วันนี้ในอดีต

1 ม.ค.2551 วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากย้อนกลับไปดูในเฟซบุ๊กของเขาก่อนเสียชีวิต ดูเหมือนว่าเขายังคงเดินหน้าภารกิจอย่างไม่เคยหยุดพัก โดยไม่มีวี่แววว่าร่างกายจะสั่งให้เขาหยุดพักตลอดกาลเลยแม้แต่น้อย

               อีกเรื่องดีๆ รับวันปีใหม่ 2561 คงต้องขอย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 1 ม.ค.2551 เมื่อ คนไทยที่ชื่อ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้รับเกียรติดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน

               เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทั้งประเทศ เพราะเวทีนี้ต้องเรียกว่า ระดับโลก!!

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

               เพราะตำแหน่งนี้มีความสำคัญ มีชื่อเต็มของตำแหน่ง คือ “เลขาธิการใหญ่แห่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งในการดำรงตำแหน่งจะต้องไปเป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

                และหน้าที่ของเลขาธิการอาเซียน นั้นก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือ มีหน้าที่กำกับดูแลงานของอาเซียนในภาพรวม อำนวยความสะดวก ดูแลความคืบหน้าในการดำเนินงานตามความตกลง และข้อตัดสินใจของอาเซียน จัดทำและเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานและข้อคิดเห็นของอาเซียน เข้าร่วมการประชุมกับประเทศคู่เจรจาตามแนวนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบ และตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและเป็นผู้แทนของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงหน้าที่อื่นที่ได้กำหนดไว้ในกฏบัตรอาเซียน

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                นอกจากนี้ การได้เก้าอี้นี้มาก็ใช่จะง่ายดาย เพราะหลักการคัดเลือกเลขาธิการอาเซียน เริ่มจากบุคคลนั้นๆ ต้องได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) จากการเสนอชื่อของประเทศที่มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้สมัครใช้หลักการเวียนตามตัวอักษร ภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก เช่น ในวาระปัจจุบัน ประเทศเวียดนามมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ส่วนรอบต่อไปคือปี พ.ศ.2561 ประเทศบรูไนจะได้รับสิทธิในการเสนอชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น

                และเป็นไปตามนั้น สำหรับประเทศไทย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณนั้น เป็นเลขาธิการอาเซียนลำดับที่ 12 เริ่มดำรงตำแหน่ง–1 มกราคม พ.ศ. 2551 สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง–31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 โดยได้รับการผลักดันจากรัฐบาล นายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

                เนื่องจากบทบาทในทางต่างประเทศก่อนหน้านั้นของ ดร.สุรินทร์นั้น นับว่ามีความโดดเด่น เช่น ในช่วงปี 2544 ที่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ช่วงเวลานั้น ดร.สุรินทร์ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยได้แสดง “บทบาทนำ” ในวิกฤติครั้งสำคัญของอาเซียน นั่นคือ “ความขัดแย้งในพื้นที่ติมอร์ตะวันออก” ที่คนพื้นเมืองต้องการแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย มีเหตุรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

                ครั้งนั้น ดร.สุรินทร์ ได้เจรจากับ ญี่ปุ่น เพื่อขอทุนสนับสนุน “กองกำลังรักษาสันติภาพ” โดยได้งบประมาณมาราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะส่งกองกำลังผสมนำโดยทหารจากไทย และ ฟิลิปปินส์ จำนวน 3,400 นาย เข้าไปในพื้นที่กระทั่งสถานการณ์คลี่คลายลง และพื้นที่ติมอร์ตะวันออกเกิดเป็นประเทศ “ติมอร์-เลสเต” (Timor-Leste) ในที่สุด

                ต่อมาปี 2550 เมื่อใกล้ถึงวาระที่ประเทศไทยต้องส่งตัวแทนไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศของไทยในรัฐบาลสุรยุทธ์ จึงได้ส่งชื่อของ ดร.สุรินทร์ และได้เข้ารับตำแหน่ง โดยมีผลงานสำคัญเช่น เป็นผู้ผลักดันให้เกิด กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) และยังประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนใน 10 ชาติสมาชิก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประชาคมอาเซียนด้วย

                อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อ ดร.สุรินทร์หมดวาระจากตำแหน่งมาแล้ว ท่านก็ยังคงทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่เรื่อยมา จนแม้ขนาดถึงวันสุดท้ายของชีวิต! ซึ่งคนไทยสุดช็อก! เพราะไม่คิดไม่ฝันว่าคนที่ยังดูแข็งแรงสดชื่นจะมาลาจากไปอย่างกะทันหัน!

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                เมื่อ “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน ถึงแก่อนิจกรรมในช่วงบ่ายของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง สิริอายุ 68 ปี

                ซึ่งหากย้อนกลับไปดูในเฟซบุ๊กของเขาก่อนเสียชีวิต ดูเหมือนว่าเขายังคงเดินหน้าภารกิจอย่างไม่เคยหยุดพัก โดยไม่มีวี่แววว่าร่างกายจะสั่งให้เขาหยุดพักตลอดกาลเลยแม้แต่น้อย

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                เพราะวันที่ 29 พฤศจิกายน วันเดียวก่อนเสียชีวิต เขาเพิ่งโพสต์เล่าเรื่องราวที่ไปเยี่ยมชม HUBBA-TO ตรงอ่อนนุช หรือ Co-Working Space แห่งแรกของไทยที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

                ยิ่งถ้าไล่ดูย้อนลงไป ดูเหมือนว่า อดีตเลขาธิการอาเซียนผู้นี้จะมีกิจกรรมไม่เว้นแต่ละวัน และยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมบุคลิก ทักษะการพูดจาฉะฉาน แบบที่เราคนไทยคุ้นเคยกันดี !

                มาถึงตรงนี้ จึงขอนำเสนอประวัติของท่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการรำลึกถึง

                ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดวันที่ 28 ตุลาคม 2492 ที่บ้านปอเนาะ ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เดิมชื่อ อับดุลฮาลีม เปลี่ยนเป็น “สุรินทร์” โดยยายเป็นคนเปลี่ยนชื่อให้

                ดร.สุรินทร์ เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 11 คน ของ ฮัจยีอิสมาแอล (เสียชีวิต) ผู้เป็นบิดา และ ซาปิยะ พิศสุวรรณ ผู้เป็นมารดา เขามีภรรยาคือ อลิสา นามสกุลเดิม ฮัจยะห์อาอีซะฮ์ และมีบุตรชาย 3 คน คือ มุฮัมหมัด ฟูอาดี้ - ฮุสนี่ - ฟิกรี่ 

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                นอกจากนี้ ยังมีบันทึกเป็นพ็อกเกตบุ๊กชื่อ “ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น” ระบุว่า ทวดของ ดร.สุรินทร์ เป็นผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมในนครศรีธรรมราช ในขณะที่ตาและพ่อก็เป็นโต๊ะครูคนสำคัญของท้องถิ่น มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาในระดับที่ไปร่ำเรียนถึงนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ด้วยกันทั้งคู่

                ทั้งนี้ คุณตาของสุรินทร์ยังเป็นผู้ตั้งโรงเรียนปอเนาะบ้านตาล ในช่วงปี 2484 และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน

                วัยเด็ก ดร.สุรินทร์จบประถมที่โรงเรียนวัดบ้านตาล จบมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ และด้วยความเป็นเด็กหัวดี เขาได้รับการส่งเสริมจากอาสาสมัครสันติภาพชาวอเมริกัน ที่มาทำงานสอนภาษาอังกฤษในไทย ผลักดันให้เขาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

 

                กลับมาไทยก็เรียนต่อจนจบ ม.ปลาย และไปเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นศิษย์เอกของ อ.เสน่ห์ จามริก และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

                แต่เขาเรียนอยู่ 2 ปี ก็สามารถสอบชิงทุนได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (ปรัชญารัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ เมื่อปี 2515

                ต่อมาช่วงปี 2517 เขาจบปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์) และตามด้วยปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ที่เดิมในปี 2522 (ต่อมายังมาจบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2552 อีกด้วย)

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                เรียนจบเป็นดอกเตอร์หนุ่มกลับมาเมืองไทย ก็เข้าสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2518 จนปี 2529 ก็ตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยการชักชวนของ สัมพันธ์ ทองสมัคร และ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์

                ที่สุดประสบความสำเร็จ ได้เป็น ส.ส.นครศรีฯ บ้านเกิด สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และนั่งเก้าอี้นี้ติดต่อกัน 7 สมัย

                นอกจากนี้เขายังเคยเป็นเลขานุการของ ชวน หลีกภัย ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (2529-2531) ต่อมายังได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2535-2538 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2540-2544

                ครั้งหนึ่ง ช่วงปี 2548 เขาเคยนั่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถัดจากนั้นปีเดียว หลังรัฐประหาร 2549 สุรินทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

                แต่ปรากฏว่า จังหวะดีมากกว่านั้น เมื่อถึงคิวตัวแทนจากประเทศไทยเป็น “เลขาธิการอาเซียน” เขาก็ได้รับการผลักดันจากรัฐบาล นายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนได้เข้าไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว ไปนั่งทำงานที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 จนครบสิ้นสุดวาระเมื่อ 1 มกราคม 2556 ครบ 5 ปีพอดี !

 

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                ถือเป็นความภาคภูมิใจ สำหรับอดีตเด็กปอเนาะคนหนึ่งที่มีโอกาสเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ หลังจากอดีตเอกอัครราชทูต และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แผน วรรณเมธี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2532-2536

                นอกจากนี้ ยังมีชื่อติดอยู่ในหนังสือ “500 ชาวมุสลิมผู้ทรงอิทธิพลที่สุด ปี 2009" คัดเลือกจาก ศูนย์พริ้นซ์ อัลวาลีด บิน ทาล้าล เพื่อความเข้าใจระหว่างมุสลิม-คริสเตียน แห่ง ม.จอร์จทาวน์, ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์อิสลามแห่งราชวงศ์จอร์แดน และ ศูนย์อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

                มุมหนึ่ง หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจในการเป็นเลขาธิการอาเซียนแล้ว เขายังเข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาหลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย ในฐานะ “ธรรมศาสตราภิชาน” แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1 ม.ค.2551  วันที่ภาคภูมิใจของคนไทยในเวทีโลก!

                นอกเหนือจากนี้ ยังมีบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ ที่เป็นทั้งกรรมการตามองค์กรธุรกิจชั้นนำหลากหลาย และยังมักได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาตามองค์กรและสถาบันที่สำคัญต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในและต่างประเทศ ประสาคนที่มีประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ระดับเวทีโลก

                แม้วันนี้ ท่านได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์แล้ว แต่พวกเราคนไทยจะไม่มีวันลืมบุรุษผู้นี้ตลอดกาล

 

/////////////

ขอขอบคุณภาพจากเฟซบุค สุรินทร์ พิศสุวรรณ - Surin Pitsuwan

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ