วันนี้ในอดีต

16 ต.ค. 2548 สลดไม่ลืม ฆ่าเผาพระ เด็กวัดพรหมประสิทธิ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตอนนั้น หลายฝ่ายลงความเห็นว่า เป็นเหตุการณ์รุนแรงที่มีความพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม เป็นเจตนาที่ชั่วร้าย

               ย้อนกลับไปวันนี้ เมื่อ 12 ปีก่อน ช่วงกลางดึกย่างเข้าสู่วันที่ 16 ตุลาคม 2548 ได้เกิดเหตุสะเทือนความรู้สึกชาวไทยทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวพุทธ

               เมื่อมีคนร้ายจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปใน วัดพรหมประสิทธิ์ หมู่ 2 บ้านเกาะ ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาลงมือฆ่าเผาพระ-เด็กวัด ก่อนจุดไฟเผากุฏิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย คือ พระแก้ว โกสโร อายุ 78 ปี ที่ทั้งโดนตีด้วยไม้ และถูกฟันด้วยมีดพร้าจนมรณภาพ ต่อมาคือ หาญณรงค์ คำอ่อง อายุ 17 ปี และ สถาพร สุวรรณรัตน์ อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัดทั้งคู่ โดยพวกเขาถูกยิงและถูกฟันด้วยมีดพร้าเช่นเดียวกัน รวมถึงใช้ไม้ตีจนเสียชีวิต

               จากนั้นนำศพไปไว้บนกุฏิ แล้วใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟเผาทำลายกุฏิ และยังมีการทำลายข้าวของภายในโบสถ์ รวมถึงรูปหล่อหลวงพ่อพรหมที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์จนได้รับความเสียหาย

               เรื่องนี้ ได้รับความสนใจเป็นอันมาก ถึงขนาด มีการเรียกร้องทุกฝ่ายร่วมประณามผู้ก่อเหตุ และกดดันให้รัฐบาลเร่งรัดหาตัวคนร้าย ด้วยการใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ เสนอให้รัฐบาลสร้างประชาคมไทยพุทธ – ไทยมุสลิม เพื่อสร้างความร่วมมือ ช่วยเหลือ และป้องกันภัย

               ขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ยังออกมาระบุว่าที่ประชุมพิจารณาเหตุการณ์นี้ เห็นว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรง ที่มีความพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม เป็นเจตนาที่ชั่วร้าย ที่ต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา ซึ่งถ้าทำให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาได้ จะทำให้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงมากขึ้น

               “กอส.ต้องการให้มีการประณามการกระทำครั้งนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลจับคนร้ายให้ได้ ถ้าจับไม่ได้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการสร้างข่าวลือต่าง ๆ และจะทำให้เรื่องบานปลายไปเรื่อย ๆ รัฐบาลควรใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น เพื่อจับคนร้ายให้ได้ รัฐบาลต้องเร่งรัดส่วนนี้”

               ที่สุด ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2548 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในคดีทั้งสิ้น 16 ราย และส่งไปซักถามยังศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) อ.เมือง จ.ยะลา จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานประกอบสำนวน และส่งให้อัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อ ศาลได้ 11 ราย

               โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลจังหวัดปัตตานี (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 4 และ 9 ประกอบด้วย อัดนัน วาเต๊ะ, อับดุลเลาะ สาเมาะ, มะโซเร เจะสะนิ, มูฮามัด ดือเระ และ เพ็ญดี แบวา ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

               ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 7, 8, 10 และ 11 ประกอบด้วย มะรอสะลี ตีมุง, ซุกรี บิงมะ, อับดุลเลาะ อาแว, ตอเฮ สาเระ, มะหามะ แบฮะ และอับดุลฮาเล็ง สาเระ พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน และตั้งแต่ในชั้นสืบสวนจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธมาตลอด

               อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ถือเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงมีเหตุลดโทษ ให้ 1 ใน 3 ในแต่ละข้อหา รวมจำคุกตลอดชีวิต แม้ว่าฐานความผิดจะถึงขั้นประหารชีวิตก็ตาม

               ก็นับว่าคดีนี้ เป็นคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้คดีแรก ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำเลย และเป็นคดีตัวอย่างของการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างเป็นระบบของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย โดยเฉพาะการใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันการกระทำของจำเลย

/////////////////////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ