วันนี้ในอดีต

15 ธ.ค. 2555 ครูใต้อุ่นใจ รัฐจัดให้ หน่วย ฉก. 24 ช.ม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แม้จะ ยังมีคำถามจากคนไทยว่า “ถ้าวัวไม่หาย คนไทยจะไม่ล้อมคอก” แต่ตามบัญชาของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หน่วยเฉพาะกิจ 24 ชั่วโมงดูแลครู จึงเกิดขึ้น!

         ย้อนไปในวันนี้ของ 5 ปีก่อน เวลานั้น หลายคนอาจเชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ครูใต้จะปลอดภัยมากขึ้น จากการที่รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรักษาชีวิตครู 24 ชั่วโมง

         แต่รู้หรือไม่ว่า ความรู้สึกนั้น ทุกวันนี้หลายอย่างกลับมาเข้ารูปรอยเดิม

         แต่ยังไงเสีย ก็ต้องเล่าความเป็นมา เพราะต้องนับว่านี่ก็เป็นหนึ่งในความพยายามของภาครัฐที่จะดูแลความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

         โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2555 หลังที่วันก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมระหว่างฝ่ายกองกำลังกับสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ตามบัญชาของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

         ที่สุดที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ฝ่ายความมั่นคงเตรียมตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมารับผิดชอบภารกิจคุ้มครองครูเป็นการเฉพาะตลอด 24 ชั่วโมง จากที่ดูแลเป็นช่วงเวลาเหมือนแต่ก่อน โดยจะจัดกำลังเป็นหน่วยเฉพาะกิจดูแลครูเป็นการเฉพาะ โดยเสริมกำลังของฝ่ายปกครอง ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เข้าไปช่วยทหาร

         ครั้งนั้นรัฐบาล จะเริ่มคุ้มครองครูในพื้นที่สีแดงที่เป็นเป้าหมายก่อน และเน้นไปที่โรงเรียนเป้าหมายหรือบุคคลเป้าหมายโดยใช้กำลังทหารเป็นหลัก เช่น โรงเรียนที่มีครูไทยพุทธ ส่วนพื้นที่สีอ่อน (มีความปลอดภัยสูงกว่า) ที่มีเหตุรุนแรงน้อยก็จะใช้กำลังจากฝ่ายปกครองและภาคประชาชนเสริมมากขึ้น

         นอกจากนั้นจะเร่งย้ายครูที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่คงไม่สามารถย้ายออกจากพื้นที่ทั้งหมดได้ มิฉะนั้นจะประสบปัญหาขาดแคลนครู

         ขณะที่ในวันเดียวกันนั้น ทางฝ่ายครู โดยสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการจัดประชุมของตัวเองเหมือนกัน

         ในทำนองที่ว่า นอกจากภาครัฐจะจัดมาตรการมาดูแลพวกเขาแล้ว ฝ่ายครูก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วย เพราะตนเป็นที่พึ่งแห่งตนให้ได้ก่อนนั้น จะดีที่สุด!!

         ที่สุดในการระดมความเห็นครูจากทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก็มีข้อสรุปร่วมกัน ว่า

         “ครูจะประมาทไม่ได้อีกต่อไป และต้องมีแผนปฏิบัติในส่วนของครูเอง ไม่ใช่มีแผนเฉพาะฝ่ายกองกำลังเท่านั้น”

         โดยมี “กฎเหล็ก” ที่ครูต้องทำ คือ อยู่อย่างไม่ประมาท, ศึกษาข้อมูลเส้นทาง ภูมิประเทศ และฟังข่าวสารการแจ้งเตือน, การเดินทางต้องรักษากฎกติกาที่ตกลงไว้กับฝ่ายกองกำลังอย่างเคร่งครัด อย่าดำเนินชีวิตแบบสบายๆ อย่ามั่นใจในความปลอดภัย แม้จะอยู่ในชุมชนมานาน หรือมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่รอบโรงเรียนก็ตาม, อย่าทำกิจกรรมใดๆ นอกเวลา รปภ.ครู หากมีกิจกรรมนอกเวลาต้องแจ้งฝ่ายกองกำลังทราบทันที, หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่โรงเรียนช่วงวันเสาร์ อาทิตย์, เตือนสติตัวเองทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

         อนึ่ง ในมุมหนึ่ง ยังมีคำถามจากคนไทยว่า “ถ้าวัวไม่หาย คนไทยจะไม่ล้อมคอก” เพราะในความเป็นจริง มาตรการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ครูสมศักดิ์ ขวัญมา อายุ 38 ปี ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านบาโง ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายบุกยิงถึงในโรงเรียน!

         ที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง คือ ครูสมศักดิ์เป็นบุตรคนโตของครอบครัวขวัญมา และเพิ่งสมรสกับ นางยุพิรัตน์ จันทร์ฉาย อายุ 34 ปี ครูโรงเรียนบ้านศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพียง 3 เดือนก่อนจะถูกยิงเสียชีวิต!

         และแม้ว่าล่าสุด จะมีข้อมูลจากสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้รายงานมาว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น เพราะสังคมให้การปกป้องครูอย่างดี

         โดยในปี 2547 ที่เป็นปีแรกของเหตุการณ์รุนแรงระลอกล่าสุด มีครูเสียชีวิตจำนวน 12 ราย จากนั้น ปี 2548 จำนวน 27 ราย, ปี 2549 จำนวน 26 ราย, ปี 2550 จำนวน 27 ราย, ปี 2551 จำนวน 17 ราย, ปี 2552 จำนวน 16 ราย, ปี 2553 จำนวน 13 ราย, ปี 2554 จำนวน 13 ราย, ปี 2555 จำนวน 10 ราย, ปี 2556 จำนวน 10 ราย, ปี 2557 จำนวน 9 ราย และในสองปีล่าสุด คือ ปี 2558 และ 2559 มีครูเสียชีวิตปีละ 1 รายเท่านั้น

         หรือที่ผ่านมา มีการดูแลเรื่องสวัสดิการครู ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยตลอด 13  ปีของความรุนแรง(ระบอกหลัง) องค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือครอบครัวครูชายแดนใต้ หรือ สกสค. เมื่อวันที่  5  กันยายน 2556 เพื่อช่วยเหลือครอบครัวครูทุกสังกัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทาง สกสค. จะมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวครูที่เสียชีวิต ทันที 5 แสนบาท ถ้าสามฝ่าย คือ ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทหาร) รับรองว่าเกิดจากสถานการณ์ใต้ นอกจากนั้น ยังจะได้รับเงินจากโครงการเทิดไทองค์ราชันย์อีกรายละ 1 หมื่นบาท!

         หรือ ข้อมูลภาพรวม จาก กอ.รมน. ที่รายงานจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ถึงสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

         ระบุว่านับจากเหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

         ในส่วนของตัวเลขความสูญเสียซึ่งชีวิต มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทุกประเภทในจังหวัดชายแดนใต้รวมทั้งสิ้น 7,248 คน เป็นการเสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวกับความมั่นคง 4,543 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.67

         กอ.รมน.ระบุว่า แม้ภาพรวมของสถานการณ์จะยังมีความพยายามก่อเหตุรุนแรงและมีความสูญเสียปรากฏอยู่ แต่จากสถิติตัวเลข 3 ปีย้อนหลัง พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

         โดยสถิติเหตุรุนแรง 3 ปีงบประมาณล่าสุด ลดลงอย่างต่อเนื่อง แยกเป็นในปีงบประมาณ 2557 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 663 เหตุการณ์, ปีงบประมาณ 2558 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 264 เหตุการณ์ ลดลง 399 เหตุการณ์ และปี 2559 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 193 เหตุการณ์ ลดลง 71 เหตุการณ์

         เช่นเดียวกับสถิติความสูญเสียชีวิต โดยในปีงบประมาณ 2557 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 282 คน, ปีงบประมาณ 2558 เสียชีวิต 127 คน ลดลง 155 คน, และปีงบประมาณ 2559 เสียชีวิต 116 คน ลดลง 11 คน

         แต่ไม่ได้หมายความว่า ความรุนแรงในพื้นที่ปลายด้ามขวานจะหรือหายไป กลับมาสุขสงบได้ดังเดิม ซึ่งเราคนไทยยังรอวันนั้นอยู่!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ