วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 15 ส.ค. 2442  กำเนิด 'ถนนราชดำเนิน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 15 ส.ค. 2442 กำเนิด 'ถนนราชดำเนิน' ซึ่งเป็นถนนที่ทำให้บ้านเมืองทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

             วันนี้ในอดีต 15 ส.ค. 2442 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัด'ถนนราชดำเนิน' ถนนหลวงสายใหม่ หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อปี 2440 เมื่อกลับมาจึงมีพระราชดำริให้ปรับปรุง'พระนคร' ตามแบบยุโรป โดยมีพระราชประสงค์ที่จะทำบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนขนาดใหญ่ขึ้น ให้ตัดถนนสำหรับเสด็จพระราชดำเนิน ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต จึงพระราชทานนามว่า “ถนนราชดำเนิน” และให้ใช้แบบอย่างจากถนน Champs Elysees ประเทศฝรั่งเศส  
             สำหรับ'ถนนราชดำเนิน' แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ราชดำเนินนอก, ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน โดยถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่พระบรมมหาราชวังไปจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา , ถนนราชดำเนินกลาง สร้างหลังจากถนนราชดำเนินใน เริ่มตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงสะพานผ่านพิภพลีลา และถนนราชดำเนินนอก เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า 

             'ถนนราชดำเนิน' เมื่อแรกสร้าง มีการแยกช่องทางสำหรับการจราจรของรถและทางเท้าเป็น 5 ช่องทาง และที่ถนนราชดำเนินกลาง โปรดฯให้ปลูกต้นมะฮอกกานี และติดตั้งเก้าอี้เหล็กที่โคนต้น พร้อมไฟส่องสว่างจากเสาไฟตามแบบอย่างจากต่างประเทศ แต่ไม่มีอาคารใดตั้งอยู่สองข้างทาง 
             จนกระทั่ง ปี2480  จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการสร้างอาคารขึ้น 15 หลัง ริมสองข้างทางของถนนราชดำเนินกลาง โดยนายจิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบอาคาร ซึ่งรูปแบบอาคารก็เป็นสไตล์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการเรียนสถาปัตยกรรมในประเทศฝรั่งเศส ถนนราชดำเนินกลางถือเป็นย่านประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวที่เป็นตัวแทนของการออกแบบเมืองในยุค City Beautiful ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีลักษณะพิเศษที่เน้นความเป็นระเบียบ กลมกลืน มากกว่าการเน้นความสวยงามของอาคารแต่ละหลัง โอ่อ่าสง่างามด้วยกลุ่มอาคารที่ปิดล้อมที่ว่าง คือ ตัวถนน

             'ถนนราชดำเนิน' ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 'เหตุการณ์ 14 ต.ค.'  ที่มหาชนนับแสนรวมตัวกันบน'ถนนราชดำเนิน'ในปี 2516 และเหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ' ในปี  2535 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย  และแม้การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ก็มักจะเลือก'ถนนราชดำเนิน'
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ