วันนี้ในอดีต

“แบงค์กรุงไทย”ปล่อยกู้พนง.มหาวิทยาลัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ครั้งแรกที่ผู้นำลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อ“รัฐสวัสดิการ”ให้พนักงานมหาวิทยาลัย ที่ต่างหนีตายกันอลหม่าน เมื่อผู้นำมหาวิทยาลัยของรัฐต่างพาเหรดออกนอกระบบ

 

 

          "อิสระ คล่องตัว"คำหวานจากรัฐบาลลูกแม่ถ้วน"ชวน หลีกภัย"ส่งต่อ"เดอะมาร์ค"อภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ"รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ทำให้บรรดา"อธิการบดี"หลายแห่งไม่รีรอจะแปรสภาพจากมหาวิทยาลัยรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือ"มหาวิทยาลัยนอกระบบ" "ม.นอกระบบ"ที่คุ้นชิน นั่นเอง

          13 ปีผ่านไป “ม.นอกระบบ” มีทั้ง“รอดและร่อแร่” แต่ที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือ สถานะของ “พนักงานมหาวิทยาลัย” ไม่ต่างอะไรกับ “มนุษย์เงินเดือน” 

          ตลกร้าย!! มนุษย์เงินเดือน ได้รับ“สิทธิ”จากรัฐสวัสดิการผ่านระบบประกันสังคม ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ได้รับเงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง มีเงินชราภาพไว้ดำรงชีพในวัยเกษียณ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้“พนักงานมหาวิทยาลัย”ไม่มี

           เหมือนฟ้ามาโปรด วันนี้ในอดีต 6 มกราคม 2555 เมื่อ“หมอเฉลิมชัย”ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในขณะนั้น ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุยชี้แจง อธิบาย ทำความเข้าใจเป็นเวลานานร่วม1 ปี จนกระทั่งธนาคารกรุงไทยยอมปล่อยกู้ให้พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก

         "ธนาคารกรุงไทยได้ให้สิทธิ์แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ได้ใช้สิทธิ์ตัวเองกู้เงินได้เหมือนกับข้าราชการมหาวิทยาลัยทุกประการ ซึ่งแต่เดิมพนักงานมหาวิทยาลัยจะไม่ได้รับสวัสดิการในการกู้เงินธนาคารใดๆเลย ผมได้ประสานงานและลงไปชี้แจงกับทางธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแรก ทำงานอย่างต่อเนื่องมา1ปี จนถึงตอนนี้ระเบียบข้อบังคับได้เปลี่ยนไป"

         “ด้วยการอธิบายรายละเอียดว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทำงานอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยมีระยะเวลาในการทำงานโดยทำสัญญาเป็นระยะ 1 ปี 3 ปี 5 ปี และมีโอกาสต่ออายุการทำงานเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เขาควรมีสิทธิ์และมีโอกาสในการกู้ธนาคารเพื่อจะนำเงินไปใช้จ่ายสร้างอนาคตหรือที่อยู่อาศัยของตัวเองได้เทียบเท่ากับข้าราชการมหาวิทยาลัยทุกประการ”

         ว่ากันว่า แต่เดิมการพิจารณาสิทธิ์ในการกู้เงินตามสัญญา ดูแค่ตัวอักษรในหนังสือ ซึ่งไม่ได้ดูตามสภาพจริง จะทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้มีแค่มศวเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศด้วย

         ไม่เพียงเท่านั้น การขาดสวัสดิการในส่วนนี้ไป เกิดการเปรียบเทียบว่าทำไมข้าราชการในมหาวิทยาลัยกู้ธนาคารได้แล้วทำไมพนักงานมหาวิทยาลัยจึงกู้ไม่ได้ มีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ ทำให้ "เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" ขึ้น 

         มศว ยุค“หมอเฉลิมชัย”ได้ต่อสู้ให้มีการแก้ไขคำนิยามผู้มีสิทธิในการกู้ใหม่และเพิ่มพนักงานมหาวิทยาลัยเข้าไปด้วย จากการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิในการกู้เงินธนาคารกรุงไทยได้

         ผศ.นพ.เฉลิมชัย  ยังให้ข้อคิดว่า บางครั้งการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้นโยบายต่างๆ แก่คนทำงาน ไม่ได้หมายความว่าให้คนทำงานตามเรื่องเพียงฝ่ายเดียว ผู้บริหารเองก็ต้องตามเรื่องและลงไปคุยอธิบายรายละเอียดอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิ์ในการกู้เงินธนาคารกรุงไทยได้ ถือเป็นข่าวดีที่พนักงานมหาวิทยาลัยรอคอย

          “ขณะนี้พนักงานมหาวิทยาลัยแต่ละสถาบันการศึกษาจะสามารถกู้เงินธนาคารกรุงไทยได้เพียงแห่งเดียว แต่ผมเชื่อว่าจะมีแรงกระเพื่อมให้ธนาคารอื่นๆ หรือแม้กระทั่งสหกรณ์ออมทรัพย์ จำกัด มศว และสหกรณ์ ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอื่นๆ อาจต้องคิดใหม่ในเรื่องนี้ เพราะธนาคารกรุงไทยยังเปลี่ยนแปลงหลักคิด หากธนาคารหรือสถาบันทางการเงินอื่นๆ ยังยึดหลักเดิมอาจจะทำให้เสียลูกค้ากลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งก็ว่าได้”

          ณ วันนี้ ภาพรวมของพนักงานมหาวิทยาลัยของไทย ยังดำรงชีพด้วยความยากลำบาก ขณะที่รัฐบาล“บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ไฟเขียวให้จัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แต่กลับซุกปัญหาอุดมศึกษาเอาไว้ใต้พรม ทำให้มีเสียงท้วงติงจากประชาคมชาวอุดมศึกษาว่าช่วยเข้าไปรับรู้และแก้ไขปัญหาในมหาวิทยาลัยก่อนได้มั๊ย อย่าปฏิรูปการศึกษาบนดาวอังคาร เพราะนั่นไม่มีวันเปฺ็นจริง!! 

-----//----

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ