วันนี้ในอดีต

"ตัดแขนพระ"ผ่าตัดครั้งแรกในไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝรั่งที่คนไทยไม่เคยลืม คนนี้“นพ.แดเนียล บีช บรัดเลย์”มิชชันนารีชาวอเมริกัน เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม“หมอบรัดเลย์”คนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า“หมอปลัดเล”่

 

          "แดเนียล บีช บรัดเลย์" เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 บุตรคนที่ห้าของนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ สำเร็จการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สมรสกับภรรยาคนแรก เอมิลี รอยส์ บรัดเลย์ และภรรยาคนที่สอง ซาราห์ แบลคลี บรัดเลย์

         ย้อนอดีตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2377 หมอบรัดเลย์ออกเดินทางจากบอสตัน มุ่งหน้าสู่สยาม โดยเรือ “แคชเมียร์” ใช้เวลารอนแรมในทะเลเป็นเวลา 6 เดือน ก็มาถึงสิงคโปร์ในวันที่ 12 มกราคม 2378 และแวะพักอยู่ที่สิงค์โปร์อีก 6 เดือน ก่อนจะเดินทางเข้าสู่สยามในวันที่ 18 กรกฎาคม 2378 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 31 ปีพอดี โดยมาถึงพร้อมภรรยา เอมิลี เข้ามาทำงานในคณะกรรมธิการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2379 ในสมัยรัชกาลที่ 3 

          เมื่อมาถึงเมืองไทยไม่ถึงเดือน หมอบรัดเลย์ได้ตั้งคลินิกขึ้นแถววัดเกาะ หรือ“วัดสัมพันธวงศ์”ในสมัยนี้  โดยอาศัยพักรวมกับครอบครัวของ“ศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน”และหลังจากเข้ามาถึงเมืองไทยได้ 1 เดือนกับ 10 วัน หมอบรัดเลย์ก็สร้างประวัติศาสตร์การแพทย์ด้วยวิธีผ่าตัดครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย โดยตัดก้อนเนื้อที่หน้าผากของคนไข้รายหนึ่ง ขณะที่ไม่มีทั้งยาชาหรือยาสลบ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเงียบๆไม่โด่งดัง

          หมอบรัดเลย์ พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะสำเพ็ง ได้ไม่นาน่เนื่องจากในย่านนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่ กิจการนี้จึงถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำให้ชาวจีนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลสยามได้ จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินคือนายกลิ่น ไม่ให้มิชชันนารีเช่าอีกต่อไป

          สองสามีภรรยาได้เรียนภาษาไทยและเผยแพร่ศาสนา โดยใช้วิชาแพทย์เป็นเครื่องมือ ให้คนป่วยอธิษฐานก่อนรักษา แจกใบปลิวให้ก่อนกลับบ้าน และยังเดินแจกใบปลิวพร้อมหนังสือเกี่ยวกับพระเจ้าให้แก่ชาวบ้านตามตลาด ท่าเรือ และวัด เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักพระเยซูคริสต์

          ต่อมาจึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ที่เป็นย่านของชาวโปรตุเกส เช่าบ้านที่ปลูกให้ฝรั่งเช่าของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาส โดยหมอบรัดเลย์และคณะมิชชันนารีดัดแปลงบ้านเช่าที่พักแห่งใหม่นี้เป็น “โอสถศาลา” เปิดทำการเมื่อ 30 ตุลาคม 2378 ที่บ้านพักแห่งใหม่นี้ หมอบรัดเลย์ได้ทำการผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย

          วันนี้ในอดีต ในวันที่ 13 มกราคม 2380 มีงานฉลองวัดประยุรวงศ์ ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สร้างขึ้น มีมหรสพมากมายหลายอย่างรวมทั้งมีการจุดดอกไม้ไฟ และเพื่อให้สมกับที่เป็นงานใหญ่ ผู้จุดดอกไม้ไฟได้ขอยืมปืนใหญ่มาทำเป็นที่จุด โดยฝังโคนกระบอกลงดิน อัดดินปืนเข้าทางปากกระบอก แต่อัดเข้าไปเกินขนาด พอจุดไฟพะเนียง กระบอกปืนใหญ่จึงแตกเป็นเสี่ยง คนที่อยู่ใกล้ตายไปทันที 8 คน บาดเจ็บอีกมาก หมอบรัดเลย์ซึ่งเปิดคลินิกอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุถูกตามตัวมาทันที

          หลายคนมีแผลฉกรรจ์ หมอบรัดเลย์ลงความเห็นว่าต้องผ่าตัด แต่พอได้ยินว่าต้องตัดบางส่วนของร่างกายออก บรรดาคนเจ็บก็ถอยหนีกันเป็นแถว ไม่เชื่อว่าคนเราสามารถตัดอวัยวะของร่างกายออกได้โดยไม่เสียชีวิต แต่พระสงฆ์รูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเลย์ว่าต้องตัดแขนทิ้ง เพราะบาดแผลฉกรรจ์เกินกว่าจะใส่ยา หากปล่อยไว้จะอักเสบลามทำให้เสียชีวิต พระสงฆ์รูปนั้นก็ใจถึงยอมให้ตัด โดยไม่มียาชาหรือยาสลบเช่นกัน ล่อกันสดๆ

          บรรดามิชชันนารีเองก็ลุ้นระทึก เฝ้าไข้กันทั้งคืน หากพระสงฆ์รูปนี้เป็นอะไรไป คงต้องเสียศรัทธายับเยินแน่ แต่ปรากฏว่าคนที่ยอมให้มิชชันนารีรักษา หายกันทุกคน ส่วนคนที่กลัวผ่าตัดกลับไปใส่น้ำมันมะพร้าว กินยาต้ม แผลอักเสบตายกันเป็นแถว การผ่าตัดรักษาตามแผนตะวันตกของหมอบรัดเลย์จึงได้รับความเชื่อถือขึ้นมาก 

          มิชชันนารีชื่อดังประสพความสำเร็จอย่างสูงด้านการแพทย์ มีผลงานชิ้นสำคัญคือ การริเริ่ม“ปลูกฝี”ป้องกัน"ฝีดาษ"หรือ“ไข้ทรพิษ”ที่ทำให้ชาวสยามตายปีละมากๆ ถ้าไม่ถึงตายก็หน้าพรุนเสียโฉมหรือตาบอด หมอบรัดเลย์ทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในเมืองสยาม  ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่3พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือในการหาซื้อ“เชื้อหนองฝีโค”ซึ่งต้องสั่งนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามาใช้เพื่อปลูกฝีให้ชาวสยาม และยังทรงให้แพทย์หลวงมาศึกษาวิธีการปลูกฝีจากหมอบรัดเลย์ เพื่อขยายการปลูกฝีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย 

          ต่อมาจึงลองเพาะเชื้อขึ้นเองในประเทศไทย ซึ่งช่วยให้คนรอดตายจากไข้ทรพิษได้เป็นจำนวนมาก จนในที่สุดโรคนี้ก็หายไปจากเมืองไทย

         หมอบรัดเลย์ เลื่องชื่อด้านการแพทย์ในบางกอก แต่บทบาทมิชชันนารีในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์กลับล้มเหลว เพราะตลอดชีวิตของหมอบรัดเลย์ในสยามซึ่งกินเวลาเกือบ 40 ปีนั้น ทำให้ชาวสยามกลับใจเปลี่ยนศาสนาได้ไม่กี่คน หรือเรียกว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง                   หมอบรัดเลย์กระทำตนเป็นคนดีในสายตาของชาวบ้านอย่างคงเส้นคงวา ไม่ดื่มสุรา หยุดงานวันอาทิตย์เพื่อไปสวดมนต์ที่โบสถ์ชีวิตของบรัดเลย์มีความสุขควรแก่อัตภาพ

          ตลอดเวลาเกือบที่อยู่ในสยาม หมอบรัดเลย์ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักตลอดเวลา มีโอกาสเดินทางกลับบ้านเกิดเพียงครั้งเดียว เป็นช่วงเวลาที่ เอมิลี บรัดเลย์ เสียชีวิตลงในสยาม การเดินทางกลับบ้านครั้งนี้กินเวลา 3 ปี คือระหว่างปี 2390-2393 เมื่อกลับมาสยามอีกครั้ง หมอบรัดเลย์ก็มาพร้อมกับภรรยาคนใหม่ คือซาราห์ แบลชลี 

          หลังจากนั้นก็ลงหลักปักฐานอยู่ในสยามจนเสียชีวิตที่นี่ทั้งสองคน หมอบรัดเลย์มีบุตรกับเอมิลี 5 คน และกับซาราห์ 5 คนหมอบรัดเลย์มีชีวิตอยู่ในสยามผ่านเวลามาถึง 3 แผ่นดิน คือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 รัชการลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 โดยที่ไม่มีโอกาสร่ำรวยและสุขสบายเลย หมอบรัดเลย์เสียชีวิต ขณะมีอายุได้ 69 ปีสิ้นชีวิตด้วยโรคฝีในท้อง (วัณโรค)สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2416 หลังจากที่เดินทางมาอยู่เมืองไทย 38 ปี กลับไปเยี่ยมบ้านเสีย 2 ปี จึงใช้ชีวิตเผยแพร่ความเจริญให้เมืองไทยถึง 36 ปี 

           หลังจากหมอบรัดเลย์เสียชีวิต ซาราห์ แบคลี่ บรัดเลย์ได้สานต่องานของสามี จนนางเสียชีวิตในเมืองไทยเช่นกันในวันที่ 18 สิงหาคม 2436 รวมอายุได้ 75 ปี  

          "ไอรีน แบลล์ บรัดเลย์” ลูกสาวคนเล็ก ซึ่งเกิดในเมืองไทย ก็มีนิวาสถานอยู่ละแวกบางกอกใหญ่ ที่บรรดาทหารเรือในละแวกนั้นเรียกเธอว่า “แหม่มหลิน”ซึ่งถือว่าเป็น “บรัดเลย์คนสุดท้าย”เสียชีวิตในเมืองไทยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2483 สมัยรัชกาลที่ 8 ขณะมีอายุได้ 80 ปี ไม่มีโอกาสได้เห็นอเมริกาเลย

          ว่ากันว่า ร่างของหมอบรัดเลย์ พร้อมกับภรรยาทั้ง 2 และลูกสาวคนเล็ก นอนเคียงกันอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ยานนาวา  กรุงเทพมหานคร

          แม้"หมอบรัดเลย์"สิ้นชีวิตไป 200 ปีกว่าแล้ว ยังได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ จากล้นเกล้ารัชกาลที่9 ได้ทรงนำงานสร้างสรรค์ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ผลงานของบรัดเลย์ กลับมาพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง จึงนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

         แต่กาลเวลาไม่อาจทำให้คนไทยเราลืมพระคุณของมิชชันนารีผู้นี้ ผู้นำเครื่องพิมพ์เข้ามายังสยามประเทศเป็นครั้งแรก ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการพิมพ์ หรือ CNN ประจำกรุงสยาม และผู้ริเริ่มบุกเบิกการแพทย์ไว้คนแรก

------//-----

ขอบคุณที่มา : เรื่องเล่าชาวเมืองสยาม

th.wikipedia.org , www.dekd.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ