วันนี้ในอดีต

25 ตุลาคม 2505 พิบัติภัย “ตะลุมพุก” จากพายุ “แฮร์เรียต”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พายุถล่มครั้งรุนแรงเมื่อ 55 ปีก่อน ทำให้สภาพของนครศรีธรรมราชเหมือนถูกปล่อยเกาะ เส้นทางตัดขาด ไฟฟ้าใช้การไม่ได้ ขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค

               หลายคนคงจำกันได้กับพายุถล่ม “แหลมตะลุมพุก” ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเกิดจะประมาณค่า หากแต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนวันเกิดเหตุ ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2505 ก่อนที่แหลมตะลุมพุกจะราบเป็นหน้ากลองนั้น พายุมรณะนี้ได้ก่อตัวรอทำลายล้างอยู่แล้วในอ่าวไทย

               กล่าวคือ พายุนี้เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นพายุดีเปรสชั่นก่อนในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2505 แล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา

               จากนั้นก็เปลี่ยนทิศทางตรงมายังจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กม.ต่อชม. โดยในขณะขึ้นฝั่งพายุมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 กิโลเมตร ก่อให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ลมกระโชกแรง และน้ำท่วมอย่างฉับพลัน

               ทั้งนี้ ภัยพิบัติดังกล่าวกินเวลาตั้งแต่ วันที่ 25-26 ตุลาคม พ.ศ.2505 โดยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสูญเสียอย่างหนักกว่าที่ใด คลื่นใหญ่มหึมาม้วนตัวจากทะเลขึ้นบนบก กวาดสรรพสิ่งที่กีดขวางไปหมดสิ้น ทั้งบ้านเรือน ต้นไม้ ผู้คน สัตว์เลี้ยง ล้วนถูกคลื่นยักษ์ม้วนหายลงไปในทะเล โดยไม่มีโอกาสได้รู้ตัวล่วงหน้า

               แม้แต่ที่อยู่ห่างชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดิน ก็ถูกพายุโถมกระหน่ำบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน จนหลายคนพูดตรงกันว่า เป็นพายุที่มีความร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ โดยชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอายุ 70-80 ปี บอกว่า เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็น ความร้ายแรงของธรรมชาติ และเคยเห็นความเสียหายอย่างมากครั้งนี้เอง

               เวลานั้น สภาพของนครศรีธรรมราช อยู่ในสภาพเหมือนถูกปล่อยเกาะ เส้นทางตัดขาด ไฟฟ้าใช้การไม่ได้ ขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค

               นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดอื่นรอบๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ถึง 9 จังหวัดภาคใต้ โดยกองทัพเรือออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือค้นหาเรือประมงที่สูญหายไปและได้ค้นพบศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทะเลและบนบก

               โดยเฉพาะที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชที่ว่ากันว่า ไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย ศพลอยเกลื่อนน้ำมากมาย แทบจะหาผืนดินฝังศพไม่ได้ หลุมศพ 1 หลุ่มต้องฝังศพประมาณ 6-7 ศพ โดยมีการฝังรวมกัน ที่ปลายแหลมชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะขุดศพเหล่านั้น ขึ้นมาทำพิธีทางศาสนาอีกครั้งในภายหลัง

               อย่างไรก็ดี ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความโทมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต กระจายข่าวอย่างละเอียด เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมบริจาคกับในหลวง รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินตามศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยดังกล่าว

               และเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพ่อหลวงภูมิพล ได้พระราชทานเงินบริจาค ให้นำไปบรรเทาทุกข์อย่างทั่วถึง แล้วยังมีเงินเหลืออยู่ จึงทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 โดยได้พระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิม ของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที

               สำหรับสรุปยอดความเสียหาย พบว่ามีผู้เสียชีวิต 911 คน, สูญหาย 142 คน, บาดเจ็บสาหัส 252 คน, ไม่มีที่อยู่อาศัย 10,314 คน,บ้านเสียหาย 42,409 หลังคาเรือน, โรงเรียน 435 หลัง รวมมูลค่าความเสียหาย 377-1000 ล้านบาท!!

               และด้วยความรุนแรงของเหตุการณ์ เรื่องนี้จึงมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน” ในปี พ.ศ. 2545 หรือถัดจากเหตุการณ์นั้น ถึง 40 ปีอีกด้วย!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ