วันนี้ในอดีต

3 ก.ย. 2557 สิ้น“ถวัลย์ ดัชนี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

3 ก.ย. 2557 สิ้น“ถวัลย์ ดัชนี”อัจฉริยศิลปินแห่งสยาม ปราชญ์แห่งยุคสมัย

 

    วันนี้ในอดีต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 เวลา 02.15 น. บรมครูด้านศิลปะไทยร่วมสมัย “ดร.ถวัลย์  ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ได้สิ้นลมอย่างสงบจากโรคตับวาย ที่โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพฯ นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ต่อวงการศิลปะของไทย

     ต่อมาเวลา 03.00 น. นายดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายคนเดียวของ “ดร.ถวัลย์ ดัชนี” ได้โพสต์ภาพ มือข้างขวาใส่สายน้ำเกลือ โดยมีมืออีกข้างหนึ่งกุมประสานกันไว้ พร้อมเขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า“พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหนพ่อจากไปแต่เพียงร่างกาย แต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณและลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา หลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอและเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย”

    ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตดร.ถวัลย์  ดัชนี” มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน และความดัน ตั้งแต่ปี 2555 และยังได้เข้ารับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ต่อมาเมื่อต้นปี 2557 ก็ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างจริงจัง ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2557 จนกระทั่งพบว่าเชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ตับและปอด จากนั้นอาการทรุดหนัก จนกระทั่งมีอาการตับวายในวาระสุดท้ายของชีวิต

    วันรุ่งขึ้น นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ลูกชายคนเดียวของอาจารย์ถวัลย์พร้อมด้วยญาติ และเหล่าบรรดาศิลปิน และศิษย์สาขาทัศนศิลป์ ร่วมกันเคลื่อนศพ อาจารย์ถวัลย์ ออกจากโรงพยาบาลรามคำแหง ไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ซึ่งบริเวณด้านหน้าของที่ตั้งภาพอาจารย์ถวัลย์ ประดับต้นไม้นานาพันธุ์ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า อีกทั้งมีการประดับ“ดอกกล้วยไม้สีขาว”ปักไขว้เรียงเป็นแนวยาว และแทรก“ดอกบานไม่รู้โรย”สีม่วงไว้ด้านข้าง 2 ด้าน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของ“เขาวัวเท็กซัส ลองฮอร์น” สัตว์ป่าหายากในประเทศสหรัฐอเมริกา

     ซึ่งเป็นสิ่งที่ “อาจารย์ถวัลย์”มีความชื่นชอบและเก็บสะสมไว้จำนวนมาก ขณะที่ฐานที่ตั้งรดน้ำศพประดับ“ดอกบัวสวรรค์” สื่อถึงการร่วมส่งอาจารย์ถวัลย์ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ โดยผู้ร่วมงานทยอยเดินทางมาร่วมรดน้ำศพ ท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้า เสียใจต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ

      ขณะที่บุคคลสำคัญๆในแวดวงศิลปวัฒนธรรม และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานกันเเป็นจำนวนมาก อาทิ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ, นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายสนธยา และ นางสุกุมล คุณปลื้ม อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม,นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อดีตปลัดวัฒนธรรม, ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นายบุญชัย และ นางบงกช เบญจรงคกุล รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ อาทิ นายประหยัด พงษ์ดำ, นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, นายกมล ทัศนาญชลี, นายเดชา วราชุน, นายช่วง มูลพินิจ, นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, นายสุเทพ วงศ์คำแหง, “แอ๊ด คาราบาว”หรือ นายยืนยง โอภากุล เป็นต้น

    “แม้ว่าพ่อได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่สำหรับผม คิดเสมอว่า พ่อไม่ได้ไปไหน ยังอยู่กับผมทุกลมหายใจ ทุกเวลา สิ่งที่ได้เห็นทุกคนที่มาร่วมอาลัยพ่อ ทำให้รู้ว่าทุกคนรักพ่อ จึงขอขอบคุณแทนพ่อ หลังจากนี้ ผมจะสานต่อในการดูแล และอนุรักษ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ผมยังมีโปรเจคงานศิลป์ที่ร่วมคิดกับพ่อ ก่อนที่พ่อจะจากไป เพื่อนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปทำบุญ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงสิ้นปี 2557”นายดอยธิเบศร์ ดัชนี กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ

    พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ( ว วชิรเมธี) พระนักเทศชื่อดังชาวจังหวัดเชียงราย บอกว่า ในคืนก่อนที่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนีจะสิ้นลม อาตมาฝันว่าเจดีย์ล้ม ตื่นขึ้นมาอาตมาก็ตกใจมากว่านี่เป็นฝันที่น่าสะพรึงกลัว เจดีย์คืออะไร อาตมานั่งถามตัวเอง วันรุ่งขึ้นก็ได้ทราบข่าวว่าอาจารย์ถวัลสิ้น นี่อาจเป็นสิ่งที่ธรรมชาติส่งผ่านเรามาต้องการบอกว่าเราได้สูญเสียผู้ที่เป็นดังหนึ่งเจดีย์ทางศิลปะคนสำคัญของไทยไปแล้ว

   “เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ถวัลย์แต่ละครั้ง อาตมาถกถึงพุทธธรรมขั้นลึกซึ้ง ท่านเป็นคนที่มีความจำดีมาก โดยเฉพาะวรรณคดี วรรณกรรมชิ้นเอกของไทย กวีนิพนธ์ต่างๆตั้งแต่สมัยกำสรวลสมุทร โครงของศรีปราชญ์ นิราศต่างๆ กลอนของสุนทรภู่ แม้กระทั้งลิลิตพระลออันเก่าแก่ ท่านอาจารย์ถวัลย์สามารถว่ากลอนสดๆให้ฟังได้ทั้งหมด นับเป็นหนึ่งของไทยและของชาวเชียงราย” ว.วชิรเมธี

      นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ในช่วงที่ได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าว ว่า พี่ถวัลย์เสียชีวิตแล้วนั้น มีความรู้สึกว่าได้เห็นภาพหน้าพี่ถวัลย์ปรากฏลอยอยู่ด้านหน้าของตน เหมือนเป็นการมาบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย ยอมรับว่าเสียใจอย่างที่สุด เพราะท่านเป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนเพาะช่าง ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีเราทั้งสองคน เป็นทั้งพี่และเพื่อนคู่คิด ได้พบและเผชิญสิ่งต่างๆมาด้วยกัน 

    “แม้ว่าพี่ถวัลย์เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ แต่ท่านเป็นผู้ถ่อมตน เป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับศิลปินรุ่นน้องได้ดำเนินรอยตาม ทั้งในด้านการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก ไม่ยึดติดกับโลกสมัยใหม่ ไม่มีโทรศัพท์ใช้ มีของสะสมที่ชื่นชอบ คือ หนังสัตว์ และเขาสัตว์ เท่านั้น ส่วนอุปกรณ์การวาดภาพ ก็มีเพียง แปรง กับพู่กัน เพียงไม่กี่อัน แต่การทำงานของท่าน ถือได้ว่าเป็น อัจฉริยศิลปินแห่งสยาม ปราชญ์แห่งยุคสมัย”

     อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2482 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง ดัชนี (ถึงแก่กรรม) นายสมจิตต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) และนายวสันต์ ดัชนี (ถึงแก่กรรม) สมรสกับนางมากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุ๊ค มีบุตร 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี 

    ด้านการศึกษา สำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ก่อนเข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่างดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริง โดยภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติประเทศไทย

    เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างในปี 2500 สอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของ“ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี”และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้“อาจารย์ถวัลย์”ได้พัฒนางานจาก“ภาพวาดเหมือนจริง” และสำเร็จปริญญาตรีบัณฑิต (เกียรตินิยม)จากคณะจิตรกรรมประติมากรรม จากนั้นได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง และระดับปริญญาเอก ด้านอภิปรัชญา และสุนทรีย์ศาสตร์ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ 

   “อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี”นับเป็นจิตรกรคนแรกที่ได้รับรางวัลวัฒนธรรมแห่งเอเชียเมืองฟุคุโอกะ ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2544 เป็นผู้ที่มีพุทธิปัญญาสามารถนำแนวปรัชญาพุทธศิลป์มาสร้างงานศิลปะไทยร่วมสมัย ที่ทรงพลัง ลุ่มลึกและแกร่งกร้าว มีเนื้อหาสาระ และท่วงทีที่มีชีวิตวิญญาณของความเป็นไทย ผสมผสานระหว่างแนวปรัชญาตะวันออกและตะวันตก เป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการเผยแพร่ผลงานศิลปะไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศแถบเอเชีย ยุโรป และ อเมริกา   

   ผู้ก่อตั้ง“มูลนิธิถวัลย์ดัชนี”เพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยศิลปะเฉพาะด้านทัศนศิลป์ รวมทั้งใช้เวลากว่า 25 ปี สร้าง“พิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นบ้าน”ในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ หมู่ 13 บ้านแม่ปูคา ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย   

  ด้วยคุณูปการต่อวงการศิลปะของชาติ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) พุทธศักราช 2544 

    “ดร.ถวัลย์ ดัชนี ”ได้อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์การสร้างสรรค์งานศิลปะแก่นักเรียน นักศึกษา ศิลปินรุ่นใหม่ นับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้ทรงคุณค่า เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ