วันนี้ในอดีต

17 ต.ค.2554 วันพระราชทานเพลิงศพ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

6 ปีก่อน วันนี้คือวันพระราชทานเพลิงศพ อดีตรมว.สาธารณสุข และแพทย์ไทยที่ผ่าตัดแยกแฝดสยามสำเร็จเป็นคนแรก

               วันนี้ในอดีต เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2554  เป็นวันพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว หลังจากที่ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี จากอาการเส้นเลือดในสมองตีบตัน ร่วมกับมีอาการชักและโรคไต ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 สิริรวมอายุ 100 ปี 1 เดือน 8 วัน

               ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า นพ.เสม ได้สั่งบุตรหลานไว้ 3 ข้อ คือ 1.หากเป็นอะไรไป ให้จัดงานศพอย่างเรียบง่ายไม่สุรุ่ยสุร่าย โดยจะจัดงานเป็นสีขาวเพื่อสะท้อนความดีงามของ นพ.เสม 2.ไม่อยากให้ไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประชวร แต่ก็ทรงทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแจกันดอกไม้ และกระเช้าเครื่องหอมเนื่องในวันเกิดที่ผ่านมา

               และ 3.นพ.เสมได้สั่งว่า หากลูกๆ ได้รับราชการหรือเป็นนักการเมือง ขอให้คิดเสมอว่าเมื่อฟ้าสีทอง ผ่องอำไพ ขอให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน คือ ขอให้นึกว่าเราเป็นผู้รับใช้แผ่นดิน ขอให้รักษาประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าของตัวเอง

               สำหรับประวัติของ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เกิดวันที่ 31 พฤษภาคม 2454 วัยเด็กเป็นเด็กเรียนดีจนได้ทุนเล่าเรียนมาโดยตลอด และเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย (ปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) จนได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2478 นอกจากนั้น ยังได้รับความรู้ด้านทันตกรรม จากศ.สี สิริสิงห์ เพื่อนำไปใช้ในชนบทด้วย

               เมื่อจบแพทย์ นพ.เสม เริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบททันที งานแรกคือ การปราบโรคอหิวาตกโรค และตั้งโรงพยาบาลเอกเทศในจ.สมุทรสงคราม ซึ่งสมัยนั้นทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 40,000 ราย จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.เทศบาลนครสวรรค์2 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกเริ่มงานศัลยกรรมและทันตกรรมในชนบท ก่อนจะย้ายไปเป็นหมอประจำที่ จ.เชียงราย ในช่วงปี 2480 บุกเบิกจนสร้าง "โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” ขึ้น

               นอกจากการปฏิบัติราชการยามปกติแล้ว ในช่วงสงครามอินโดจีน เสมได้ร่วมปฏิบัติการสงครามเรียกร้องดินแดนคืน ปี 2483 มีการทดลองใช้น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยชีวิตผู้ขาดน้ำในป่าลึกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการศึกษาต้นกาสามปีก (Vitex peduncularis) ในการรักษาโรคไข้จับสั่นในทหารและพลเรือน การศึกษาต้นโมกหลวง (Holarrhena pubescens) ในการรักษาโรคบิดมีตัว (amoebic dysentery) ในทหารและพลเรือน การเตรียมควินินไฮโดรคลอไรด์รักษาไข้จับสั่นขึ้นสมอง และการเตรียม morphine ใช้ในโรงพยาบาล

               หมอเสมเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวเชียงรายอย่างหาที่เปรียบได้ยากจึงนับเป็นข้าราชการที่มีความสามารถสูงผู้หนึ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2494 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ออกคำสั่งย้ายเสมจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง หน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พญาไท (ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลราชวิถี)

               กระทั่งปี 2494 เริ่มจัดตั้งธนาคารเลือดแห่งแรกในพระนครโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การ M.S.A. สหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยมีเลือดให้ผู้ป่วยเป็นชนิดเลือดสดและน้ำเหลืองแห้งทั้งแข็งและเป็นผง ส่งให้โรงพยาบาลทั้งในพระนครและต่างจังหวัด

               ผลงานช่วงปี 2505 ได้ทำการผ่าตัดเด็กฝาแฝดไทยในเวลา 10 ปี ได้เป็นผลสำเร็จที่เป็นแฝดสยาม (Siamese Twin) จำนวน 5 คู่ และได้ทำการศึกษาฝาแฝดไทยคู่แรก นายอิน-นายจันทร ผู้ใช้นามว่า Buncker อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว

               นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดโครงสร้างใหม่ในกระทรวงสาธารณสุขและการกระจายอำนาจโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการจัดทำแผนสาธารณสุขแห่งชาติด้วยความร่วมมือของ W.H.O. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ

               ต่อมาในปี 2517 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

               นายแพทย์เสม ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย สมัยรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการผลักดันให้มีการสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ จำนวน 660 แห่ง สนับสนุนหลักการ “สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543” (Health for all by the year 2000) สนับสนุนหลัก 10 ประการของการสาธารณสุขมูลฐานให้สุขภาพดีทั่วหน้าในปี 2543 และมีการจัดทำ จ.ป.ฐ. ความจำเป็นพื้นฐาน 8 ตัว ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมใช้เป็นหลัก

               นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น กับการทำงานตลอดช่วงอายุของหมอเสม ที่มากมายเกินกว่าจะกล่าวถึงได้หมด และเชื่อว่าคนไทยไม่มีวันลืมท่านผู้นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ