วันนี้ในอดีต

“นิด้า”ชี้หลังเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ไม่เกิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤตการณ์การเมืองไทยในช่วงที่"ยิ่งลักษณ์"เป็นนายกฯและรมว.กลาโหมแถลงทางโทรทัศน์ว่า เธอขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556

 

         กระแสต่อต้านเพิ่มทวีคูณ เมื่อ ลุงกำนัน “สุเทพ เทือกสุบรรณ”ผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลภายใต้กลุ่มผู้ชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)ประกาศลั่นว่า การประท้วงจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง รวมทั้งการจัดตั้ง “สภาประชาชน”ที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง เขากล่าวว่า “การยุบสภาไม่ใช่เป้าหมายของเรา”ขณะที่“ยิ่งลักษณ์”ยังกล่าวว่าเธอจะไม่ลาออกก่อนหน้าการเลือกตั้งเพราะภายหลังยุบสภารัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง) กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

         ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศยุบสภา กปปส. นำโดย”นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้เดินขบวนเคลื่อนไหวปิดล้อมสถานที่ราชการต่าง ๆ และเรียกร้องให้“รัฐบาลยิ่งลักษณ์”ลาออกมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งเหตุผลสำคัญ คือ รัฐบาลทรยศประชาชนด้วยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง

         ในช่วงรอยต่อก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง “2 ก.พ.2557” กลุ่ม กปปส. ได้เรียกร้องให้มวลมหาประชาชน และประชาชนซีกที่ต่อต้านรัฐบาล ให้ล้มการเลือกตั้งในครั้งนี้เนื่องจากต้องการให้มีการ “ปฏิรูปประเทศ” ก่อนเลือกตั้ง และจัดตั้ง “สภาประชาชน” และ “รัฐบาลประชาชน” แทน

         ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พาเหรดกันออกมาประกาศว่าจะ “บอยคอต” การเลือกตั้งในครั้งนี้

       ว่ากันว่า ในช่วงที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดรับผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นหลายเหตุการณ์ เนื่องจากมีกลุ่มมวลชนที่ไม่เอาการเลือกตั้งมาปิดล้อมสถานที่ ส่งผลให้ยังมีอีก 28 เขตเลือกตั้งที่ยังไม่มีผู้เข้ามาสมัครเป็น ส.ส. ได้ จนกระทั่งวันที่จับสลากเบอร์ผู้สมัครเลือกตั้ง ก็เกิดเหตุการณ์ปะทะนองเลือดขึ้นที่สนามกีฬาไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง

       ขณะเดียวกัน กกต. ก็ออกมาประกาศว่า“ยังไม่พร้อม”ที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 อีกด้วย พร้อมกันนี้ กกต.“หนังสือลับ” ถึง “น.ส.ยิ่งลักษณ์” เพื่อขอให้พิจารณาการเลื่อนเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไปก่อนเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูงที่เงินจำนวน 3.8 พันล้านบาท จะเกิดความสูญเปล่า ไม่ประหยัด ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า อันเนื่องมาจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมิได้ผลตามเป้าหมายของการเลือกตั้ง ส.ส. และอาจจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

         แต่“รัฐบาลยิ่งลักษณ์”ก็ยังยืนยันที่จะจัดเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต่อไป และในวันดังกล่าวก็เกิดเหตุมีกลุ่มมวลชน และกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส. ออกมาปิดล้อมคูหาเลือกตั้งอีกครั้ง และเกิดการปะทะกับผู้ต้องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งอีกระลอก โดยเหตุการณ์คราวนี้เป็นไปอย่างรุนแรง และจบลงด้วยมีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นฝ่ายมวลชนของ กปปส. 1 ราย

       วันนี้ในอดีต 3 ก.พ.2557 “นิด้า” ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 รัฐบาลใหม่ไม่เกิด หวั่นกระทบการพัฒนาประเทศ พร้อมเสนอทางออกแก้ปัญหาประเทศ เห็นควรมีรัฐบาลเพื่อการปฎิรูปประเทศ แก้ปัญหาวิกฤตชาวนา เคารพผลการเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงความรุนแรง แนะรัฐบาลรักษาการคืนข้าวบวกเงินแก่ชาวนาและควรยอมรับความจริงได้แล้ว

       เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2557 ที่อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) แถลงข่าวเรื่อง “นิด้า ผ่าทางตัน วิกฤตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง”นำโดย ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวถึงผลสรุปหลังการเลือกตั้ง-วิเคราะห์ปัญหา-แนวทางแก้ไขในมุมมองของนิติศาสตร์ ตอนหนึ่งว่าผลจากการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มเป็นโมฆะ ไม่มีทางทำให้เกิดอำนาจของสภานิติบัญญัติใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งเมื่อไม่มีสภาฯใหม่ ก็ไม่มีรัฐบาลใหม่ 

        ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา181 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180(2) คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังต่อไปนี้

         (1) ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

         (2) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้าง ความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป (4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการ เลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทำให้โครงการในการพัฒนาประเทศ รัฐมนตรีรักษาการ ไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างเรื่องจำนำข้าว

         “ตอนนี้ประเทศไทยควรวางหลักว่าจะเดินหน้าไปได้อย่างไร ซึ่งมีหลักอยู่ 4 ข้อ ที่อยากฝาก ได้แก่ 1.เราต้องเคารพการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้ง 2.หลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรง เพราะถ้าทั้งยังตรึงกันอยู่อย่างนี้ การจราจลจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ 3. สิ่งที่ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์พร้อมกันทั่วประเทศ เห็นควรต้องมีการปฎิรูปประเทศให้เกิดขึ้นให้ได้ 4. ต้องแก้ปัญหาให้ชาวนา ซึ่งทั้ง 4 ข้อจะเกิดขึ้นได้ ฝ่ายรัฐบาล และกปปส.ต้องมองปัญหา เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้ เหมือนลิงแก้แหยิ่งแก้ยิ่งพัน ปัญหามะลุมมะตุ้ม รัฐบาลไม่สามารถจะเดินได้ไม่ด้วยว่าประการอะไร ทำให้ประเทศติดหล่มมากขึ้น”ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว

         รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตคณบดี คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ตอกย้ำว่าสำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หากมีความยืดเยื้อทางการเมือง และการปฎิรูปทางการเมืองไม่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดปัญหา เพราะถ้ารัฐบาลใหม่ยังทำงานไม่ได้ ความมั่นใจของนักลงทุนในประเทศก็จะชะลอหรือไม่ขยายตัว ขณะเดียวกัน ภาครัฐไม่สามารถลงทุนทำให้ ในปี 2557 การขยายทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะโตขึ้น 4.5 ก็จะเหลือ 2.5 ซึ่งถ้าเกิดภาวะความผันผวนในเศรษฐกิจโลก 2.5 ประเทศไทยก็จะอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับภาคตลาดแรงงาน การวางงานจากเดิม ไม่ถึง 1% (อยู่ประมาณ 0.7-0.8) แต่ถ้าการชุมนุมยืดเยื้ออัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทย 28.5 ล้านคน ลดลกจากปีที่แล้ว เพียงประมาณ5 แสนคน รายได้ลดลง 2 หมื่นล้านบาท อาจจะมองว่ากระทบไม่มาก แต่ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ นักท่องเที่ยวอาจลดลง1ล้านคน สูญเสียรายได้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงมาก

         ทั้งนี้ สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องจำนำข้าวนั้น ต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่แน่ใจว่าจะมีธนาคารไหนให้รัฐบาลกู้เงิน ฉะนั้น อยากเสนอให้รัฐบาลคืนข้าวให้ชาวนาและบวกเงินคืนอีก 50% เพื่อช่วยระบายข้าวในสต็อก และรัฐบาลควรยอมรับว่าโครงการนี้มีปัญหา อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ค่อนข้างสูง

         แต่การชุมนุมเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าไม่มีการชุมนุม ให้รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม มีความประพฤติมิชอบ อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้มากกว่านี้ และไม่มีใครอยากให้ประเทศชะงักงันในการลงทุน แต่จำเป็นที่คนกลุ่มหนึ่งต้องรวมตัวกันแสดงออกถึงความคิด และไม่อยากให้มองว่าการชุมนุมจะสร้างความเสียหายเท่าใด แต่อยากให้มองว่าเราชุมนุมแบบนี้บ่อยไปหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่รวยพอที่จะทำให้เกิดการชุมนุมแบบนี้บ่อนครั้ง ดังนั้น อยากเร่งให้มีรัฐบาลที่ทำงานได้ภายใต้กรอบกฎหมายและการปฎิรูปประเทศไทย ไม่ควรจะเป็นประชาธิปไตยใน 24 ชั่วโมง ตามรูปแบบตะวันตก ควรต้องออกแบบรูปแบบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสังคมไทย

          ดร.วิชัย รูปขำดี อาจารย์จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ตอกย้ำ่ถึงผลกระทบด้านสังคมว่าผลพวงด้านการเมือง เศรษฐกิจ เข้ามากระทบการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งในช่วงเวลาที่ระบอบทักษิณมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ทำให้ระบบสังคม และทุกระบบมีปัญหาอย่างมาก เช่น ภาคการศึกษาเล่าเรียน จากเดิมต้องทำให้คนไทยรู้เท่าทันโลก ชีวิต ตัวเอง แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าเด็กไทยโง่ เตี้ย อ้วนและขาดทักษะชีวิต

          ส่วนผู้ใหญ่ มีการแบ่งกลุ่มในลักษณะเกลียดชังกัน ส่วนภาครัฐ หวังจะให้มีธรรมาภิบาลในแผนชาติ แต่ผลลัพธ์กลับมีปัญหาเรื่องคอรัปชั่นรุนแรง ระบบอุปถัมภ์เฟื่องฟู ระบบข้าราชการไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาของประชาชน มีการแบ่งกลุ่ม พลังของข้าราชการอ่อนแอลง และชุมชน ท้องถิ่นหวังมีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ส่วนกลางยังคงครอบงำภูมิภาคท้องถิ่น เกิดความแตกแยกเป็นกลุ่ม อ่อนแอ ส่งผลให้การพัฒนาต่างๆชะงักลง

         “นิด้า ผ่าทางตัน วิกฤตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง”ได้เสนอแนะทางออกของประเทศไทยว่า จากสภาพปัญหาที่เป็นวิกฤตทางการเมือง ถือเป็นวิกฤตการณ์ที่อาจนำประเทศไปสู่ความเสียหายหรือความสูญเสียที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น ข้อเสนอเพื่อออกจากวิกฤตประเทศมีดังนี้ 1. เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่2 ก.พ.2557 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จผลเรียบร้อยก็ตาม แต่เพื่อให้เกิดกระบวนการปฎิรูปประเทศได้เริ่มต้นโดยไม่ต้องไปผูกพันกับผลของการเลือกตั้ง เห็นควรให้มี “รัฐบาลเพื่อการปฎิรูปประเทศ” เป็นรัฐบาลคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ในการปฎิรูปประเทศ

          2.รัฐบาลเพื่อการปฎิรูปประเทศ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีที่สังคมยอมรับ และให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงหรือบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี โดยมีภาระหน้าที่หลักสนับสนุนกระบวนการปฎิรูปประเทศ โดยมีกระบวนการในเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 2.1 ให้รองประธานวุฒิสภา (เนื่องจากประธานรัฐสภาถูกกล่าวหาจากใช้อำนาจของประธานรัฐสภา) เป็นผู้กราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ 2.2 เมื่อพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีเสนอรายชื่อปลัดกระทรวงหรือบุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนั้นๆ เพื่อรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อการปฎิรูปประเทศต่อไป

         3.แก้ไขปัญหาชาวนาเป็นการเร่งด่วน และ4.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อการปฎิรูปประเทศ โดยกำหนดให้มีองค์กรในการปฎิรูปประเทศ และกระบวนการในการปฎิรูปประเทศต่อไป โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้ 4.1 องค์กรในการดำเนินการปฎิรูปประเทศแบ่งออกเป็น (1)สมัชชาประชาชนปฎิรูปประเทศ (2)คณะกรรมการกำกับการปฎิรูปประเทศ และ (3)คณะกรรมการปฎิรูปด้านต่างๆ 4.2 ระยะเวลาในการดำเนินการปฎิรูปประเทศ ใช้ระยะเวลาโดยประมาาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม นี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับประชาชนประเทศชาติเพื่อนำสังคมไทยสู่ความสงบและสันติสุข

         ในวันเดียวกัน"นายภุชงค์ นุตราวงศ์"เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศแบบไม่เป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 คิดเป็นร้อยละ 45.84  หรือมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 20 ล้านคน และมีกำหนดการเลือกตั้งชดเชยในวันที่ 1-2 มีนาคม 2557

          หลังจากนั้นไม่กี่วัน“นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์”อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ของ กกต. นั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

         ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีมติเอกฉันท์ให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะหรือไม่และนำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557  ที่ชี้ขาดว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ

        หลังการเลือกตั้งบ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย จนกระทั่งเมื่อวันที่  20 พฤษภาคม 2557 “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ที่รัฐบาลชุดก่อตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

         22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อันมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้าคณะ โค่น“รัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมาเข่ง และอิทธิพลของ“ทักษิณ ชินวัตร”ในการเมืองไทย

         หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือก"พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา"เป็นนายกรัฐมนตรี

--------//----------

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ