วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 24 มิ.ย. 2485 เปิด'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 24 มิ.ย. 2485 เป็นวันพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่กล้าหาญเสียชีวิตในการรบ กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับพรมแดน

 

        วันนี้ในอดีต  24 มิ.ย. 2485 มีพิธีเปิด อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม  เป็นผู้ทำพิธีเปิด

         'อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ' สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งเป็นผู้กล้าหาญของชาติ ที่ได้เสียชีวิตไปในการรบ ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส

         เหตุการณ์ดังกล่าวย้อนหลังไปเมื่อปี 2483 สมัย 'รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม' ประเทศไทยได้เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสก็ได้เร่งรัดให้ทำสัตยาบันไม่รุกรานฝรั่งเศสเป็นการตอบแทนตาม ที่ได้เคยทำสัญญาไว้ โดยสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อแลกสัตยาบันกันเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไทยให้คำตอบว่ายินดีจะทำตามหากฝรั่งเศสยกดินแดนหลวงพระบาง ปากเซ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ที่ยึดไปเมื่อปี 2447 คืนให้กับไทย และทำการปักปันเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงให้เรียบร้อย  นอกจากนี้ต้องรับประกันว่าจะยกประเทศลาวซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรของไทยคืนให้ไทยด้วยหลังจากที่พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศสแล้ว แต่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธข้อเสนอนี้

        ดังนั้นจึงเกิดเป็นกรณีพิพาทกันขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อฝรั่งเศสทำการทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28  พ.ย. 2483 โดยทางรัฐบาลไทยได้โต้ตอบโดยการทิ้งระเบิดเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารและอาวุธ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทให้ยุติลง โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประชุมทำสัตยาบันสันติภาพที่กรุงโตเกียว

        ฝรั่งเศสตกลงยอมยกดินแดนหลวงพระบาง ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง นครจำปาศักดิ์กับที่ท่าสามเหลี่ยมฝั่งขวา และอาณาเขตมณฑลบูรพาเดิมให้กับไทย
        ผลจากกรณีพิพาทในครั้งนั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียชีวิตของทหาร  ตำรวจ พลเรือน จำนวน 59 นาย ซึ่งมีชื่อจารึกอยู่บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

        สำหรับ 'อนุสารีย์ชัยสมรภูมิ'  มี พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24  มิ.ย. 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

           ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์ บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธิน มีชื่อเรียกว่า "สี่แยกสนามเป้า"
         'หม่อมหลวงปิ่น'ใช้ดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืน 5 เล่มรวมกันจัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

         ด้านนอกตรงโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาด 2 เท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข  ภายใต้การควบคุมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

         ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย เป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ ปี 2483-ปี 2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย

        นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญ และเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิต ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส, สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีแล้ว   ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังเป็นต้นทางของถนนพหลโยธิน รวมไปถึงศูนย์กลางการคมนาคมที่มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทางเป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS   จึงทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ