วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต วันเกิด 'ออง ซาน ซูจี' หญิงเหล็กแห่ง 'เมียนมา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต19 มิ.ย.2488 วันเกิด 'ออง ซาน ซูจี' หญิงเหล็กแห่ง ‘เมียนมา’ ที่ต่อสู้ทางการเมืองกับ 'รัฐบาลทหาร' มาอย่างยาวนาน จนสุดท้ายเธอก็ได้รับชัยชนะ

          วันนี้ในอดีตเมื่อ 72 ปีที่แล้ว 19 มิ.. 2488 เป็นวันเกิด‘ ออง ซาน ซูจี(Aung San Suu Kyi)ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่าหรือเมียนมา

          เธอเกิดที่กรุงย่างกุ้ง บิดาของเธอคือ นายพล อองซาน ผู้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้ญี่ปุ่นยึดพม่าจากสหราชอาณาจักรได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับทางญี่ปุ่นให้แต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี นายพล ออง ซาน ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2490 ขณะนั้น'ซูจี' อายุแค่ 2 ปีทำให้’ดอว์ขิ่นจี ‘ผู้เป็นภรรยาของนายพลอองซาน ต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรชายหญิง 3 คนโดยลำพังหลังจากสามีถูกลอบสังหาร  ‘ซูจี’เป็นลูกคนเล็ก และเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัว

         ภายหลังบิดาเสียชีวิตไม่นาน พี่ชายคนรองของเธอประสบอุบัติเหตุจมน้ำตายในบริเวณบ้านพัก ‘ซูจี ‘และพี่ชายคนโตคือ ‘อองซาน อู’ เติบโตมากับการดูแลของมารดา ที่เข้มแข็งและความเอ็นดูของเครือข่ายอำนาจเก่าของบิดา

         ‘ซูจี’ถูกส่งเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยสตรีศรีรามที่นิวเดลี จากนั้นไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาที่เซนต์ฮิวส์คอลเลจในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี พ.ศ. 2507-2510 ช่วงที่ศึกษาอยู่นั้น ‘ซูจี’ได้พบรักกับ'ไมเคิล อริส 'นักศึกษาสาขาวิชาอารยธรรมทิเบต

         ต่อมา ‘ซูจี ‘ เดินทางไปมหานครนิวยอร์ก ตามคำชักชวนของเพื่อนบิดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติในขณะนั้น คือ นายอูถั่น ซึ่งเป็นชาวพม่า ‘ซูจี’เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการของสำนักงานเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ

         เดือน ม.ค. 2515 ‘ซูจี’ แต่งงานกับ ‘ไมเคิล อริส ‘และย้ายไปอยู่กับสามี ที่ราชอาณาจักรภูฏาน ‘ซูจี’ได้งานในกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลภูฏาน ขณะที่’ไมเคิล’มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการแปล รวมทั้งมีหน้าที่ถวายการสอนแก่สมาชิกราชวงศ์แห่งภูฏาน

          ต่อมาในช่วงปี  2516-2520 ทั้งสองย้ายกลับมาที่กรุงลอนดอน ‘ไมเคิล’ได้งานสอนวิชาหิมาลัยและทิเบตศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ‘ ซูจี’ให้กำเนิดบุตรชายคนแรก ‘อเล็กซานเดอร์’ ในปี พ.ศ. 2516 และบุตรชายคนเล็ก ‘ คิม’ ในปี พ.ศ. 2520

        นอกจากใช้เวลากับการเลี้ยงดูบุตรชายทั้งสองแล้ว  ‘ซูจี’เริ่มทำงานเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติของบิดาจากความทรงจำของตนเองโดยมิต้องอาศัยเอกสารหลักฐานใดๆ

        ปี 2528-2529  ‘ซูจี’ และ ‘ไมเคิล’ ตัดสินใจแยกจากกันระยะหนึ่ง ‘ ซูจี’ได้รับการติดต่อจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของบิดาของเธอ ขณะที่ ‘ไมเคิล’ ได้รับทุนจาก Indian Institute of Advanced Studies ที่ซิมลา (Simla) ทางภาคตะวันออกของอินเดีย  ‘ซูจี’พา ‘คิม’  บุตรชายคนเล็กไปญี่ปุ่นด้วย ส่วน ‘ไมเคิล’ได้พา ‘อเล็กซานเดอร์ ‘บุตรชายคนโตไปอยู่ด้วยที่อินเดีย

       ปีต่อมา ‘ไมเคิล’ ประสานงานภายใน Indian Institute of Advanced Studies เพื่อให้ ‘ซูจี’ ได้รับทุนสนับสนุนเช่นกัน ‘ซูจี’ จึงพา ‘คิม’มาสมทบกับสามีที่ซิมลา ประเทศอินเดีย

       ปี 2530 ‘ ไมเคิล’ ย้ายครอบครัวกลับมาอยู่ที่ออกซฟอร์ด ‘ซูจี’ เข้าศึกษาต่อที่ London School of Oriental and African Studies ที่กรุงลอนดอน เธอได้แสดงความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีพม่า

       กลับบ้านเกิดเพื่อสานความฝันในการปกครองพม่าของบิดา

         ปลายเดือน มี.ค. ปี 2531 ‘ ซูจี’ ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง เพื่อมาเยี่ยมนางดอว์ขิ่นจี มารดา ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีความวุ่นวายทางการเมืองในพม่ากดดันให้นายพลเนวิน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ยึดอำนาจการปกครอง ประเทศพม่ามานานถึง 26 ปี

         เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนที่ดิฉันเดินทางกลับมาพม่าเมื่อ พ.ศ. 2531 เพื่อมาพยาบาลคุณแม่นั้น ดิฉันวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่ม ทำโครงการเครือข่ายห้องสมุดในนามของคุณพ่อด้วย เรื่องการเมืองไม่ได้อยู่ในความสนใจของดิฉันเลย แต่ประชาชนในประเทศของดิฉันกำลังเรียกร้อง ประชาธิปไตย และในฐานะลูกสาวของพ่อ (นายพลอองซาน) ดิฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ดิฉัน ต้องเข้าร่วมด้วย”

        ‘ซูจี’ เข้าร่วมปลุกเร้าประชาชนให้มีขวัญกำลังใจ เรียกร้องเอกราชคืนจากรัฐบาลเผด็จการ โดยใช้หลักอหิงสาเผชิญหน้ากับกระบอกปืนอย่างไม่เกรงกลัว ‘ซูจี’ปราศรัยครั้งแรกต่อประชาชนนับหมื่นที่เจดีย์ชเวดากองเมื่อวันที่ 26  ส.ค. ปี 2531  

       ต่อมา ‘ซูจี ‘เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้ง ‘สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ’ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน และได้ทำการปราบปรามและจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน

        วันที่ 24  ก.ย. 2531 ‘ ซูจี’ ได้ร่วมจัดตั้ง ‘พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย’ขึ้น (National League for Democracy หรือ NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ชีวิตทางการเมืองของ ‘ซูจี’ จึงได้เริ่มต้น นับแต่นั้น

        ก.ค. 2532  ‘ซูจี ‘ถูกทหารกักตัวไว้ที่บ้านพัก  

        พ.ค. 2533 พรรค‘ NLD’ ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ทหารปฏิเสธการถ่ายโอนอำนาจแล้วกักบริเวณ ‘ซูจี’ พร้อมจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่ ‘คุกอินเส่ง’อันโหดร้ายทารุณ ทหารยื่นข้อเสนอให้เธอยุติบทบาททางการเมือง ออกนอกประเทศไปพร้อมครอบครัว แต่เธอปฏิเสธ และเลือกที่จะอยู่เป็นกำลังใจให้ประชาชนพม่าในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

      วันที่ 14  ต.ค. 2534 คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ประกาศชื่อ ‘ ซูจี’ เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และได้เงินรางวัล 1.3 ล้านเหรียญซึ่ง ‘ซู จี’ไม่ได้เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง ‘ อเล็กซานเดอร์’ และ ‘คิม’จึงบินไปรับรางวัลแทนมารดาที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ‘อเล็กซานเดอร์’กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมในพิธีว่า “ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ’

       ต่อมา  10 ก.ค. 2538 ‘ซูจี’ประกาศสู่สื่อมวลชนทั้งในพม่าและสื่อนานาชาติว่า จะมอบเงินรางวัลจำนวน 1.3 ล้านเหรียญ เพื่อให้รัฐบาลใช้จัดตั้งกองทุนสุขภาพและการศึกษาของประชาชนพม่า จากข่าวดังกล่าวรัฐบาลจึงยกเลิกคำสั่งการกักบริเวณของเธอ  'ซูจี'จึงได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณ

        ต่อมาในปี 2543   ‘ซูจี’ ได้ปราศรัยเรียกร้องมวลชนที่สนับสนุนเธอให้ต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลทหาร ‘ซูจี’ จึงถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่สอง เป็นเวลา 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 และได้รับอิสรภาพจากการกักบริเวณครั้งนี้เมื่อเดือน พ.ค. 2545

       ในปี 2552 ‘ซูจี’ ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านหลังจากที่มีชายชาวอเมริกัน ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักของเธอและถูกจับกุม  ต่อมา 13 พ.ย. 2553 เธอได้รับการปล่อยตัว

        ในช่วงปลาย พ.ค.2555  ‘ซูจี’ ได้เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก โดยเข้าร่วมประชุม ‘สภาเศรษฐกิจโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออก’ ที่ประเทศไทย โดยก่อนหน้าการประชุม 'ซูจี'ได้เยี่ยมแรงงานชาวพม่าที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ และให้กำลังใจแรงงานดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังเดินทางไปในหลายประเทศในยุโรปอีกด้วย

        ในการเลือกตั้งทั่วไปปี  2558 พรรค NLD ของเธอชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย  ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 86% (255 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรและ 135 ที่นั่งในสภาเชื้อชาติ ) เธอได้เป็น ‘ที่ปรึกษาแห่งรัฐ’  (State Counsellor)  ซึ่งตำแหน่งนี้ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2559 เพื่อให้ ‘ซูจี’มีอำนาจเหนือประมุขแห่งรัฐในรัฐบาลของประเทศพม่า เพราะแม้ว่า ‘พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย’ที่มี ‘ซูจี ‘ เป็นประธานพรรค ชนะเลือกตั้ง แต่เธอไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญของพม่า ที่ห้ามผู้ที่มีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติเป็น ‘ประธานาธิบดี’  ซึ่งสามีและบุตรของ ‘ซูจี’ ถือสัญชาติอังกฤษ นอกจากนี้เธอยังดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ต่างประเทศและรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี อีกด้วย

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ