วันนี้ในอดีต

สิ้น “หลวงพ่อเกษม เขมโก” จาก “ตระกูลเจ้า” สู่พระเถระถือสมถะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ท่านเป็นพระเถราจารย์ปูชนียบุคคลรูปหนึ่งของประเทศไทย และมีผู้มีความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน อีกทั้งท่านยังเป็นเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร

                วันนี้เมื่อ 22 ปีก่อน ชาวไทยพุทธต้องโศกเศร้าอีกครั้ง เพราะเป็นวันมรณภาพของ หลวงพ่อเกษม เขมโก หรือ ครูบาเจ้าเกษม เขมโก พระเถระและเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้เคร่งครัดในธุดงควัตร ปลีกวิเวก และถือสมถะ!

                ที่สำคัญ ยังถือว่าท่านเป็นพระเถราจารย์ปูชนียบุคคลรูปหนึ่งของประเทศไทย และมีผู้มีความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน อีกทั้งท่านยังเป็นเจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร ที่ออกผนวชอีกด้วย

                หลวงพ่อเกษม เขมโก เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง ประสูติ เมื่อ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ. 131 เป็นบุตรใน เจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) รับราชการเป็นปลัดอำเภอ กับ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

                สมัยตอนเด็กๆ มีคนเล่าว่าท่านซนมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านปีนต้นบ่ามั่น(ต้นฝรั่ง) เกิดผลัดตกจนมีแผลเป็นที่ศีรษะ เมื่อท่านอายุได้ 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งเป็นการบรรพชาหน้าศพ (บวชหน้าไฟ) ของเจ้าอาวาสวัดป่าดั๊ว 7 วันได้ลาสิกขาและท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี และจำวัดอยู่ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง

               ท่านได้ศึกษาด้านพระปรัยัติธรรมจนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ในปี พ.ศ. 2474 และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีถัดมา โดยมีพระธรรมจินดานายก เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายาว่า "เขมโก" แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม โดยพระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก ได้ศึกษาภาษาบาลีที่สำนักวัดศรีล้อม ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาแผนกนักธรรมที่สำนักวัดเชียงราย

                พ.ศ. 2479 ท่านสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ท่านเรียนรู้ภาษาบาลีจนสามารถเขียนและแปลได้ รวมทั้งสามารถแปลเป็นภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี แต่ท่านไม่ยอมสอบเอาวุฒิ จนครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างเข้าใจว่าพระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก ไม่ต้องการมีสมณะศักดิ์สูง ๆ เรียนเพื่อจะนำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเท่านั้น

                เมื่อสำเร็จทางด้านปริยัติธรรมแล้ว ท่านแสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนา จนกระทั่ง ท่านทราบข่าวว่ามีพระเกจิรูปหนึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนา คือ ครูบาแก่น สุมโน ท่านจึงฝากตัวเป็นศิษย์ ท่านได้ตามครูบาแก่น สุมโน ออกท่องธุดงค์ไปแสวงหาความวิเวกและบำเพ็ญเพียรตามป่าลึก จนถึงช่วงเข้าพรรษาซึ่งพระภิกษุจำเป็นต้องยุติการท่องธุดงค์ชั่วคราวท่านจึงต้องแยกทางกับพระอาจารย์ และกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืนตามเดิม พอครบกำหนดออก ก็ติดตามอาจารย์ออกธุดงค์บำเพ็ญภาวนา

                ต่อมา เจ้าอธิการคำเหมย เจ้าอาวาสวัดบุญยืน มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์ได้ประชุมกันเพื่อหาเจ้าอาวาสรูปใหม่และต่างลงความเห็นพ้องต้องกันเห็นควรว่า พระภิกษุ เจ้าเกษม เขมโก มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ท่านก็ห่วงทางวัดเพราะท่านเคยจำวัดนี้

               ท่านเห็นว่าถือเป็นภารกิจทางศาสนาเพราะท่านเองต้องการให้พระศาสนานี้ดำรงอยู่ จึงยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน หลังจากนั้นท่านก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหลายครั้งเนื่องจากท่านอยากจะออกธุดงค์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น ท่านจึงออกจากวัดบุญยืนไปที่ศาลาวังทานพร้อมเขียนข้อความลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไว้ด้วย

                หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ตลอดชนชีพ เป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง

                หลวงพ่อเกษม เขมโก มรณภาพ ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง เมื่อเวลา 19:40 น. ของวันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2539 ซึ่งตรงกับวันแรม 11 ค่ำ เดือน 2 ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่สานุศิษย์ทั่วประเทศ

                ส่วนสรีระของท่านนั้นก็ยังความอัศจรรย์ด้วยเนื่องจากไม่เน่าเปื่อยเหมือนอย่างสังขารทั่วไป ทั้งยังเขียนป้ายบอกผู้ที่มาเคารพสรีระ ท่านด้วยว่าให้พนมมือไหว้ที่หน้าอกเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์อย่างศพของพระเถระทั่วไปนับว่าท่าน นั้นถือสมถะเป็นอย่างมาก

                อนึ่ง สำหรับ ราชวงศ์ทิพย์จักร ได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งอาณาจักรอยุธยา โดย "หนานทิพช้าง" ควาญช้างและพรานป่าผู้มีความสามารถ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง มีพระนามว่าพระญาสุลวะฦๅไชย ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามจากราชสำนักกรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ถือเป็นนครรัฐอิสระในปี พ.ศ. 2275

                โดยราชวงศ์ทิพย์จักรถือเป็นราชวงศ์ล้านนาที่เชื่อมความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ล้านนาอันเก่าแก่เดิม อันได้แก่ ราชวงศ์มังรายอันมีพญามังรายมหาราชเป็นองค์ปฐมวงศ์ และราชวงศ์พะเยา พญางำเมือง ด้วยระบบความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ

 

////

ขอขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ