คอลัมนิสต์

ย้อนรอยจำคุก20ปี สนธิ ทำเอกสารเท็จค้ำประกันกู้กรุงไทยพันล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปล่อยตัวไปแล้ว สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ หลังเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ.. กว่า 3 ปีที่ต้องอยู่ในเรือนจำในคดีทำเอกสารเท็จค้ำประกันกู้กรุงไทยพันล้าน

            6 ก.ย.2559 ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ,นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน),น.ส. เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ และ น.ส. ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307,311,312 (1) (2) (3),313

       

      คดีนี้ ตามฟ้องโจทก์ ระบุว่า  เมื่อวันที่ 29 เม.ย.39 - 31 มี.ค.40 จำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ ฯ ได้ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทที่เป็นเท็จ ว่ามีมติให้  บมจ.แมเนเจอร์ฯเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส. เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท

           ต่อมาวันที่ 30 เม.ย.39–18 พ.ย.41 จำเลยทั้งสี่ ยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวที่เป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสี่ ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา

           โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.55 ว่า นายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส. เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัท และผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307,311,312,313 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 17 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 85 ปี ส่วน น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 4 ให้ลงโทษตามความผิดเดียวกัน 13 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 65 ปี

          ขณะที่นายสุรเดช จำเลยที่ 2ให้จำคุก5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 313 โดยจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นเวลา 42 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4จำคุก32 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงผิดแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1,3,4 สูงสุดตามกฎหมายมาตรา 91(2) คนละ 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 2จำคุก2 ปี 6 เดือน

          ต่อมา นายสนธิ,น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส. ยุพิน จำเลยที่ 1,3,4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถือที่สุดตามกฎหมายตามโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

          ต่อมาศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ส.ค.57  ว่า จำเลยที่ 1,3,4 ไม่มีพยานหลักฐานหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำงบไตรมาส และงบประมาณรายปี แต่จำเลยไม่ลงภาระการค้ำประกันหนี้จัดทำรายการงบไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง โดยไม่คำนึงว่าจะมีใครเสียหายหรือไม่ ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษเนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง และบมจ.แมเนเจอร์ ไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายร้ายแรง

          ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มีเจตนาคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมและเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้นเป็นโทษสถานต่ำสุดแล้ว ไม่อาจลดโทษให้เบาลงได้อีก ขณะที่พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าร้ายแรงจึงไม่อาจรอการลงโทษได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

          ต่อมาจำเลยที่ 1,3,4 ยื่นฎีกา ต่อสู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดกรรมเดียว โดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษ

         ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า อัยการโจทก์มีรองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย และพนักงาน เบิกความประกอบรับสารภาพจำเลย ถึงการนำสำเนาประชุมกรรมการบริษัทที่มีการลงข้อความไม่ถูกต้องมาแสดง เพื่อค้ำประกันเงินกู้ 1,078 ล้านบาท นอกจากนี้มีกรรมการที่ไม่ได้ร่วมประชุม แต่พบว่ามีรายชื่อในรายงานการประชุมมาเบิกความยืนยันด้วย จึงฟ้องได้ว่าการค้ำประกันเงินกู้ ไม่ได้รับความยินยอมจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทตามขั้นตอน การกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทแมเนเจอร์ฯ ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ จนต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการหนี้ ถือเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 307,311 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า การยื่นสำเนารายงานประชุมเท็จเพื่อค้ำประกันเงินกู้ได้ดำเนินการถึง 6 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีจำนวนเงินไม่เท่ากันและไม่ใช่โครงการเดียวกัน อีกทั้งช่วงระยะเวลานั้นก็แตกต่างกัน ซึ่งได้ดำเนินการมารวม 1 ปี

           และที่จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าพวกจำเลยทำบัญชีไม่ถูกต้อง จึงไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย เห็นว่า บริษัทแมเนเจอร์ฯเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การที่จำเลยไม่นำภาระค้ำประกันแสดงลงในบัญชีงบการเงินประจำปี2539-2541 ก็ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ทราบและอาจทำให้ผู้ถือหุ้นลงทุนผิดพลาดได้ ฎีกาข้อต่อสู้ทุกข้อของจำเลยนั้นฟังไม่ขึ้น

          ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษนั้น เห็นว่า บริษัทแมเนเจอร์ฯ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีประชาชนซื้อหุ้น การดำเนินการต้องยึดหลักธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่หากผู้บริหารไม่ประพฤติตามก็จะกระทบต่อบริษัท และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง คดีนี้การกระทำของพวกจำเลยเป็นสาเหตุให้บริษัทแมเนเจอร์ฯเข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทก็มีประชาชนเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่จำเลยอ้างคุณงามความดีมานั้นยังไม่เพียงพอให้รอการลงโทษ ที่ศาลล่างว่ามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ