วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต : 'ลอยตัว' ค่าเงินบาท !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 2 ก.ค. 2540 ไทยซึ่งขณะนั้นเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก เปลี่ยนระบบการเงินของประเทศ โดยเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบ‘ตะกร้าเงิน'เป็น 'ลอยตัว'

         วันนี้ในอดีต 2 ก.ค. 2540 ประเทศไทยซึ่งขณะนั้นเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก ได้ตัดสินใจเปลี่ยนระบบการเงินของประเทศ โดยเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบ‘ตะกร้าเงิน’ ซึ่งใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นระบบ ‘ลอยตัว’ และจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทผันผวนและลดต่ำลงอย่างมาก จากค่าเงินบาทคงที่อยู่ที่ 25 บาท ต่อดอลลาร์  ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ จนไปถึงจุดต่ำสุดที่ 55บาท ต่อดอลลาร์  ส่งผลให้ธุรกิจของคนไทยล้มละลายเป็นจำนวนมาก บางคนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย   

         'คณะกรรมการการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ’(ศปร.) ได้เคยจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยความผิดพลาดของการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยและสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนำไปสู่การปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 ดังนี้

         1.การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

         ในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็มีการขาดดุลตั้งแต่ปี 2530 และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2539 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่หดตัวลง 1.9% จากที่เคยขยายตัวสูงในปีก่อนหน้าถึง 24.82% สะท้อนให้เห็นสถานะรายได้ของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในระดับสูงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ

         2.ปัญหาหนี้ต่างประเทศ

         สถาบันการเงิน กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในเมืองไทย ทำให้ในปี 2540 หนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นในระดับสูงถึง 109,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

         3.การลงทุนเกินตัว และฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

         ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เติบโตอย่างมากในช่วงปี 2530-2539 ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สนามกอล์ฟ สวนเกษตร เนื่องจากผู้ประกอบการมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่กำลังร้อนแรงได้ง่าย เพื่อมาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ

         นอกจากนั้นแล้ว ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้เกิดความต้องการเก็งกำไร ซึ่งได้ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจอย่างมาก จนกลายเป็น‘ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่’

         4.ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

         ปลายปี 2539 เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินในประเทศ ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนธนกิจทั้งหลาย รัฐบาลในขณะนั้นสั่งปิดสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 18 แห่ง ปิดธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง และกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง ในเดือน มี.ค 2540 รัฐบาลใช้'กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน'ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าสนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ต่าง ๆ สิ้นเงินไปมากกว่า 6 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายต้องสั่งปิด 16 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2540 และปิดอีก 42 บริษัท เมื่อ 5 ส.ค. 2540 รวมเป็น 58 สถาบันการเงิน

         ในช่วงก่อนวิกฤต กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างหละหลวม โดยไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือความสามารถในการชำระเงินคืนอย่างถ่องแท้ การปล่อยสินเชื่อให้แก่พวกพ้องหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง นักการเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวาง

         เมื่อลูกหนี้เริ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการลงทุนเกินกว่าความต้องการซื้อ ทำให้ธนาคารมีปัญหาสภาพคล่อง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลพุ่งขึ้นสูง

         5.ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย

         นโยบายการเปิดให้มีการจัดตั้ง‘กิจการวิเทศธนกิจ’เมื่อปี 2536 ที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไม่มีเสถียรภาพ

         6.การโจมตีค่าเงินบาท

         ปัญหาเศรษฐกิจที่สั่งสมมานานดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต่างชาติถือโอกาสโจมตีค่าเงินบาทของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำเงินทุนสำรองทางการถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของเงินสำรองทั้งหมด มาใช้เพื่อปกป้องค่าเงินบาท จนทำให้เงินสำรองทางการ ณ.วันที่ 2 ก.ค. 40 เหลืออยู่เพียง 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่เคยมีถึง 38.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปลายปี 2539 และประเทศไทยยังต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก‘ไอเอ็มเอฟ’อีกด้วย

         และจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกประชาชนชุมนุมกดดันเรียกร้องให้ลาออกโดยเห็นว่า บริหารผิดพลาด  

         สำหรับประเทศไทย ช่วงก่อนที่จะเกิด‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ปี 2540  ประเทศเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกไว้กับตะกร้าเงิน (Pegged to the basket currency) ตะกร้าเงินที่ว่านี้คือ เงินสกุลสำคัญๆ ของโลกหลายสกุลเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกันตามปริมาณการค้าของไทยกับประเทศนั้นๆ (ซึ่งเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีน้ำหนักสูงสุดในตะกร้าเพราะเราค้าขายด้วยเงินดอลลาร์เป็นหลัก) การผูกค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินนี้หมายความว่า อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับตะกร้าเงินหรือเงินดอลลาร์ จะเคลื่อนไหวในช่วงที่แคบมากในแต่ละวันหรือเกือบจะเรียกว่าคงที่เลยก็ได้ สาเหตุที่ประเทศไทยเลือกใช้ระบบนี้เป็นเพราะเราต้องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างต่างประเทศ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนนิ่ง นักธุรกิจก็จะทำธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างสบายใจ

         แต่ในการผูกค่าเงินไว้กับตะกร้าเงินนั้นมีต้นทุนด้วย ทุกๆ วัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นผู้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยใช้เงินทุนสำรองที่มีอยู่

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ในระยะยาวมักนำประเทศไปสู่วิกฤตการเงินเสมอ การบังคับค่าเงินให้อยู่ที่เดิมเป็นเวลานานๆ เป็นการบิดเบือนค่าที่แท้จริงของเงิน ซึ่งจะนำพาไปสู่วิกฤตการเงินในระยะยาว

         อย่างเช่น ใน ช่วงปี 2538 ประเทศไทยเริ่มมีความได้เปรียบเรื่องค่าแรงน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในเอเชียทำให้สินค้าไทยเริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น แต่แทนที่เงินบาทจะอ่อนลงเพื่อช่วยการส่งออก เงินบาทกลับถูกผูกไว้กับดอลลาร์ที่อัตราแลกเปลี่ยนเดิม ประเทศไทยจึงขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะส่งออกได้น้อยลง ความต้องการเงินบาทในตลาดก็น้อยลงเพราะสินค้าไทยเป็นที่ต้องการน้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยิ่งนำเงินทุนสำรองมาซื้อเงินบาทในตลาดเพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ยิ่งพยุงเงินบาทไว้ที่เดิมก็ยิ่งส่งออกได้ยากขึ้นทำให้ยิ่งต้องพยุงมากขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วทุนสำรองก็ใกล้หมด ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 ซึ่งนำไปสู่‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ในเวลาต่อมา

         ส่วนระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไม่ก่อทำให้เกิดวิกฤตการเงิน คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating System) อัตราแลกเปลี่ยนในระบบนี้จะเปลี่ยนไปตามความต้องการซื้อและขายเงินที่เกิดขึ้นจริงในตลาดตลอดเวลาโดยปราศจากการแทรกแซงค่าเงินโดยธนาคารกลาง ค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจะช่วยทำให้ค่าเงินตรงกับเป็นจริงและเป็นการปรับสมดุลทางการค้าและการลงทุนหรือดุลการชำระเงินของประเทศโดยอัตโนมัติ

         อย่างไรก็ตาม ‘ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว’มักไม่เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจในระยะสั้นเนื่องจากค่าเงินที่ผันผวนตลอดเวลาทำให้นักธุรกิจบริหารจัดการต้นทุนได้ลำบากขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินที่เคลื่อนไหวไปมายังสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินในระยะสั้นโดยนักค้าเงิน ทำให้ค่าเงินในระยะสั้นยิ่งมีความผันผวนมากขึ้นไปอีก

         หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยและประเทศในเอเชียส่วนใหญ่หันมาใช้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแต่มีการบริหารจัดการร่วมด้วย (Managed Floating System) กล่าวคือ ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวตามแรงซื้อแรงขายที่แท้จริงในตลาดเงินเป็นหลัก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงมีการแทรกแซงค่าเงินเป็นระยะๆ เพื่อช่วยลดความผันผวนที่มากเกินไปในบางช่วง การแทรกแซงนี้เป็นไปเพื่อช่วยลดความผันผวนเท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการพยุงค่าเงินไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ เหมือนแต่ก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ