วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต ‘ดีเอสไอ’สั่งไม่ฟ้อง‘ทีพีไอโพลีน’ฟอกเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 19 ก.ค. 2553 ดีเอสไอ สั่งไม่ฟ้อง‘ ทีพีไอฯ’ ฟอกเงิน โดยเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ เรื่องของ ทีพีไอฯ ถูกกล่าวหาว่าฟอกเงิน ยังโยงไปถึงการร้องให้ยุบปชป.

          วันนี้ในอดีต 19 ก.ค. 2553   กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในยุคที่มีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดีฯ สั่งไม่ฟ้องบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) กรณีถูกกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

          โดยคดีดังกล่าวมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบริษัททีพีไอโพลีนฯ  ว่า มีพฤติการณ์กระทำความผิดตาม ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในช่วงเดือน ก.ค.2547-ก.พ.2548 บริษัท ทีพีไอ ได้จ่ายเงินค่าจ้างบริษัทเมซไซอะ เพื่อจัดทำสื่อโฆษณาและที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ในโครงการต่าง ๆ รวม 263 ล้านบาท และบริษัทเมซไซอะฯ ได้นำเงินเกือบทั้งหมดไปจัดทำสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

         ทั้งนี้ จากการสอบสวนของดีเอสไอพบว่า การกล่าวหาบริษัท ทีพีไอโพลีนฯ เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากการบอกเล่ามาอีกทอดหนึ่ง ผู้กล่าวหาไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐาน อื่น อาทิ เช่น งบการเงินประจำปี ซึ่งได้จัดส่งให้ กลต., ตลาดหลักทรัพย์ และศาลล้มละลายกลาง และหลักฐานการทำงานที่ว่าจ้าง มีความชัดเจนและเชื่อได้ว่า บริษัทเมซไซอะ ได้มีการทำงานตามที่บริษัท ทีพีไอโพลีนฯ ว่าจ้างจริง ไม่ใช่นิติกรรมอำพราง 

          คณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว จึงเห็นว่า จากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะใช้ยืนยันหรือพิสูจน์ว่าบริษัท ทีพีไอ ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัท ทีพีไอ แต่มีการว่าจ้างบริษัทเมซไซอะฯ ทำสื่อโฆษณาจริง

           สำหรับกรณี‘ทีพีไอโพลีน’  ยังโยงไปถึงการที่อัยการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์  โดยกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมสไซอะ แอนด์ครีเอชั่น จำกัด เป็นจำนวนเงิน 258 ล้านบาท โดยทำสัญญาว่าจ้างทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามโครงการต่างๆเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับเงินบริจาคตามที่กฎหมายกำหนด

          อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า ไม่ปรากฏว่ามีความเห็นจากนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำการ อันจะเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมือง การที่ กกต.มีความเห็นด้วยเสียงข้างมาก 4 เสียงเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นการข้ามขั้นตอน ไม่ชอบด้วยวิธีปฎิบัติ และ กกต.ไม่มีอำนาจที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้   ดังนั้นผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความเห็นด้วยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ