วันนี้ในอดีต

สิ้น!! สมมติเทพ “จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ”สมมติเทพผู้ครองราชย์ท่ามกลางกองทัพทำสงครามนองเลือดทั่วเอเชีย ขณะที่สื่อมวลชนญี่ปุ่นลงความเห็นว่าญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามเพราะฮิโรฮิโตะทรงก่อ

 

          ตอนต้นรัชสมัยโชวะหรือ“จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ"นั้น เป็นยุคสมัยที่ญี่ปุ่น กำลังประสบกับวิกฤตการณ์การเงินในขณะที่อำนาจของกองทัพก็มีมากขึ้นภายในรัฐบาล ด้วยการแทรกแซงทั้งวิธีการตามกฎหมายและนอกกฎหมาย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้กุมอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2443 ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2464-2487 ก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองมากถึง 64 ครั้ง

          เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่ื "จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ"แทบเอาชีวิตไม่รอด จากการถูกลอบสังหารเมื่อ 9 มกราคม พ.ศ. 2475 จากการขว้างระเบิดมือของ“ลี บงชาง”นักเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกเกาหลี ในกรุงโตเกียว หรือที่เรียกกันว่า“เหตุการณ์ซะกุระดะมง”

          จากนั้นไม่นาน มีการลอบสังหาร“นายกรัฐมนตรีอินุไก สึโยะชิ” โดยทหารเรือระดับล่างในปี 2475 เหตุการณ์นี้เองตามมาด้วยการที่สี่ปีต่อมา กลุ่มนายทหารรักษาพระองค์ระดับล่างที่มีแนวคิดแบบชาตินิยม หรือโคโดฮะไม่พอใจเหล่านายทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล ในหลายๆ เรื่อง อาทิ การทุจริตในรัฐบาล ผลประโยชน์แก่เหล่าพวกพ้อง มีความพยายามทำรัฐประหารในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม"กบฏ 26 กุมภาฯ"

          การก่อกบฏครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก นักการเมือง, เจ้าหน้าที่, และนายทหารระดับสูงหลายคนถูกฆ่าตาย มีการบุกทำลายสถานที่ราชการหลายแห่งในใจกลางกรุงโตเกียว

          การก่อกบฏครั้งนี้ ฝ่ายกบฏอ้างว่าเป็นการต่อสู้ในนามของพระจักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดิทรงทราบว่ามีกลุ่มทหารเลือดใหม่ก่อกบฏ ทรงกำชับรัฐมนตรีกลาโหมอย่างเฉียบขาดว่า “เราให้เวลาท่านหนึ่งชั่วโมงในการปราบกบฏ”ผลปรากฏว่า รัฐบาลล้มเหลวในการปราบกบฏ วันต่อมาทรงรับสั่งว่า“ฉัน! ตัวฉันนี่แหล่ะ จะนำกองโคะโนะเอะ(กองราชองค์รักษ์)และปราบพวกเขาเอง”กลุ่มกบฏได้บุกเข้ามายังพระราชวังหลวง เพื่อต้องการที่จะอ่านสาสน์ต่อสมเด็จพระจักรพรรดิเพื่อให้จักรพรรดิรับรองสถานะของกลุ่มทหารที่ก่อการกบฏ จักรพรรดิฮิโระฮิโตะมีพระราชดำรัสต่อกลุ่มทหารเหล่านั้นว่า “พวกเจ้ากล้าดีอย่างไรที่เข้ามาในนี้ ไม่รู้หรือว่าฉันเป็นจักรพรรดิของพวกเจ้า”

          ภายหลังปราบกบฏได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ “พลเรือเอกโอกะดะ เคซุเกะ” นายกรัฐมนตรีซึ่งรอดจากการถูกสังหาร ได้ปรากฏตัวหลังจากการหลบซ่อน สามวันต่อมา เขาประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรี อันเป็นการเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น

         ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่2 แม้ว่าพระองค์จะเห็นว่าการทำสงครามเป็นสิ่งจำเป็นต่อญี่ปุ่น แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเห็นด้วยกับกองทัพที่ดำเนินนโยบายการสงครามแบบบ้าระห่ำ เมื่อทรงทราบถึงแผนการณ์โจมตี“เพิร์ลฮาร์เบอร์”ของสหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงกังวลมิน้อยว่าการกระทำนี้จะส่งผลร้ายต่อญี่ปุ่น แต่่็พระองค์ทรงพอพระทัยอยู่เสมอเมื่อทรงทราบว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ชัยชนะในศึกสงครามที่อยู่ห่างไกล ต้นเดือนมีนาคมพ.ศ. 2485 ทรงพอพระทัยไม่น้อยกับชัยชนะอันรวดเร็วของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่มีเหนือเกาะฮ่องกง,กรุงมะนิลา,สิงคโปร์,ปัตตาเวีย(จาร์กาตา) และย่างกุ้ง

          ขณะเดียวกัน เมื่อทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับความปราชัยครั้งสำคัญของญี่ปุ่นเช่นที่“ยุทธนาวีมิดเวย์”จึงมีแต่พระราชดำรัสให้ผู้นำทหารทั้งหลายทำงานของตนให้ดีที่สุดในการปฏิบัติครั้งหน้า พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในระหว่างสงคราม กระตุ้นให้ประชาชนฮึกเหิมกับศึกที่เกิดขึ้นด้วยอีกแรงหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการทรงม้าขาวออกเสด็จตรวจกำลังพล 

         หรือมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรัฐสภาที่ปลุกเร้ากำลังใจของราษฎร ให้ช่วยกันพยายามเพื่อชัยชนะของประเทศตามหนังสือที่ร่างโดยรัฐบาล พระราชกรณียกิจเหล่านี้ล้วนสร้างภาพว่า พระองค์กำลังทรงบัญชาการความเคลื่อนไหวทั้งหมดของกองทัพในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพของชาติ ในความเป็นจริง พระองค์ทรงทำหน้าที่แค่ทอดพระเนตรรายงานการสถานการณ์รบ และลงพระนามรับรองแผนปฏิบัติการทางทหารต่างๆเท่านั้น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะมิได้ทรงมีส่วนในการบัญชาการรบใดๆ เช่นเมื่อนานกิงถูกตีแตกในปี พ.ศ. 2480 และทหารญี่ปุ่นได้สังหารพลเรือนไปกว่าสองแสนคนนั้น รายงานที่ถวายไปยังพระองค์ระบุแค่ว่า กองทัพสามารถยึดนานกิงได้แล้ว

          เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 พระองค์มีพระราชดำรัสให้ “พลเอกฮิเดะกิ โทโจ” นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อเท็จจริงข้อนี้“ฉันหวังว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ ท่านได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุด และใช้ทุกโอกาสที่มีอยู่เพื่อยุติการประหัตประหารในทันทีที่สามารถทำได้ ถ้าคิดถึงความสงบสุขของมนุษย์ด้วยกันแล้ว การปล่อยให้สงครามยืดเยื้อต่อไปก็รังแต่จะเปล่าประโยชน์...ฉันเกรงว่า ประสิทธิภาพทหารเราอาจจะด้อยลง หากสงครามต้องยืดเยื้อ”แต่โทโจก็ยังยืนยันถึงความจำเป็นในการทำสงครามต่อไป ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้หยุดยั้งสงครามไว้ได้ได้

          โดยพระองค์ตรัสกับเจ้าทะกะมะสึพระอนุชาองค์รองว่า “ใครๆก็ว่าโทโจไม่ดี แต่จะหาใครดีไปกว่านี้ได้อีกไหมในเมื่อมันไม่มีคนที่เหมาะสมกว่า ยังจะมีทางเลือกอื่น นอกจากร่วมงานกับคณะของโทโจหรือ”

         3 ปีต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1945 (พ.ศ. 2488) จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข หลังถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูกติดๆ กัน ในวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับญี่ปุ่น

           ไม่เพียงเท่านั้นการที่โซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ 8 สิงหาคม เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินประกาศยอมแพ้สงคราม เนื่องจากมิได้จัดสรรกำลังไว้เพียงพอสำหรับต้านทานการรุกจากภาคพื้นทวีป ด้วยญี่ปุ่นทุ่มกำลังไปที่การป้องกันเกาะมาตุภูมิเป็นสำคัญ

          รายงานของนิวยอร์กไทม์อ้างว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน จักรพรรดินีนากาโกะ พร้อมด้วยรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเจรจาการยุติสงคราม แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากฝ่ายทหาร และเมื่อโซเวียตเข้าสู่สงครามด้วย ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นหมดโอกาสที่จะหาคนกลางเพื่อการเจรจา

          วันเดียวกันนี้ โคเรชิกะ อะนามิ (Korechika Anami) รัฐมนตรีสงครามของญี่ปุ่นในขณะนั้นได้ฆ่าตัวตายด้วยการ “คว้านท้อง” (Seppuku) พร้อมทิ้งจดหมายลาตายมีข้อความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยโทษในอาชญากรรมอันใหญ่หลวงด้วยความตายนี้”

         ภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้ สหรัฐอเมริกาได้ส่งกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าควบคุมญี่ปุ่น มีการเรียกร้องจากชาติฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะจากยุโรป ให้นำตัวสมเด็จพระจักรพรรดิมาลงโทษ นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ได้แสดงความคัดค้านอย่างถึงที่สุดในเรื่องนี้ ด้วยมองว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข แสนยานุภาพของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ และหากจะลงโทษจักรพรรดิแล้ว อาจเกิดการลุกฮือจากกองทัพญี่ปุ่นก็เป็นได้ ซึ่งจะต้องส่งกำลังทหารเข้ามาประจำการในญี่ปุ่นอีกมหาศาล

          อีกทั้งการบัญชาการทัพญี่ปุ่นในการบุกดินแดนต่าง ๆ เป็นการบัญชาการจากผู้นำรัฐบาลและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นหลัก ท้ายที่สุดจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ รอดพ้นจากข้อหาอาชญากรสงคราม  แต่สหรัฐอเมริกาได้ถอดพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน

          สำนักพระราชวังญี่ปุ่นออกพระราชประวัติ จักรพรรดิฮิโรฮิโต สมมติเทพผู้ครองราชย์ขณะกองทัพทำสงครามนองเลือดทั่วเอเชีย สื่อชี้หนังสือยังตอบไม่เคลียร์ แทบไม่ได้เสนอหลักฐานใหม่ๆเกี่ยวกับหนึ่งในบุคคลอื้อฉาวที่สุดของโลกศตวรรษที่ 20 ผู้นี้

         หนังสือแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงพอพระทัยกับชัยชนะในสมรภูมิต่างแดน กองทัพญี่ปุ่นได้รุกรานแมนจูเรียในปี 2474 แล้วจัดตั้งรัฐบาลหุ่น พร้อมกับฐานทัพสำหรับเล่นงานจีน ในปี 2480 กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองหลวงนานกิงของจีน มีการสังหารพลเรือนนับแสน

         สื่อมวลชนญี่ปุ่นลงความเห็นว่า หนังสือดังกล่าวไม่ได้สะท้อนการยอมรับผิดอย่างชัดเจนต่อสงครามอันเป็นที่รู้กันว่าฮิโรฮิโตทรงก่อขึ้น และไม่ได้ชี้ชัดว่าพระองค์มีส่วนรับผิดชอบแค่ไหน  

         สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 124 ของญี่ปุ่น ครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ. 2469-พ.ศ. 2532(63 ปี) พระองค์ดำรงตำแหน่งประมุขจนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่ออายุได้ 87 พรรษา เมื่อวันที่ 7 มกราคม ในปี 2532  โดยมีมงกุฎราชกุมาร อากิฮิโต เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นองค์ต่อมา  พระองค์ทรงได้เห็นประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านจากระบอบทหารเป็นระบอบประชาธิปไตย ใช้ทุนนิยมระบบตลาด และมีฐานะอันมั่งคั่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ