วันนี้ในอดีต

21 พ.ย.2503 สิ้นพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ผู้ให้คำขวัญในตำนาน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุคของพล.ต.อ.เผ่า ถูกเรียกว่ายุค “รัฐตำรวจ” หรือ “อัศวินผยอง” เนื่องจากเวลานั้นกำลังตำรวจสามารถเทียบเท่ากับกองทัพๆ หนึ่งเหมือนทหารได้

          วันนี้ในอดีต หรือวันที่ 21 พ.ย.2503 คือวันที่ พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก นายกองใหญ่ เผ่า ศรียานนท์ เสียชีวิต

          บุคคลผู้นี้เชื่อว่า คนไทยหลายคนจะคุ้นเคยกับชื่อเสียงเรียงนามเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงคำขวัญที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ซึ่งฟังแล้วน่ากลับไปค้นหาว่า ทำไมบุคคลผู้นี้่จึงกล่าวเช่นนี้!!!

          พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2452 ณ ตำบลบางขุนพรหม อำเภอบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร

          เป็นบุตรของ พันตำรวจโท พระพลาพิรักษ์เสนีย์ (พลุ้ย ศรียานนท์) และนางพงษ์ ศรียานนท์ ครอบครัวมีเชื้อสายพม่า

          ท่านสมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (สกุลเดิม: ชุณหะวัณ) บุตรสาวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ

          ช่วงวัยเด็กสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ในปัจจุบัน ต่อมาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2469

          สำหรับชื่อชั้นของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ นั้น เรียกเป็นนายตำรวจที่ประชาชนชาวไทยในยุคสมัยนั้นรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเสมือนมือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีกระดูกเหล็ก

          โดยเริ่มแรก พล.ต.อ.เผ่านั้นรับราชการเป็นทหารมาก่อน ก่อนจะย้ายตัวเองมาเป็นตำรวจ

          และยุคของพล.ต.อ.เผ่านั้น ถูกเรียกว่ายุค “รัฐตำรวจ” หรือ “อัศวินผยอง” เนื่องจากเวลานั้นกำลังตำรวจสามารถเทียบเท่ากับกองทัพๆ หนึ่งเหมือนทหารได้

          โดยเริ่มให้มี ตำรวจน้ำ, ตำรวจพลร่ม, ตำรวจม้า, ตำรวจรถถัง ตลอดจนให้มีธงไชยเฉลิมพลเหมือนทหาร 

          และสำหรับประโยคในตำนาน ที่สะท้อนให้ถึงตัวตนของตำรวจในสมัยนั้น ก็คือ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง” 

          ซึ่ง พล.ต.อ.เผ่าเป็นผู้กล่าว จนได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย”

          ในทางการเมือง พล.ต.อ.เผ่า เคยเป็นเลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

          ยุคนั้นยังมีบันทึกไว้ว่า มีเรื่องราวชวนขนลุกเกิดขึ้นมากมาย เช่น กรณีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2492 หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง, การจับถ่วงน้ำ นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ ผู้นำอิสลามจังหวัดปัตตานี ที่ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น

          บ้างว่าล้วนแต่เป็นฝีมือตำรวจ จนกระทั่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้กลุ่มนายทหารที่นำโดย พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่พอใจ โดยเริ่มทำการปราศรัยโจมตีตำรวจที่ท้องสนามหลวงบนลังสบู่ ที่เรียกกันว่า “ไฮปาร์ค”

          จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น พล.ต.อ.เผ่า ยังไม่ได้หลบหนีไปต่างประเทศเหมือนจอมพล ป. แต่ยอมเข้ามอบตัวแต่โดยดี โดยกล่าวว่า “อั๊วมาแล้ว จะเอายังไงก็ว่ามา”

          รุ่งขึ้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีคฤหาสน์หลังใหญ่ติดทะเลสาบที่นครเจนีวา จนครั้งหนึ่งเมื่อนิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งจัดอันดับมหาเศรษฐี 10 อันดับของโลก ก็มีชื่อของ พล.ต.อ.เผ่า ติดอยู่ในอันดับด้วย

          อย่างไรก้ดี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิริอายุ 52 ปี

          หรือวันนี้เมื่อ 57 ปีก่อน!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ