วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต จลาจลภูเก็ต!เผาโรงงานแทนทาลัม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 23 มิ.ย.2529 เกิดจลาจลเผา รง.แทนทาลัมขึ้นที่จ.ภูเก็ต เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ จว.ที่พึ่งรายได้จากเหมืองแร่เปลี่ยนมาสู่การท่องเที่ยว

      วันนี้ในอดีต 23  มิ.ย. 2529 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นที่ จ.ภูเก็ต จากการที่ผู้ชุมนุมประท้วงจุดไฟเผาโรงงานแทนทาลัมจนวอดวาย ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดและสุดท้ายต้องย้ายไปสร้างที่อื่น

      เหตุการณ์ในครั้งนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตจากการพึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน  

       ตั้งแต่สมัยโบราณมา'แร่ดีบุก'เป็นทรัพยากรสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับภูเก็ตมาตลอด แต่ตั้งแต่ปี  2524 ราคาดีบุกในตลาดโลกเริ่มต่ำลง การค้าดีบุกจึงซบเซาพร้อมๆกับปริมาณ'ดีบุก'ที่มีการขุดพบลดลง

        ในระหว่างที่อุตสาหกรรมการผลิตและการค้าดีบุกชะลอตัว ก่อนหน้านั้นชาวภูเก็ต ได้รับรู้และพบว่า'ขี้ตะกรันดีบุก'หรือ'สะแหลกดีบุก' เป็นแร่ที่สามารถขายได้ในราคาดี เพราะมีแร่โคลัมไบต์–แทนทาไลต์ ซึ่งเป็นแร่ยุทธปัจจัยใช้สำหรับทำยานอวกาศหรือหัวจรวดนำวิถีและขีปนาวุธต่างๆ ทั้งนี้เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้เสียดสีของอากาศได้สูงมาก แร่โคลัมไบต์–แทนทาไลต์ มีราคากิโลกรัมละ 60–70 บาทและเมื่อนำมาผ่านกระบวนการสกัดต่อจนได้'แร่แทนทาลัม'จะมีราคาสูงกว่าแร่แทนทาไลต์หรือขี้ตะกรันดีบุกประมาณ 40-50 เท่า

         เมื่อชาวบ้านทราบว่า'ขี้ตะกรัน'เป็นของมีราคาจึงแตกตื่น ส่งผลให้บรรดานายทุนต่างๆ ยื่นประมูลต่อทางการขอขุดถนนเก่าๆทุกสายในตัวเมืองภูเก็ต โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อขุดเสร็จแล้วจะสร้างถนนใหม่ทดแทน ส่วนบ้านที่ปลูกสร้างอยู่บนเตาถลุงที่มีขี้ตะกรันฝังอยู่มากๆ ก็จะถูกรื้อหรือทุบพื้นทิ้งเพื่อขุดเอาขี้ตะกรันดังกล่าวขึ้นมา ในขณะนั้นคนภูเก็ตสามารถทำรายได้จากการขุดขาย'ขี้ตะกรันดีบุก'หรือรับจ้างขุด สูงถึงวันละ 180 บาท 

        ผลจากการตื่นตัวใน'แร่แทนทาลัม'ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่จะสร้าง'โรงงานถลุงแทนทาลัม'ขึ้น โดยในวันที่ 28 ธ.ค. 2522 บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท โดยมีโครงการก่อสร้างโรงงานที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้รับใบอนุญาตให้สร้างโรงงานในปี 2526 จนก่อสร้างแล้วเสร็จ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2529 แต่โรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะประสบปัญหาการคัดค้านจากหลายภาคส่วนทั้งในระดับจังหวัดและประเทศอย่างรุนแรง เนื่องจากชาวภูเก็ตได้รับข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านการเปิดโรงงานว่า โรงงานแทนทาลัมจะก่อให้เกิดมลพิษต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมของภูเก็ต จนนำมาสู่ความขัดแย้งแผ่ขยายตัว

         ในวันที่ 13 มิ.ย.2529  ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ตได้ขอพบนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ  พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ปิดโรงงานแทนทาลัมภายในวันที่ 2 ก.ค. 2529 แต่กระทรวงอุตสาหกรรมประสงค์จะได้ข้อคิดเห็นในการคัดค้านครั้งนี้

         แล้วก็มาถึง..วันที่ 23 มิ.ย.2529 นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.อุตสาหกรรมในขณะนั้น เดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ตเพื่อรับฟังความคิดเห็นตามความต้องการของตัวแทนกลุ่มคัดค้าน โดยนัดหมายที่ศาลาประชาคม แต่เมื่อไปถึงผู้ชุมนุมกลับแสดงทีท่าต่อต้านรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและคณะด้วยความรุนแรง โดยผู้ชุมนุมจำนวนหลายพันคนพยายามเข้าประชิดและขว้างปาและทุบรถ แม้ว่านายจิรายุ ได้ชี้แจงให้ผู้ชุมนุมทราบว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและจะให้คำตอบแก่ชาวภูเก็ตในวันที่ 2  ก.ค.ตามที่ผู้ชุมนุมกำหนด และระหว่างนี้ได้ให้โรงงานยุติการดำเนินการชั่วคราวก็ไม่ได้ผล การประท้วงได้รุนแรงขึ้นและมีการเผาโรงงานแทนทาลัมและโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินซึ่งเป็นที่พักของนายจิรายุและคณะ จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดภูเก็ต และมีการประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ กว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ปกติก็ใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ และประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 1 ก.ค. 2529
          การจลาจลครั้งนั้น ได้ก่อความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท และสุดท้าย บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด มีมติให้ย้ายโรงงานแทนทาลัมจากภูเก็ตไปตั้งที่อื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ