วันนี้ในอดีต

28 ธันวาคม 2311 “พระเจ้าตาก” พระนามนี้ ที่ข้าศึกหนาว!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลงานอันสร้างชื่อของพระเจ้าตากสิน ที่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วแคว้นสยามและเพื่อนบ้านใกล้เคียง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทย

          ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจ เด็ดเดี่ยว

          มื้อนี้เราจะเคี้ยวข้าว แล้วทุบหม้อข้าว

          ตีแหกฝ่าวงล้อม ลุยพม่าข้าศึก

          นึกถึงความเป็นไทย ดีกว่าไปเป็นทาส

          ไม่เกินเลยที่เนื้อเพลง “เจ้าตาก” ของ วงคาราบาวได้กล่าวไว้ เพราะสำหรับคนไทยแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือนักรบแห่งกรุงศรีที่แท้จริง!

          ส่วนสำหรับบรรดาข้าศึกในอดีตนั้น เชื่อขนมกินได้เลยว่า เมื่อได้ยินพระนามนี้จะต้องหนาวในฤดูร้อนกันเลยทีเดียว!

 

28 ธันวาคม 2311  “พระเจ้าตาก”  พระนามนี้ ที่ข้าศึกหนาว!

          และในโอกาสดีที่วันนี้ของเมื่อ 249 ปีก่อนโน้น หรือวันที่ 28 ธันวาคม 2311 คือวันที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรี พร้อมทั้งสถาปนากรุงธนบุรีให้เป็นราชธานี ขณะพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ หรือ พระบรมราชา ที่ 4

          และก่อนที่เราจะไปอ่านเรื่องราวกล่าวขวัญในพระปรีชาสามารถเชี่ยวชาญการรบของพระองค์ จนทำให้ข้าศึกแตกพ่ายกระจัดกระจายอับอายขายหน้า นั้น เรามาไล่เรียงพระราชประวัติของพระองค์กันอีกครั้งหนึ่งก่อน

          สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่า สิน (ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ (นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้) และ นางนกเอี้ยง (กรมพระเทพามาตย์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา

          ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปีตามขนบประเพณี ของไทย

          บวชอยู่ 3 พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310

          ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์สมบัติกรุงธนบุรีได้ 15 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์มีชนมายุ 48 พรรษา กรุงธนบุรีมีกำหนดอายุกาลได้ 15 ปี

 

28 ธันวาคม 2311  “พระเจ้าตาก”  พระนามนี้ ที่ข้าศึกหนาว!

ภาพการกู้เอกราชครั้งที่ ๒ และการก่อตั้งกรุงธนบุรี ภาพจิตรกรรมที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

 

          สำหรับผลงานอันสร้างชื่อของพระเจ้าตากสิน ที่เป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วแคว้นสยามและเพื่อนบ้านใกล้เคียง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทยได้สำเร็จ

          โดยในปีพุทธศักราช 2308 -2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ให้แก่พม่าประมาณ 3 เดือน) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่น เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป

          จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน มุ่งไปทาง ฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถ ตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ๆ พากันตั้งตัวเป็นเจ้าและควบคุมหัวเมืองใกล้เคียง ไว้ในอำนาจ หลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีได้ ก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายสุดจินดาซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่หนึ่ง

          หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ให้กับพม่า หลังจากนั้น ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เนื่องจากทรงเห็นว่ามีชัยภูมิดี ประกอบกับ กรุงศรีอยุธยาเสียหายหนัก จนยากแก่การบูรณะ ให้เหมือนเดิม

28 ธันวาคม 2311  “พระเจ้าตาก”  พระนามนี้ ที่ข้าศึกหนาว!

          ต่อมาในปีพุทธศักราช 2311 ได้ทรงปราบดา ภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “พระเจ้าตากสิน” ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการทำศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรวบรวมแผ่นดิน ให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้โปรดให้มีการ สร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย

          หลังจากครองราชย์ได้ประมาณ 15 ปี ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหตุให้รัชสมัยของพระองค์ต้อง สิ้นสุดลง สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 48 ปี ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี และได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพมหานคร

          เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี (ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบ ดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์) เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

///////////////////////////////

ขอขอบคุณที่มา

วิกิพีเดีย

และ เวบไซต์ www.wangdermpalace.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ