วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 9 ก.ย. 2528  เกิด‘ กบฏ 9 กันยา ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 9 ก.ย. 2528 เกิด‘ กบฏ 9 กันยา’ ขึ้นในช่วงที่ พล.อ.เปรม นายกฯ(ในขณะนั้น) และ พล.อ. อาทิตย์  ผบ.ทบ (ในขณะนั้น)เดินทางไปราชการต่างประเทศ

           วันนี้ในอดีต 9 ก.ย.2528 เกิด กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา หรือกบฏสองพี่น้อง เป็นความพยายามรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 กันยายน  ปี 2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย  พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร(ขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร) นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร,พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เสริม ณ นคร ,พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน  

            ‘การก่อกบฏ’ ครั้งนี้พยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วน พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

              การกบฏครั้งนี้ยังถือเป็นการใช้ความพยายามรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า “กบฏ” อีกด้วย

               นอกจากนี้ยังถือเป็นความพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครั้งสุดท้าย ภายหลังความล้มเหลวในการก่อการของ‘กบฏยังเติร์ก’เมื่อปีพ.ศ. 2524

               การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อสมท.) และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พล.อ. เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

            ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย  พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก, พล.ท.ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ประสานกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์(ร.11 รอ.)เขตบางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามพล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก 

              กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พล.ท. สุจินดา คราประยูร  พล.ท.อิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พล.อ.ท. เกษตร โรจนนิล รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 9  ก.ย. 2528 โดย พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรีรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์  รมว.มหาดไทย เป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว

               ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวันซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือนีล เดวิส ชาวออสเตรเลียและบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน

                ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้นและมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดย พล.ท พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.

                ส่วน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันนั้น แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสโดยทันที

                เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ   พ.อ. มนูญ รูปขจร และนาวาโท มนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน

                

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ