วันนี้ในอดีต

รัฐประหารครั้งที่ 7 ของไทย จอมพลสฤษดิ์ ล้มรัฐบาล จอมพลถนอม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐประหารครั้งนี้ ถือเป็นการยึดอำนาจตัวเอง และยังนำพามาซึ่งการเปิดช่องอำนาจนายกฯ อย่างเต็มที่ คนหลายคนถึงขนาดต้องปาดเหงื่อ เมื่อมีการลงโทษอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด!

                ถ้าจะนำเสนอวันนี้ในอดีต ตั้งโจทย์ไว้ที่คำว่า “รัฐประหารในประเทศไทย” น่ากลัวจะได้อ่านกันบ่อยๆ

                และวันนี้เมื่อ 59 ปีก่อน ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ บ้านเมืองเราได้เกิดรัฐประหารขึ้น เป็นครั้งที่ 7 หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพิ่งทำรัฐประหารไปตอนปี พ.ศ. 2500 

                โดยตอนนั้น ทำเพื่อล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง

                จนพอมามีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ต่อมาวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโท ถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่า การเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดา ส.ส. มีข้อต่อรองบางอย่าง แลกกับการไม่ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล

                พลโท ถนอม กิตติขจร เห็นว่า ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ ประกอบกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว เมื่อเดินทางกลับมา ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พลเอก ถนอม กิตติขจรจึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน

                พอช่วงค่ำ เวลา 21.00 น. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติหลายอย่างออกมา เช่นยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น, ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง ได้แก่ พรรคการเมือง มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้ง มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียง ๆ 20 มาตราเท่านั้น

                ขณะที่ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพียง 14 คนเท่านั้น โดยไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

                รัฐประหารครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น “การยึดอำนาจตัวเอง” ก็ว่าได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ สามารถจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา

                ผลงานที่คนไทยยุคอนาล็อค อาจจะจำกันได้เช่น การปราบปรามฝิ่น มีการเผาฝิ่นที่ท้องสนามหลวงเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2502

                หรือเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน มีเหตุเพลิงไหม้ติดกันถึง 3 ครั้ง เป็นที่ฝั่งธนบุรี 2 ครั้ง และที่บางขุนพรหมอีก 1 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้อำนวยการดับเพลิงเอง ต่อมาได้มีการจับกุมผู้วางเพลิงได้ทั้งหมด 3 ราย เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งทั้งหมดยอมรับว่ารับจ้างมาเพื่อวางเพลิง จึงมีคำสั่งตามมาตรา 17 ให้ประหารชีวิตบุคคลทั้ง 3 ในที่สาธารณะ

                ขณะที่ตลอดเวลาช่วงนั้น ยังมีการอ้างอำนาจนี้หลายครั้ง ถึงขั้นประหารชีวิตในกรณีวางเพลิง ไป 5 คนในเวลาเดือนเดียว ซึ่งสะท้อนว่า ในอีกทางหนึ่ง มาตรา 17 นี้ ก็เหมือนดาบสองคม

                เพราะได้มีการตัดสินประหารชีวิตบุคคลหลายคนด้วยกัน หากทางการสงสัยหรือได้รับรายงานว่าเข้าข่ายเป็นภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนในภาคอีสาน

                จากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจ และรวมตัวกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล โดยหลบเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วันเสียงปืนแตก” เมื่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (พกค.) ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยปืนเป็นครั้งแรกที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508

                อนึ่ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่งนายกฯ 1 สมัย รวม 4 ปี (ระหว่างปี 2502-2506) ก่อนอสัญกรรมในวัยเพียง 55 ปี ด้วยโรคไตพิการเรื้อรังและอีกหลายโรค

                โดยถือเป็นนายกฯ คนเดียวที่เสียชีวิตขณะยังอยู่ในตำแหน่ง

//////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ