วันนี้ในอดีต

30 ต.ค. 2370 ประวัติศาสตร์ชาติไทย จารึกชื่อ “ท้าวสุรนารี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เป็นที่รู้ทั่วกันว่า ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ

                ถ้าเอ่ยนาม “ท้าวสุรนารี” เชื่อว่าหลายคนรู้ดีว่า หมายถึงคุณหญิงโม หรือ ย่าโม ของชาวจ.นครราชสีมา แต่รู้หรือไม่ว่า วันนี้ เมื่อ 190 ปีก่อน ชื่อนี้เองที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ “คุณหญิงโม” ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370

                ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ ได้บุกนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2369 แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไป

                เวลานั้น คุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือ รวบรวมครอบครัวชาย หญิงชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2369 ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด

                เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี” เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ

                สำหรับประวัติ “ท้าวสุรนารี” มีนามเดิมว่า "โม" (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือ ท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก (ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองพนมซร็อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร็อกมาอยู่ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมืองพนมซร็อกมาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจนทุกวันนี้)

                ปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม     

                 ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า “แม่” มีผู้มาฝากตัวเป็นลูก-หลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ

                เป็นที่รู้ทั่วกันว่า ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2395 (เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214) สิริรวมอายุได้ 81 ปี

                ก่อหน้านี้ ช่วงเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า

                “....ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย

ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน

บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี

รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการ

ความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก

แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง...”

                สำหรับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตั้งอยู่ในทำเลกลางเมืองเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโคราช อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หันหน้าไปทาง ด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร ภายในบรรจุอัฐิของท้าวสุรนารีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโมของชาวโคราช

                ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่ สร้างขึ้นมาเพื่อระลึกถึงและยกย่องคุณงามความดีของวีรสตรีสามัญชนคนแรกของประเทศท้าวสุรนารี หรือย่าโมที่ชาวโคราช เรียกขานกันอย่างคุ้นเคยท่านเป็นวีรสตรีในประวัติศาสตร์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง จึงเป็น บุคคลที่ชาวโคราช ภาคภูมิใจและเคารพบูชา ย่าโมกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวโคราชกระทั่งเรียกชื่อจังหวัดนี้ว่า "เมืองย่าโม"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ