วันนี้ในอดีต

9 ธ.ค.2557 ครูไทยถูกดึงจากห้องเรียน 84 วัน จาก 200 วัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ช็อค!!วงการศึกษาไทย  เมื่อนักวิจัยหนุ่ม คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี พบครูถูกดึงจากห้องเรียน 84 จาก 200 วัน หรือ 42%

     พลันที่เปิดผลวิจัย"คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี“ ของนักวิจัยหนุ่มโนเนม ”ดร.ไกรยส ภัทราวาท"เล่นเอาบรรดาผู้บริหารระดับสูง"วังจันทรฯ"ถึงกับเจ็บจิ๊ด!! ไปตามๆ กัน

     วันนี้ในอดีต 9 ธันวาคม 2557 "ดร.ไกรยส ภัทราวาท“แม้มีตำแหน่งเป็นถึง ”ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา"สังกัดสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) แต่ในสายตานักวิจัย“รุ่นเก๋า”บอกว่าเขาเป็นเพียงเด็กน้อยเพิ่งหัดเดินในเวทีการวิจัยระดับชาติ 

      “คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี เสียงสะท้อนจากครูที่นักปฏิรูปต้องฟัง”ถูกนำเสนอโดย“ดร.ไกรยส ภัทราวาท”สะท้อนภาพผ่านการสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียน ที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู เพื่อสะท้อนสถานการณ์การทำงานของครูภายใต้ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน โดยได้ทำการสำรวจครูผู้ได้รับรางวัลครูสอนดีจากสสค. ซึ่งมีอายุเฉลี่ยและวิทยฐานะสูงกว่าครูทั่วไป กระจายตัวครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 427 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-15 ต.ค.2557 พบว่า ใน 1 ปี มีจำนวนวันเปิดเรียนทั้งหมด 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42%

     ผลวิจัยชี้ว่า กิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อันดับ 1 การประเมินของหน่วยงานภายนอกเฉลี่ย 43 วัน ทั้งการประเมินโรงเรียน ประเมินครู และประเมินนักเรียน โดยครูใช้เวลาไปกับการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดในโครงการต่างๆ 18 วัน การประเมินของสถาบันทดสอบ 16 วัน และการประเมินของสมศ. 9 วัน ตามด้วยอันดับ 2 การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน และอันดับ 3 การอบรมจากหน่วยงานภายนอก 10 วัน

     ครูส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ส่งผลดีต่อการเรียนการสอน ได้แก่ การแข่งขันทางวิชาการ การประเมินO-NET การอบรม และการประเมินการอ่าน

     เสียงสะท้อนของครูส่วนใหญ่ต้องการ “คืนครูสู่ห้องเรียน”และ “ลดภาระงานของครู” ที่ไม่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยลดภาระการประเมินด้านเอกสารลง และควรจัดอบรมในเนื้อหาที่ครูต้องการ ในช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น

     "ที่น่าสนใจคือครูมากกว่า 90% เห็นว่า หากโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการด้านวิชาการ การบริหารงบประมาณและการบริหารบุคคลจะมีส่วนสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนของครู โดยเงื่อนไขสำคัญของการกระจายอำนาจการบริหารจัดการเรียนการสอนให้ประสบผลสำเร็จคือ การมีส่วนร่วมของครู คุณภาพของผู้บริหาร การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนและนักเรียน”ดร.ไกรยส ระบุ

     จากงานวิจัยขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ในปี 2555 ได้ศึกษาเวลาของครูที่ใช้ในห้องเรียนของ 5 ประเทศได้แก่ เอธิโอเปีย สาธารณรัฐกัวเตมาลา ฮอนดูรัส โมซัมบิก และเนปาล พบว่า เมื่อครูถูกดึงออกนอกห้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับการสอนไป 20-30% จะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก โดยมีผลกระทบต่อโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก สมาธิของเด็กต่อเนื้อหาและผลคะแนนของเด็กลดลงอย่างเห็นได้ชัด

     ผลวิจัยครูไทยไม่ได้อยู่ห้องเรียน 42% เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจว่าเหตุใดคุณภาพการศึกษาถึงไม่ดีขึ้น เพราะแท้จริงรางวัลของเด็กคือ"การได้มีครูอยู่ในห้องเรียน"

     “ดร.ไกรยส ภัทราวาท”เขาเป็นใครมาจากไหน บังอาจมา ล้วงลับ จับผิด (พลาด)การบริหารจัดการศึกษา ของกระทรวงเกรดเอ อย่าง“กระทรวงศึกษาธิการ”ได้อย่างไร

     "ดร.ไกรยส ภัทราวาท“นักวิเคราะห์นโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. หลังจากเขาจบการศึกษา“ด้านเศรษฐศาสตร์” จาก“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”ในปี 2548 ได้มีโอกาสไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่ประเทศอังกฤษ ยาวนาน 5 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานที่เขาใฝ่ฝันที่เมืองไทยเมื่อต้นปี 2554 นี้ 

     เพียง 6 ปี ณ วันนี้ "ดร.ไกรยส ภัทราวาท“กลายเป็นนักวิจัยระดับแถวหน้าของประเทศไทย และเป็นคนหนุ่มวัยกว่า 30 ปีเพียงคนเดียว ที่ รัฐบาล”บิ๊กตูู่" พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา และหัวหน้า คสช. เลือกให้เขาเป็น 1 ใน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  

----------//----------

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ