วันนี้ในอดีต

2 ก.พ.2559 หมอฟันหนีทุน! ทิ้งทุ่นคนค้ำ แบบนี้ก็ได้เหรอ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่น่าเชื่อว่า จะทำได้ บรรดาผู้ที่เซ็นค้ำประกันให้เธอในการยื่นขอทุนเดือดร้อนไปตามๆ กัน!!

          จำกันได้หรือไม่ กับข่าวที่ทำเอาคนทุกวงการต้องครางฮือ!! อุทานเหมือนกันว่า “แบบนี้ก็ได้เหรอ?”

         นั่นคือข่าวที่ มีทันตแพทย์หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอทุนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกในประเทศสหรัฐอเมริกา

           แต่....เมื่อเธอเรียนจบ กลับไม่ยอมกลับบ้านเกิด ซึ่งประเด็นคือ การที่เธอต้องกลับมาเพื่อทำงานใช้ทุนที่รัฐบาลไทยออกให้จำนวนกว่า 30 ล้านบาท!!!

          ผลคือ บรรดาผู้ที่เซ็นค้ำประกันให้เธอในการยื่นขอทุนเดือดร้อนไปตามๆ กัน!!

          โดยงานนี้ทำให้ ทพ.ท่านหนึ่งลุกขึ้นมาโพสต์เฟซบุ๊กประจานต่อสังคม เพราะตนนั้นต้องชดใช้หนี้จำนวน 2 ล้านบาท เนื่องจากไปเซ็นค้ำประกันให้ ทพญ.คนดังกล่าว รวมถึงอาจารย์หมอและแพทย์หญิงอีก 2 ที่ต้องจำยอมชดใช้หนี้จากการเซ็นค้ำประกันเป็นเงินจำนวนสูงถึง 8 ล้านบาท!!

           ที่สุด งานนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลจึงต้องเปิดแถลงข่าว เมื่อวันนี้ของ 2 ปีก่อน ทำเอาช๊อคกันไปทั่วสังคมไทย แต่ทางมหิดลระบุว่าได้พยายามติดตาม ทพญ. ผู้นี้มาตลอด

          โดยแม้ว่าเวลานั้น ผู้ค้ำประกันได้ใช้หนี้ทั้งหมดแล้ว และพ้นการใช้หนี้หมดแล้ว แต่อย่างไรก็ต้องติดตามอาจารย์ผู้ที่หนีหนี้ต่อไป เพราะเป็นคดีแพ่ง แต่เพราะเป็นคดีแพ่งในราชอาณาจักร จึงไม่สามารถดำเนินการนอกประเทศได้

          และอาจจะพิจารณาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อจะได้ดำเนินการขั้นตอนการทวงหนี้ข้ามประเทศ หากเขากลับมาเมืองไทย ตม.สามารถติดตามตัวได้

          ทั้งนี้จำนวนเงินที่เธอต้องชดใช้คืน มากกว่า 30 ล้านบาท เพราะต้องบวกดอกเบี้ยร้อยละ 7 นับตั้งแต่ปี 2549 ด้วย 

           โดยคำถามคาใจต่อมหาวิทยาลัยมหิดลจาก ทพ.ผู้ที่ต้องรับเคราะห์คือ เมื่อประมาณ ปี 2547 ทพญ.ผู้นี้ แจ้งมายังมหาวิทยาลัยขอยกเลิกที่จะกลับมาใช้ทุนคืน เพราะมีครอบครัวที่นั่น เมื่อกระทรวงการคลัง เร่งรัดมา มหาวิทยาลัย ก็มาติดตามเอากับผู้ค้ำประกัน ทั้งที่ความจริงมหิดล ควรจะติดตามอย่างจริงจังและติดตามอย่างสุดความสามารถจากนางสาวดลฤดี ให้มาใช้คืน 

          มุมนี้ก็เป็นคำถามคาใจประชาชนเวลานั้นเช่นเดียวกัน จนเนชั่นได้ส่งอีเมล์ไปสอบถามตัวเธอช่วงวันที่ 3 ก.พ. 2559 หรือวันรุ่งขึ้น เธอได้ตอบกลับมา  ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า

         “ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยและข้อกล่าวหาต่างๆ ทางออนไลน์ เกี่ยวกับสัญญาเรื่องทุนการศึกษา ที่ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน และตัวดิฉันที่ได้เซ็นไว้กับมหาวิทยาลัยมหิดลในปี ค.ศ. 1993 โดยมีบางคนที่อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทุกประการในเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก และไม่เป็นปกติ (เช่นเรื่องนี้) หรือบางคนที่อาจจะเร่งรีบสรุปเกี่ยวกับตัวดิฉัน (ซึ่ง)เรื่องนี้นับว่าเป็นประเด็นส่วนตัว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ วิทยาลัยทันตแพทย์ศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด”
          "จุดที่สำคัญที่สุดที่ดิฉันอยากจะเน้นก่อนอื่นในแถลงการณ์นี้ คือว่าดิฉันมีเจตจำนงมาตลอดที่จะชำระคืนทุนการศึกษาที่ดิฉันได้รับมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล - ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการ(ทำงาน) รับใช้ หรือว่าในรูปตัวเงิน ดิฉันได้ร้องขอให้มีความยืดหยุ่นมาโดยตลอด ในเรื่องของช่องทางการชำระคืน ตัวอย่างเช่น (ได้เสนอยื่น)แผนการชำระคืนในระยะที่ยาวกว่าเดิม แทนที่จะเป็นการจ่ายเงินก้อนโตภายใน 30 วัน แต่ก็ถูกปฏิเสธ และเนื่องจากความยากลำบากในด้านการเงินและเรื่องส่วนตัว ที่เกี่ยวกับสถานะทางวีซ่า และการปฏิเสธต่ออายุหนังสือเดินทาง โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ดิฉันไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาหลายปี และด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อนฝูง คนไข้ และเพื่อนร่วมงานของดิฉัน ดิฉันจึงสามารถได้รับสถานะทางวีซ่าคืน และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ในที่สุด"
          "นับแต่นั้นมา ดิฉันได้แสดงถึงความต้องการที่จะแสดงความรับผิดชอบในเรื่องการชำระเงิน(กู้ยืมทุนการศึกษา)คืน ทั้งโดยวาจา โดยผ่านอีเมล และโดยทางโทรศํพท์กับ ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉันมาโดยตลอด และดิฉันได้ดำเนินการชำระคืนบ้างแล้วบางส่วนในช่วงที่เป็นไปได้ ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าดิฉันได้พยายามหลบหนีและหลีกเลี่ยงภาระการชำระคืน จึงไม่เป็นความจริง"
          "เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้บังคับใช้เส้นตาย(การชำระหนี้)กับผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน ซึ่งเป็นเส้นตายที่ไม่ได้มีการสื่อสารต่อให้ดิฉันได้รับรู้ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้ลงมือบังคับใช้โดยกระทันหัน โดยดิฉันได้รับเงินจากสินเชื่อส่วนตัวเป็นจำนวน ห้าหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ และได้ส่งมอบเงินให้แก่ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉันไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน (พ.ศ. 2558) และดิฉันยังได้ร้องขอว่า ให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขยายเส้นตาย(การชำระเงินส่วนที่เหลือ)ออกไปอีกเพื่อที่ดิฉันจะได้มีเวลาพอที่จะหาเงินมาเพิ่มเติมเพื่อชำระเงินทุนการศึกษาในส่วนที่เหลือผ่านทางผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน"

          "และโดยที่ปราศจากการผ่อนผันจากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉันได้ทำเรื่องขอสินเชื่อส่วนตัวเพื่อชำระหนี้แทนดิฉัน และดิฉันได้ให้สัญญากับพวกเขาว่า เงินทั้งหมดที่เขาได้ชำระให้กับมหาวิทยาลัย(ตามสัญญาค้ำประกัน)ไปแล้ว จะได้รับชำระคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย หลังจากที่ดิฉันได้รับเงินสินเชื่อที่จำเป็นเพิ่มเติมมาอีกในอนาคต ซึ่งขณะนี้ดิฉันก็กำลังดำเนินการที่จะเสาะหาเงินเพิ่มเติมมาอีก และดิฉันได้ขอร้องอีกว่า ขอให้ดิฉันได้มีเวลาเพิ่มที่จะชำระเงินคืนแก่ผู้ร่วมลงชื่อกับดิฉัน"
          "และโดยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ดิฉันหวังว่ากรณีนี้จะมีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน(หลักเกณฑ์)การอนุมัติให้ทุนการศึกษา และระบบใช้ทุนคืนในประเทศไทย - ซึ่งเป็นระบบที่จะอนุญาตให้มีทางออกเสริมที่มีเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อสำหรับผู้ได้รับทุน ที่จะสามารถชำระเงินคืนได้"

0    0    0

          อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าคนไทยจะไม่สนใจคำอธิบายนี้ และยังคงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา ท่ามกลางความเงียบงันจาก ทพญ.ที่ไม่ให้ข้อมูลอะไรอีกเลย หลังจาก อีเมล์ฉบับนี้

        อย่างไรเสีย เรื่องที่มากกว่าเนื้อหาทางคดี คนไทยกลับอยากรู้ว่า เธอผู้นี้เป็นใคร เวลานั้นจึงมีคนทำตัวเป็นนักสืบโซเชียลเสาะหาเรื่องราวของเธอมานำเสนอกันเพียบ!

 

2 ก.พ.2559  หมอฟันหนีทุน! ทิ้งทุ่นคนค้ำ  แบบนี้ก็ได้เหรอ?

          พบว่าทพญ.ผู้นี้สอนอยูที่ ม.ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเฟซบุ๊คดังอย่าง CSI LA ที่กล้าเอารูปของเธอมาเผยแพร่ให้ได้เห็นโฉมหน้า พร้อมกับระบุชื่อและประวัติของเธอเอาไว้ด้วย

           โดยระบุว่า.. “เผยโฉมเเละประวัติหมอเก่งเเต่โกงรุ่น 46 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ห้อง King 1 อดีต อจ. คณะทันตแพทยศาสตร์ ม. มหิดล ที่ทำงานปัจจุบัน Harvard School of Dental Medicine 188 Longwood Ave, Boston, MA 02115”

          เพจ “CSI LA" ยังแฉต่อด้วยว่าคุณหมอผู้นี้ ได้ซื้อบ้านในเมืองนิวตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 50 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2557 เเต่ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ที่ยืมคนอื่นมา 8 ล้านบาท พร้อมนำภาพบ้าน ที่เมือง Newton ที่มี 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ ซึ่งบ้านสุดหรู มาเผยแพร่ 

          และยังระบุว่า ที่จริงแล้ว เธอมีรายได้สูงกว่า 8 หมื่นเหรียญต่อปี จากการทำงานเพียงปีเดียว และจะมีรายได้พุ่งสูงเป็น 2 แสนเหรียญต่อปีในปีถัดๆ ไป แถมยังมีคลินิกทันตแพทย์เป็นของตัวเอง กำไรปีละ 1 ล้านเหรียญ รวมมูลค่ารายรับทั้งสิ้นตกประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี หักภาษีไปครึ่งหนึ่ง จะเหลือรายได้ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี! เพียงพอที่จะจ่ายเงินชดใช้ทุนได้

2 ก.พ.2559  หมอฟันหนีทุน! ทิ้งทุ่นคนค้ำ  แบบนี้ก็ได้เหรอ?

          ข้อมูลเหล่านี้ทำเอาคนไทยเงิบ หงายหลังตกเก้าอี้กันเป็นแถบๆ และอยากให้เธอออกมาพูดอะไรอีกกับสังคม แต่เธอก็เงียบ

         กระทั่ง ต่อมามีข่าวเผยแพร่ว่าศาลล้มละลายกลาง สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเธอแล้ว โดยขณะนั้นเธอเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิก และผู้อำนวยการศูนย์ดูแลสุขภาพในช่องปาก มหาวิทยาลัยบอสตัน คือได้ย้ายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไปทำงานที่บอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ แล้วนั่นเอง

          แถมยังมีข่าวว่าเธอไปปรากฏตัวในตอนหนึ่งของรายการเรียลิตีโชว์ของสหรัฐอเมริกา เน้นการแข่งขันในด้านการออกแบบเสื้อผ้า โดยเธอให้สัมภาษณ์ในฐานะที่เธอเป็นที่ปรึกษาของผู้เข้าประกวดคนหนึ่ง สมัยที่เธอทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ ประจำวิทยาลัยทันตกรรม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

          ที่สุด ช่วงวันที่ 20 กันยายน 2560 หมอผู้ที่โพสต์แฉเรื่องนี้ ได้กลับมาโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องนี้อีกครั้ง

          โดยกล่าวว่า ทันตแพทยสภามีมติเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีทันตแพทยสภาของทพญ. คนดังกล่าวแล้ว แต่อยากให้นำผลการตัดสินเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทนายเป็นข้อมูลในการฟ้องร้องต่อไป โดยไปที่ทันตแพทยสภาแห่งสหรัฐอเมริกาและรัฐแมสสาชูเสตที่เธอทำงานอยู่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานบทลงโทษแก่ทันตแพทย์ที่คิดจะทำแบบนี้ในอนาคตว่าคงยากที่หากจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย

          ถึงตรงนี้ แม้ว่าบทลงโทษดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่า เรื่องราวก็ค่อยๆ เงียบหายไป 

          แล้วจะไม่ให้ถามได้ยังไงว่า แบบนี้ก็ได้เหรอ!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ