วันนี้ในอดีต

27 ธ.ค. 2553 ซีวิคขาว 9 ศพ จบหรือยัง!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จำได้ไหม ข่าวที่สังคมไทยพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุใดจึงไม่มีการจับกุมตัว จนกลัวว่า คดีนี้อาจจะหลุด เพียงเพราะเป็นคนที่มีนามสกุลใหญ่โต แต่ที่สุดก็ลงท้ายแบบนี้!!

                จบไม่จบ ไม่มีทางลืม! กับคดีสะเทือนขวัญ วันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน หรือคืนวันที่ 27 ธ.ค.2553  เมื่อเยาวชนหญิงคนหนึ่ง ซึ่งทราบภายหลังว่าชื่อ แพรวา หรือ อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา  ขณะอายุ 16 ปี (ปัจจุบันอายุ 23) ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิค ชนรถตู้โดยสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า ช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

                และสิ่งที่ทำให้คาใจคนไทยมากที่สุด นอกจากจำนวนของผู้เสียชีวิตที่มากถึง 9 รายแล้ว ภาพของวัยรุ่นผู้นี้ กับท่ายืนกดโทรศัพท์หลังเกิดเหตุ ราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความสูญเสีย หรือเธอกำลังใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ได้กลายเป็นหนึ่งในชนวนที่ก่อให้เกิดกระแสรุมทึ้งเธอไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ในใจทุกคนรู้ดีว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แม้แต่ตัวของเธอเอง

                เพราะมันคืออุบัติเหตุ!! ที่รถของเธอ ไปชนรถตู้โดยสาร ทำให้รถตู้พลิกคว่ำไปชนขอบกั้นคอนกรีต และฟาดกับเสาไฟทำให้ประตูรถตู้เปิดออก ก่อนรถตู้จะคว่ำในลักษณะตะแคง แรงเหวี่ยงทำให้ผู้โดยสารภายในรถตู้กระเด็นออกมา ตกลงไปยังพื้นถนนด้านล่าง มีผู้เสียชีวิตรวม 8 ศพเป็นชาย 4 ศพ หญิง 4 ศพ โดย 1 ศพกระเด็นตกลงมามาสิ้นใจบนสะพานลอยคนข้าม ที่อยู่ใต้ทางด่วนโทลล์เวย์พอดี มี 1 ศพตกลงไปในคูน้ำ และมีผู้บาดเจ็บอีก 7 ราย

                อย่างไรก็ดี เมื่อยอมรับได้ระดับหนึ่งแล้วว่ามันคือเหตุสุดวิสัย ไม่คาดฝัน แต่เรื่องราวหลังจากนั้น ดูเหมือนว่า จะกลับทำให้สังคมคาใจอีกตามมาเรื่อยๆ

                เพราะเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหา ประมาทขับรถชนคนตาย และไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แต่จำเลยได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาคือ ขับรถโดยประมาท และ โทรศัพท์ขณะขับรถ ระหว่างเข้าให้ศาลสอบปากคำ เมื่อ 8 กรกฎาคม 2554

                และให้การว่า…เพิ่งไปสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาเมืองไทยไม่นาน ก็มาประสบอุบัติเหตุดังกล่าว โดยในช่วงเกิดเหตุขับมาลำพังคนเดียว และได้เร่งความเร็วขึ้นมาเพื่อจะแซงทางเลนขวา ส่วนรถตู้ที่แล่นช้ากว่า เกิดเบียดข้ามเลนมาทางขวากะทันหัน จึงบีบแตรไล่เสียงดังลั่นถนน รถตู้จึงหักพวงมาลัยกลับเข้าเลนกลางตามเดิม แต่ก็ช้าเกินไป เพราะรถเก๋งได้เสยท้ายรถตู้อย่างแรง จนรถตู้เสียหลักไปฟาดกับขอบทางด่วนฝั่งซ้ายมือ จากนั้นประตูรถตู้ก็ได้เปิด และแรงเหวี่ยงส่งผู้โดยสารปลิวออกจากตัวรถ กระเด็นลงไปกระแทกพื้นข้างล่าง ส่วนรถเก๋งของ กระเด็นไปชนขอบทางฝั่งขวา เสียหายยับเยินเช่นกัน

                ช่วงนั้น สังคมต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุใดจึงไม่มีการจับกุมตัว ซึ่งที่ผ่านมา มีข่าวและกระแสต่างๆว่า คดีนี้อาจจะหลุด เพียงเพราะเป็นคนที่มีนามสกุลใหญ่โต

                แต่ในที่สุด จำเลยมีการออกแถลงการณ์ของทนาย 2 ฉบับ โดยมีใจความว่า จากภาพถ่ายรถคู่กรณีทั้งสองคัน ไม่พบร่องรอยสีของรถยนต์ทั้งสองคันติดกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก หากเกิดการเฉี่ยวชนอย่างรุนแรงขนาดนั้น จะไม่เกิดร่องรอยหรือสีของรถทั้งสองคันติดอยู่บนตัวถังรถซึ่งกันและกัน จึงขอให้สังคมโปรดพิจารณาตามข้อเท็จจริง

                ส่วนภาพที่นางสาวแพรวา  ยืนใช้โทรศัพท์อยู่นั่น ทางทีมกฎหมายได้ชี้แจ้งว่าภายหลังจากเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ถูกอัดอยู่ใต้พวงมาลัยรถ จนกระทั่งได้รับการช่วยเหลือและถูกพยุงมาพิงกับขอบทางด่วน พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากหน่วยกู้ชีพให้โทรติดต่อหาญาติและผู้ปกครอง โดยหน่วยกู้ชีพได้ไปหาโทรศัพท์จากรถยนต์ซีวิคมาให้กับผู้ต้องหาใช้ ในจังหวะที่กำลังกดโทรศัพท์อยู่นั้น ก็ถูกช่างภาพถ่ายรูปไว้

                ในขณะที่ประเด็นที่ระบุว่าฝ่ายผู้ต้องหาไม่เคยติดต่อเข้าไปเจรจากับผู้เสียหาย ซึ่งขอเรียนว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุ ครอบครัวของผู้ต้องหาได้พยายามติดต่อหาญาติของผู้เสียหายเกือบทุกท่าน

                จากนั้นก็มีการออกแถลงการณ์ตอบโต้จากทางกลุ่มเพื่อนหลากสกุลของผู้เสียชีวิตทั้ง 9 ศพ ระบุไม่เห็นด้วยหลายข้อ โดยเฉพาะที่ว่า

                “อุบัติเหตุและความสูญเสียเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ปุถุชนจะควบคุมได้ แต่คำขอโทษและการแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งด้วยความจริงใจ ผ่านคำพูด สีหน้า และแววตา เป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถที่มนุษย์ปุถุชนที่ไม่บกพร่องทางจิตสำนึกจะทำได้”

                นี่เองที่เหมือนไฟในใจสังคมไทยในเวลานั้น

                อย่างไรก็ดี ที่สุด จำเลยได้เดินทางมาพร้อมบิดามารดาและทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาขับรถชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2554 ตามหมายเรียก ซึ่งตำรวจได้แจ้ง 2 ข้อหา คือ ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเสียหายมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต และ ข้อหาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่           

                คดีนี้มีการดำเนินคดีเรื่อยมา แถมยังมีการร้องเรียนจากญาติผู้เสียชีวิตบางรายว่า ไม่เคยได้รับเงินเยียวยา และการมาพบถามไถ่แต่อย่างใด

                จนกระทั่งวันที่ 30 ก.ค.2555 สาวซีวิคได้เจอญาติเหยื่อครั้งแรก เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมาประชุมร่วมกัน โดยญาติผู้เสียหายเดินทางมาศาลเกือบครบ ด้านสาวซีวิตจำเลย เดินทางมาพร้อมบิดาและมารดาโดยรถตู้ และได้หลบผู้สื่อข่าวเข้ามาภายในอาคารทันที บอกเพียงสั้นๆว่า “ขอโทษค่ะ มันเป็นอุบัติเหตุ“

                ต่อมาเรื่องราวเริ่มเงียบหาย จนมีการทวงถามจากชาวเน็ต โดยมีการแชร์ภาพของสาวซีวิค ในการร่วมกิจกรรมรับน้องที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอย่างรุนแรง

                จนที่สุด วันที่ 31 ส.ค. 2555 คดีสะเทือนขวัญนี้ ได้จบลงด้วยบทสรุปที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิพากษาจำคุกสาวซีวิค 2 ปี โทษรอลงอาญา 3 ปี พร้อมสั่งคุมประพฤติห้ามขับรถจนถึงอายุ 25 ปี หรือราวปี 2562 เพราะเธอเกิดวันที่ 30 มิถุนายน 2537

                ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีประจักษ์พยานให้การยืนยันการเหตุการณ์ ทั้งผู้โดยสารที่อยู่ในรถตู้และเจ้าหน้าที่ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งขับรถตามหลังมาและเห็นเหตุการณ์ รวมทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริง ฐานขับขี่รถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การนำสืบพยาน เป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุก 2 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี พร้อมสั่งคุมประพฤติจำเลย 3 ปี และห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

                ส่วนข้อหาใช้โทรศัทพ์มือถือขณะขับรถ โจทก์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวจริง จึงพิพากษายกฟ้อง

                ขณะที่ในคดีแพ่ง ดูเหมือนว่าจะยืดเยื้อมาก เพราะจำเลยขอขยายเวลาอุทธรณ์ โดยหลังจากศาลชั้นต้น สั่งให้จำเลย คือครอบครัว น.ส.แพรวา จ่ายให้กับญาติของเหยื่อ รวมกว่า 26 ล้านบาท ปรากฏว่ามีรายงานจากหนึ่งในทีมทนายความที่ต่อสู้ให้กับผู้สูญเสีย เผยว่า ในส่วนของจำเลย เขาได้ทำการยื่นขอขยายเวลาอุทธรณ์มาแล้ว 2 ครั้ง

                ที่สุด การอุทธรณ์เป็นผล! เพราะวันที่ 18 เมษายน 2560 ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์พฤติการณ์กระทำละเมิดแล้วเห็นว่า เหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดจาก จำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว แต่พฤติการณ์การขับรถของ นางนฤมล ปิตาทานัง คนขับรถตู้ที่ขับด้วยความเร็วสูง ก็เป็นการประมาทเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ การเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1-3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินควร จึงพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์

                 โดยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1-5, 9-19, 21-22, 25-28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาท พร้อมทั้งให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย

                แน่นอนในทางคดีทั้งอาญาและแพ่งได้จบลง ณ ประการฉะนี้

                แต่ในจิตใจคนไทย และผู้สูญเสีย จะจบหรือไม่จบ!! แต่หลายคนจะไม่มีวันลืม!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ