วันนี้ในอดีต

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 8 ธันวาคม 2506 ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง และอีกหลายโรค นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและคนเดียวที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่ง!!

          วันนี้เมื่อ 54 ปีก่อน คือวันที่จอมพลในตำนานของชาวไทย "สฤษดิ์ ธนะรัชต์" ลาจากโลกไปในวัย 55 ปี 175 วัน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ ประเทศไทย และที่น่าสนใจคือ ท่านเสียชีวิตขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

          แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ประวัติและผลงานของจอมพลผู้นี้ ต้องบอกว่าคนไทยยุคหนึ่งได้ยินชื่อก็ขนลุกขนตั้งกันแล้ว!

          สำหรับประวัติของนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 11 คนนี้ เกิดเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่ บ้านท่าโรงยา หรือปากคลองตลาด ตำบลพาหุรัด กรุงเทพฯ

 

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

          มีชื่อแต่แรกเกิดว่า สิริ ธนะรัชต์ เป็นบุตรของ พันตรีหลวง เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับ จันทิพย์ จันทรสาขา (สกุลเดิม: วงษ์หอม)

          มีพี่ชายร่วมบิดามารดาชื่อ สวัสดิ์ ธนะรัชต์ มารดามีเชื้อสายลาวจากมุกดาหาร ส่วนบิดาเป็นชาวพระตะบอง ซึ่งอาจมีเชื้อสายเขมร

          วัยเด็ก เขาโตมาในครอบครัวที่บิดาเจ้าชู้ มีอนุภริยาจำนวนมาก จนมารดาทนไม่ไหว จึงพาสฤษดิ์อายุได้ 3 ปี และพี่ชาย หนีกลับบ้านเดิมที่มุกดาหาร

          แต่น่าเศร้าเพราะมีเรื่องเล่าว่า ระหว่างทาง “สวัสดิ์” บุตรชายคนโตเกิดเป็นไข้ป่าเสียชีวิตไปเสียก่อน

          ที่สุด เด็กชายสิริ หรือ “สฤษดิ์” ได้พำนักอยู่บ้านเดิมของมารดาจนมีอายุได้ 7 ปี บิดาก็มารับไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ส่วนมารดาก็ได้สมรสใหม่กับหลวงพิทักษ์พนมเขต (สีห์ จันทรสาขา)

          สฤษดิ์เข้ากรุงเทพมาก็ร่ำเรียนที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม จากนั้นในปี 2462 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2471

          ต่อมาเขาเข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2472

          กระทั่งช่วงปี 2476 บ้านเมืองเกิดกบฏบวรเดช ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นหนึ่งในฝ่ายปราบปรามกบฏของรัฐบาล ซึ่งมีพันเอกหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับบัญชา

          ที่สุดหลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะ เขาจึงได้รับพระราชทานยศร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก

          จนปี 2484 ร้อยเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง มียศเป็นพันตรี

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

          ที่สุดช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง 1 เมษายน 2488 เขาจึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง

          จนภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง แม้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ นายกฯในขณะนั้น ลงจากอำนาจแล้ว แต่พันเอกสฤษดิ์กลับเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เริ่มจากได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ 

          จนปี 2490 คณะนายทหารนำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แล้วส่งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาผงาดอีกครั้ง โดยมีพันเอกสฤษดิ์คนนี้เป็นขุนพลคู่ใจเรื่อยมา

          ว่ากันว่านับแต่นั้นตำแหน่งของพันเอกสฤษดิ์ก็ก้าวกระโดด จากปี 2492 ได้รับพระราชทานยศพลตรี เป็นแม่ทัพกองทัพที่ 1 มีผลงานสร้างชื่อ คือ เป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงเมื่อปีเดียวกัน

          จากนั้นก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี 2493 ผ่านไปสองปีก็ได้นั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการทหารบก รั้งยศพลเอก

          ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน 2494 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นปี 2498 ได้รับพระราชทานยศ พลเรือเอก และ พลอากาศเอก

          ต่อมา 1 มกราคม 2499 ได้รับพระราชทานยศ จอมพลพร้อมกับ พลเรือเอก หลวงยุทธศาสตร์โกศล

          กระทั่ง 27 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นคนแรก

          อย่างไรก็ดี ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและไต่ขึ้นมาเป็นแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ในเวลาไม่นาน

 

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

          แต่เพียง 10 วัน เขาก็ลาออก เพราะมีความวุ่ยวานทางการเมืองที่ประชาชนประท้วงให้จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากสงสัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

          จอมพลสฤษดิ์ จึงได้รับแต่งตั้งจาก จอมพลป. เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพเพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่จอมพลสฤษดิ์กลับกลายเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบ เพื่อเจรจา จนทำให้เขากลายเป็นขวัญใจประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า “วีรบุรุษมัฆวานฯ”

          และที่สุด วันที่ 13 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบาลลาออก แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามว่าขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง

          จึงส่งผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พูดผ่านวิทยุยานเกราะ ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” ถัดจากนั้นสองวัน ประชาชนพากันลุกฮือประท้วง จอมพล ป. พิบูลสงคราม

          ขณะที่คืนวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ จึงได้จัดการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในคืนนั้น ส่งผลให้ จอมพล ป. และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ

          หลังยึดอำนาจแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ให้ พจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง ที่สุด พลโท ถนอม กิตติขจร ก็ได้รับตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501

 พลโท ถนอม กิตติขจร

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

          แต่กาลต่อมา ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. กับ รัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศ แล้วทำการยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง และขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ เอง เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2502 

          แต่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นที่รู้กันว่า จอมพลสฤษดิ์ มีผลงานสร้างสรรค์ เผ็ด และดุดัน มากมาย เช่น นอกจากประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” แล้ว

          ผลงานสร้างสรรค์ เช่น ยังมีการออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่น กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมายปรามการค้าประเวณี ตลอดจนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504–2509)

          มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญ เช่น ไฟฟ้า, ประปา, ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”

          แต่ผลงานดุๆ เผ็ดๆ ที่หลายคนสุดจะลืม แต่ก็ไม่อยากจดจำ เช่น ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จ ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันทีหลังบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ จากกฎหมาย “มาตรา 17” ที่ให้นายกฯ และครม.มีอำนาจลงโทษทางอาญาได้ตามอำเภอใจ!!

          ซึ่งว่ากันว่าเขาได้อ้างอำนาจนี้หลายครั้ง ถึงขั้นประหารชีวิตในกรณีวางเพลิง ไป 5 คนในเวลาเดือนเดียว ที่หนักคือ ว่ากันว่าจอมพลของเราจะไต่สวนตรงที่เกิดเหตุและประหารชีวิตตรงที่เกิดเหตุนั้นเลย!!

          นี่ยังไม่นับคนที่ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกมากมาย

          อย่างไรก็ดี ที่สุด จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 8 ธันวาคม 2506 ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง และอีกหลายโรค สิริอายุได้เพียง 55 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และคนเดียวตราบจนปัจจุบันนี้ ที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

 

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในพ.ศ. 2506

         

           แต่หลังจากนั้น เรื่องราวอื้อฉาวของอดีตนายกฯ ไทยผู้นี้ก็ยังไม่จบ ทั้งปัญหาทายาทวิวาทแก่งแย่งทรัพย์สินมรดก เนื่องจากท่านมีภริยาจำนวนมากขณะยังมีชีวิต โดยภริยาคนสุดท้ายคือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์

 

จบเจ้าตำนาน “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ถ่ายภาพกับท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์

 

          ว่ากันว่า ตอนนั้นมีการพยายามรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ไว้ โดยอ้างว่ามีเงินจำนวนถึง 2,874,009,794 บาท รวมกับอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่สามารถจะประมาณได้ เช่น ที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับแปลงไม่ถ้วนทั้งในและทั่วพระนคร ส่วนเงินสดที่เก็บไว้ในธนาคารต่างๆ นั้น จอมพลสฤษดิ์มีอยู่ประมาณ 410 ล้านบาท

          ซึ่งภายหลังรัฐบาลได้มีการถูกยึดไว้เพื่อพิจารณาว่าเงินส่วนใดเป็นการได้โดยมิชอบหรือไม่นั่นเอง...

 

////ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ