นำที่จะร่วมมือสร้างสังคมธรรมาธิปไตย ต้องเป็นคนดี พอพูดถึงคำว่า คนดี ต้องมีคำถามทั้งน่าสนใจและน่าเวียนศีรษะว่า คนดีเป็นคนอย่างไร”

           โดยความเชื่อส่วนตัวผมถือว่า ถ้าเราจะยกย่องชมเชยใครสักคนว่าเป็นคนดีผู้นั้นอย่างน้อยที่สุดต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1. ต้องเข้าใจและสามารถแยกแยะความดีกับความชั่วออกจากกันได้อย่างชัดเจน และเที่ยงธรรม 2. ต้องซื่อสัตย์สุจริตและต้องดูแลผู้เกี่ยวข้องผู้ร่วมงานให้สุจริตด้วย”

           “3. ต้องเสียสละและสอนให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมงานรู้จักเสียสละ 4. ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องให้ผู้เกี่ยวข้องผู้ร่วมงานเคร่งครัดในคำปฏิญาณ 5.ต้องประพฤติและปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี 6. ต้องเข้าใจว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์แผ่นดิน และความเป็นปกติสุขของคนไทย ดังนั้นการสรรหารผู้นำที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นเร่งด่วน”

           การทำความดีนั้นยากยิ่ง แต่การรักษาความดีให้ดำรงอยู่คู่กับเราไปชั่วนิรันดร์ยิ่งยากกว่ามาก หลายคนที่ทำความดียาวนานแต่ในที่สุดก็ไม่สามารถดำรงความดีนั้นไว้ได้ บทบาทของผู้นำทหารมีข้อแตกต่าง เพราะความเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั้งในยามปกติ ยามไม่ปกติ และยามสงคราม กองพลทหารราบและกองพลทหารม้า มีกำลังพบประมาณหนึ่งหมื่นคน อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองพลคนเดียว คงพอจินตนาการได้ว่าด้วยเหตุผลอย่างไร ผู้นำทางทหารจึงมีบทบาทแตกต่างออกไป”

///

           อนึ่ง ขณะนั้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่กล่าวในวันนั้นแต่ประการใด 

           หากแต่น่าสนใจว่า เมื่อนำเนื้อหาในวันนั้น มาสะท้อนกับเหตุการณ์บ้านเมืองในวันนี้ ก็ควรค่าที่หลายคนจะนำคำกล่าวทั้งหมดนี้ ไปพิเคราะห์กันดู ทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อไปสู่คำว่า “สังคมธรรมาธิปไตย” อย่างแท้จริง!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ