วันนี้ในอดีต

19 ธ.ค.2423 พระองค์นี้ที่ว่า คือ “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในบรรดาพระราชโอรสของสมเด็จพระปิยมหาราช กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์พระองค์นี้ ชีวิตไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินควรจะเป็น

                ประวัติศาสตร์ชาติไทยจารึกชื่อของ “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ในพระปรีชาสามารถอันรอบด้าน และชีวิตที่ทรงมีอย่างหลากรสชาติ หนึ่งในนั้นยังเป็นที่รู้กันว่า พระองค์ยังได้ชื่อว่าเป็น “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง” อีกด้วย

                ทั้งนี้ วันนี้เมื่อ 137 ปีก่อน คือวันประสูติกาลของพระองค์ ผู้เป็นเป็นพระเจ้าลูกยาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นองค์ที่ 28 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

               พระองค์ทรงมีพระกนิษฐาและพระอนุชา ร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์ (ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส - ต้นราชสกุล สุริยง)

                โดยพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" และอย่างที่คนไทยรับรู้กัน คือพระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" กระทั่งมีการแก้ไขในปี 2544 เป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย”

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

 

                ในด้านการศึกษา ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้น ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ในปี พ.ศ. 2436

                จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ในปี พ.ศ. 2439 ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ 6 ปีเศษ

                ที่สุด เสด็จกลับไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 จึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี) ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์" ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

 

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

 

                อย่างไรก็ดี ปีนั้นเอง พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 แต่ในภายหลัง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ ทรงน้อยพระทัยพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และปลงชีพพระองค์เองด้วยยาพิษสิ้นพระชนม์เมื่อ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451

                ระหว่างนั้น กรมหลวงชุมพรฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ใน พ.ศ. 2449 นอกจากนี้ทรงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"

                ชีวิตช่วงหลังจากนั้นราวปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และรับรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า ทรงเรียกพระองค์เองว่า "หมอพร"

 

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

 

                และเมื่อปี พ.ศ. 2460 ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมจเรทหารเรือ และดำรงตำแหน่ง เสนาธิการทหารเรือในปี พ.ศ. 2461

                จน พ.ศ. 2462 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป เรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือหลวงพระร่วง" ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือหลวงพระร่วงเดินเรือข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร ด้วยพระองค์เอง

                พ.ศ. 2463 มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ฯลฯ (คำ "เขตร์" ในพระนามเปลี่ยนเป็น "เขต" ด้วย)

                นอกจากนี้ยังทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ สร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. 2465 เนื่องจากทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด มีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม สามารถบังคับคลื่นลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เมื่อเรือภายนอกแล่นผ่านบริเวณนี้จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้เลย

                กระทั่งพ.ศ. 2466 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ได้กราบบังคมลาออกจากราชการ เพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ที่จังหวัดชุมพร ทรงถูกฝนประชวรเป็นพระโรคหวัดใหญ่ สิ้นพระชนม์ที่ ตำบลทรายรี ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 สิริพระชนมายุได้ 43 พรรษา

                จากข้างต้น คือ พระประวัติที่เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถสมเป็นลูกกษัตริย์ แต่เสด็จเตี่ยของพวกเราพระองค์นี้ ยังมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์อื่นๆ แตกต่างไปจากหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์พระองค์อื่น

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

                และในทั้งหมดนี้ ยังมีเรื่องราวของความเป็น “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง” โดยมีเรื่องเล่าที่ปรากฏหลักฐานจากหลายแหล่ง แต่ตรงกัน ซึ่งขอคัดมาจาก http://www.all-magazine.com ได้เรียบเรียงไว้ว่า

                ในบรรดาพระราชโอรสของสมเด็จพระปิยมหาราช กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์พระองค์นี้ ชีวิตไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ลูกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินควรจะเป็น แต่ทรงใช้ชีวิตผจญภัยอย่างลูกผู้ชายธรรมดาทั่วไป

                ครั้งหนึ่งทรงเผชิญวิบากกรรมถึงขั้นถูกปลดออกจากราชการในขณะปฏิบัติหน้าที่ ‘พระบิดาแห่งราชนาวีไทย’ และเมื่อทรงหันไปศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ ก็ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘หมอเทวดา’ ออกรักษาคนอาการหนักทั่วไป ถึงขั้นทำคลอดให้นางละครที่หลังเวที แต่ที่หนักหนาสาหัสยิ่งก็คือ ทรงเป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ 5 เพียงพระองค์เดียวที่ต้องออกรบในสมรภูมิต่างแดน เสี่ยงชีวิตและผจญกับความลำบากอย่างแสนเข็ญ

                ย้อนกลับไปในวัยหนุ่ม ขณะที่ยังทรงพระนาม “พระองค์เจ้าอาภากรฯ” ก็มักจะเสด็จท่องราตรีไปตามโรงยาฝิ่น ร้านขายสุรา และโรงบ่อนต่างๆ ทั้งฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรีโดยมี นายเล่ นักเลงโตย่านนางเลิ้ง และสะพานเหล็ก ซึ่งมีสมุนเป็นอันธพาลจำนวนมากเป็นผู้ติดตามรับใช้

                บางครั้งก็ทรงไปนอนคุยกับพวกสูบฝิ่นในโรงยาฝิ่น โดยไม่มีใครรู้ว่าพระองค์เป็นใคร ต่อมาเจ้าพี่เจ้าน้องทราบเรื่อง จึงนำไปเพ็ดทูลพระราชบิดา แต่แรกเริ่มยังไม่ทรงเชื่อเรื่องนี้นัก จึงออกสืบหาความจริงด้วยพระองค์เอง โดยทรงปลอมเป็นราษฎรสามัญ เสด็จด้วยรถม้าคันเล็กๆ ไปจอดที่หน้าบ่อนต้นมะขาม นางเลิ้ง

                จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปตามโรงยาฝิ่นและร้านสุราย่านนั้น พอเสด็จมาถึงหน้าโรงยาฝิ่นก็ทอดพระเนตรเห็นเสด็จในกรมฯ พร้อมด้วยนายเล่ข้าติดตาม ออกมาพอดี ร.5 ทรงจับได้คาหนังคาเขา จึงชี้พระหัตถ์ไปที่กรมหลวงชุมพรฯ แล้วรับสั่งว่า “นั่นแน่ อาภากร ประพฤติตนแบบที่เขาฟ้องจริงๆ”

                เมื่อตามเสด็จกลับไปที่รถม้าแล้ว กรมหลวงชุมพรฯ ก็ก้มลงกราบพระบาทพระราชบิดาแล้วทูลว่า ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อจะสืบหาข่าวว่าใครคิดร้ายต่อเสด็จพ่อ คิดกบฏต่อบ้านต่อเมือง หรือจะลักขโมยเข้าปล้นกันที่ไหน จะได้ป้องกันได้ทันท่วงที สมเด็จพระปิยมหาราชจึงทรงลูบหลังพระโอรสองค์โปรด พร้อมกับรับสั่งว่า “อ้อ อย่างนั้นดอกหรือ”

                รุ่งขึ้นก็รับสั่งให้เสด็จในกรมฯ เข้าเฝ้า และพระราชทานสร้อยสังวาลทองคำฝังเพชร 1 สาย เป็นรางวัลความดีความชอบที่ออกสืบราชการลับ เสด็จในกรมฯ เลยถือโอกาสบรรจุนายเล่เข้ารับราชการเป็นทหารเรือ ยศว่าที่นายเรือตรี มีหน้าที่คอยติดตามเสด็จเวลาออก ‘สืบราชการลับ’ โดยเฉพาะ

 

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

         

              นอกจากนี้ ช่วงที่มีเหตุต้องออกจากราชการทหารเรือในปี พ.ศ. 2454 นายพลเรือตรี กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงหันมาใช้เวลาว่างศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ จากพระยาพิษณุประสาทเวชหัวหน้าหมอหลวงฝ่ายยาไทย

                จากนั้นเมื่อเชี่ยวชาญจึงเปิดวังของพระองค์เป็นห้องทดลอง เมื่อพบตัวยาขนานใดก็ให้สัตว์ทดลองก่อน จนแน่ใจจึงนำมาใช้กับคน และออกรักษาประชาชนผู้ยากไร้โดยไม่คิดทั้งค่ายาค่ารักษา จนวังของพระองค์ก็แปรสภาพเป็นโรงพยาบาล

                โดยแม้จะมีการตรวจโดยใช้วิธีตรวจเลือด ตรวจร่างกายด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ แต่รักษาด้วยยาสมุนไพรโบราณ โดยพระองค์ไม่ประสงค์ให้ใครๆ เรียกกันว่า ‘เสด็จในกรม’ แต่โปรดให้เรียกว่า ‘หมอพร’ ทรงวางพระองค์เป็นหมอธรรมดา แต่กิตติศัพท์การรักษาของพระองค์ลือลั่นไปทั่วบางกอกว่าหมอพรเป็นผู้วิเศษ โรคที่ใครรักษาไม่ได้ คนไข้กำลังจะตายอยู่แล้ว หมอพรยังชุบชีวิตขึ้นมาได้ยังกับหมอเทวดา

                ส่วนเรื่องทำคลอดให้นางละคร ก็ถือเป็นตำนาน โดยคืนหนึ่ง นางละครคณะปรีดาลัยเกิดเจ็บท้องขึ้นมากลางดึก คนในโรงละครจึงวิ่งไปตาม หมอพรรับสั่งว่าไม่มีความรู้เรื่องหมอตำแยเลย แต่ที่สุดก็ยอมไป โดยการคลอดลุล่วงไปอย่างง่ายดาย ปลอดภัยทั้งแม่และลูก กิตติศัพท์เรื่องหมอพรทำคลอดให้นางละครคณะปรีดาลัยจึงดังระบือไปทั่วเมือง ใครๆ ที่กำลังตั้งท้องก็อยากจะให้หมอพรไปทำคลอดให้ทั้งนั้น

                แต่ที่ร้ายแรงที่สุดในพระชนม์ชีพ เห็นจะเป็นเมื่อครั้งทรงไปศึกษาวิชาการทหารเรือที่อังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษา ทรงสอบได้เป็นลำดับที่ 7 ของรุ่นขณะมีพระชนม์เพียง 18 พรรษา เข้าฝึกงานในเรือหลวง Revenge ของราชนาวีอังกฤษ ซึ่งประจำการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

                ขณะนั้นเกิดจลาจลขึ้นที่เกาะครีทใกล้ฝั่งตุรกี ซึ่งอยู่ในความปกครองของอังกฤษ ทหารอังกฤษถูกฆ่า อังกฤษจึงระดมเรือรบในย่านนั้นเข้าปราบกบฏ รวมทั้งเรือ Revenge ด้วย กรมหลวงชุมพรฯ ทรงรับหน้านำทหารอังกฤษเข้าปราบกบฏถึง 3เดือน ทรงเล่าให้นายพลเรือตรีพระยาหาญกลางสมุทรฟังว่า

                 "...ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ๆ และบางคราว ซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทากมาเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจมาก ถึงจะเป็นศพตายใหม่ๆ ก็ตาม..."

                อนึ่งว่ากันว่า ก่อนที่เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ท่านจะเสด็จสวรรคต ท่านได้รับสั่งว่าให้นำอัฐิของท่านไปไว้ที่เขาแหลมปู่เจ้า หรือ เขาแหลมปู่เฒ่า หรือ จะเรียกว่าเขากรมหลวงก็ได้ครับ เขานี้ตั้งอยู่ในเขตนาวิกโยธินทหารเรือสัตหีบ โดยเป็นศาลกรมหลวงชุมพรแห่งเดียวที่เก็บบรรจุอัฐิของพระองค์ให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะ 

                นอกเหนือจากศาลที่ทางการไทย ได้จัดสร้างศาลและอนุเสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นรวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย!!

 

19 ธ.ค.2423  พระองค์นี้ที่ว่า คือ  “มือปราบนักเลงนางเลิ้ง”

         แหละนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสุดจะพรรณาของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ มือปราบนักเลงนางเลิ้ง ที่คนไทยยังคงเคารพรักบูชามาจนทุกวันนี้ 

/////////////////////////////////

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

http://www.all-magazine.com

และ http://www.thaitravelphotos.com/

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ