วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 1 ส.ค. 2536 เผา ‘36 โรงเรียนใต้’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 1 ส.ค.2536 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิง รร.ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คืนเดียวรวด  36 โรงเรียน  นับเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการเผาโรงเรียน

            วันนี้ในอดีต 1 ส.ค. 2536  เกิดปฏิบัติการลอบเผาโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งสร้างความโกลาหลและหวาดผวาให้กับชาวบ้านอย่างมาก โดยมีการลอบวางเพลิงโรงเรียนถึง 36 แห่งพร้อมกันในคืนเดียว โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รับแจ้งเหตุในเวลาประมาณ 01.45 น. ของวันที่ 1 ส.ค.2536 ว่า มีโรงเรียนที่ถูกเผาเกือบ 40 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และจากหลักฐานที่รวบรวมไว้ได้ หลังเกิดเหตุพบว่า คนร้ายมีแผนที่จะลอบวางเพลิงโรงเรียนกว่า 50 แห่งในพื้นที่ 4 จังหวัด แต่ด้วยความจำกัดเรื่องเวลาและกำลังของคนร้าย ทำให้สามารถก่อเหตุได้เพียง 36 แห่ง  โดยคนร้ายใช้ทั้งถ่านหิน กระสอบป่านอาบน้ำมันเบนซินเป็นตัวติดไฟ และใช้ผ้าพันปลายไม้ชุบน้ำมันเป็นตัวจุดไฟ

            ทั้งนี้ กองกำลังที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่จะเป็นเด็กหนุ่มและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมีการรวมตัวกันฝึกปฏิบัติการในที่ลับแห่งหนึ่ง โดยมีแกนนำขบวนการเป็นผู้รวบรวมสมาชิก ก่อนที่จะกระจายกลับสู่พื้นที่ และเลือกใช้วิธีการเผาโรงเรียน เพื่อเป็นบทประเมินผลครั้งสุดท้ายว่า ที่ฝึกมาสำเร็จ หรือสอบผ่านหรือไม่

            ส่วนชนวนเหตุการเผาโรงเรียน เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการที่กลุ่มขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่พยายามแสดงแสนยานุภาพของกองกำลัง ก่อนที่จะจัดตั้งหน่วยกู้ชาติปัตตานี ภายหลังการเดินทางมาของ นายยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ ซึ่งขณะนั้นมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย โดยมีการแวะพักที่สนามบินดอนเมืองเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

           ช่วงนั้น ขบวนการดังกล่าวพยายามติดต่อขอเข้าพบผู้นำปาเลสไตน์ แสดงตัวเป็นแนวร่วมปลดปล่อยชาวมุสลิมแต่ไม่เป็นผล จึงใช้วิธีการดังกล่าวแสดงพลังและเรียกร้องความสนใจเพื่อเป็นการของบประมาณสนับสนุนจากต่างประเทศ

           อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่พยายามจะเข้าไปมีส่วนกับเกมการเมืองระดับชาติในขณะนั้น หวังจะดิสเครดิตนักการเมืองมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งก้าวไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งในขณะนั้น หลังจากที่พยายามติดต่อเพื่อขอลงสมัคร ส.ส.แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะสนับสนุน

           หลังเกิดเหตุคนร้ายใช้วิธีการเข้าหามวลชนในพื้นที่ด้วยการระดม ปลุกปั่น ป้ายสี การกระทำที่เกิดขึ้นว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ เพื่อทำให้การสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายที่แฝงตัวอยู่ในหมู่บ้านเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น

            แต่ยังโชคดีที่การไล่ล่าคนร้ายและเครือข่ายที่ลงมือเผาโรงเรียนมีความว่องไวกระชับรัดกุม ทำให้ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาได้หลายรายในเวลาไม่นาน รวมทั้งแกนนำคนสำคัญ

            จากรายงานของสำนักประสานงานและบูรณการการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2557 พบว่า มีโรงเรียนที่ถูกเผาจำนวน 204 โรง ซึ่งเป็นโรงเรียนในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ) จำนวน 202 โรง  และเป็นโรงเรียนในสังกัดของสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน(กศน) จำนวน 2 โรง

             ผลกระทบที่ส่งผลต่อเด็กโดยตรง คือ การขาดโอกาสทางการศึกษา เมื่อโรงเรียนถูกเผาเด็กก็ไม่มีที่เรียนหนังสือ และโรงเรียนจะทำการปิดการเรียนการสอน และต้องใช้สถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการเรียนและในฤดูฝนก็ไม่สามารถเรียนได้ นอกจากนี้ ยังเกิดบาดแผลทางด้านจิตใจต่อเด็ก ๆ ที่เรียนในโรงเรียนเด็กมักจะตั้งคำถามกับครู ว่า “เผาโรงเรียนหนูทำไม”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ