วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต16มิ.ย.วันเกิด‘จอมพลสฤษดิ์’ผู้นำ'อำนาจเบ็ดเสร็จ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต16 มิ.ย.2451 เป็นวันเกิดของ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ผู้นำประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เจ้าของคำพูด‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว


        วันนี้ในอดีตเมื่อ 109 ปีที่แล้ว 16 มิ.ย. 2451 เป็นวันเกิดของ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’นายกรัฐมนตรีคนที่ 11  ของไทย ซึ่งเป็นผู้นำประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เจ้าของคำพูด‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’
        'สฤษดิ์'เป็นคนบ้านปากคลองตลาด ตำบลพาหุรัด จังหวัดพระนคร ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2471 ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2472
         ต่อมาในปี 2476 เกิด‘กบฏบวรเดช’นำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช  ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล ที่มี‘พันเอกหลวงพิบูลสงคราม’เป็นผู้บังคับบัญชา หลังจากรัฐบาลได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก
         ในปี 2484  'สฤษดิ์' เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33จังหวัดลำปาง มียศเป็น'พันตรี' จนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2488 จึงได้เลื่อนยศเป็น 'พันเอก'ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
          หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง มีการผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง โดยก่อนหน้านั้นปี 2487 อำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เริ่มเสื่อมถอยลง หลังจากลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับเติบโตขึ้นโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ
          ปี 2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ รัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมคณะรัฐประหารด้วย และเป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นขุนพลคู่ใจตั้งแต่นั้น
          และนับแต่นั้น ตำแหน่งของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในปี 2492ได้รับพระราชทานยศพลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 
         ผลงานที่สร้างชื่อ คือ การเป็นหัวหน้าปราบ‘กบฏวังหลวง’  จากนั้นก็ได้รับการเลื่อนยศเป็น‘พลโท’ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี 2493 
         ต่อมาในวันที่ 23 มิ.ย. 2497  พลเอกสฤษดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น‘ผู้บัญชาการทหารบก’ 
        ในวันที่  1 ม.ค 2499 พลเอกสฤษดิ์ ได้รับพระราชทานยศ‘จอมพล’
        ในวันที่ 27 ก.ย. 2500 จอมพลสฤษดิ์  ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นคนแรก
       ต่อมาในวันที่ 19 ก.พ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ได้รับพระราชทานยศจอมพลเรือและจอมพลอากาศ
       ในวันที่ 9 ก.ย. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ
       ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 26 ก.พ. 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็น‘การเลือกตั้งสกปรก’ ซึ่งผล คือ พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก และได้ตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนักจากการเดินประท้วงของประชาชนจำนวนมาก ที่เรียกร้องให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรี และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง 
         เมื่อสถานการณ์ลุกลาม‘ จอมพล ป. ’ ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่‘จอมพลสฤษดิ์ ’สั่งไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบ‘จอมพล ป. ’ที่ทำเนียบ ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า“วีรบุรุษมัฆวานฯ”

         และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ‘จอมพลสฤษดิ์’เห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขาดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองแล้ว ‘จอมพลสฤษดิ์’ จึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหม ที่ตนเองได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีใน‘รัฐบาล จอมพล ป.’ คงเหลือแต่ตำแหน่ง‘ผู้บัญชาการทหารบก’เพียงอย่างเดียว
         วันที่ 13  ก.ย. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจาก 'จอมพล ป.' ว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเองยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ ว่า“พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”
          วันที่ 15 ก.ย. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปบ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏ แต่ไม่ทัน ในคืนวันที่ 16 ก.ย. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำกำลังทหารทำการรัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และในคืนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ
          หลังยึดอำนาจรัฐบาล ‘จอมพล ป.’แล้ว ‘จอมพลสฤษดิ์’ เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจาก‘รัฐบาลพจน์ สารสิน’จัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลโทถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2501 แต่ต่อมา ได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้นในรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทถนอม กิตติขจร ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ ได้ ‘จอมพลสฤษดิ์’ จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศ  พลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง                 จากนั้นต่อมาอีกประมาณ 3 เดือนเศษ ‘จอมพลสฤษดิ์ ’ ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2502
            ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่นพรรคการเมือง โดยกล่าวว่า“ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
           นโยบายของจอมพลสฤษดิ์  ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่น,กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล, กฎหมายปรามการค้าประเวณี ตลอดจนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มีการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504–2509) มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญ เช่นไฟฟ้า,ประปา,ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”
            จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีฉายาว่า“จอมพลผ้าขาวม้าแดง” คือ ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันทีหากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ ,การใช้ “รัฐธรรมนูญ ม.17” ปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ทั้งเป็นผู้รื้อฟื้นพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ,การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์, การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

         'จอมพลสฤษดิ์' เป็นผู้ใช้ รัฐธรรมนูญมาตรา 17 เพื่อปราบปรามปัญญาชนและนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าคนสำคัญหลายคน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นผู้ออก "พรบ. คอมมิวนิสต์" ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้นำชาวนาในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่นำมาซึ่งกรณี "ถีบลงเขา เผาลงถังแดง" อันลือลั่นทั่วทุกพื้นที่ในชนบท และเป็นผู้สถาปนา'ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหาร'

            นอกจากนี้แล้ว ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยได้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศกัมพูชา ในกรณีประสาทพระวิหาร ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเรี่ยไรเงินบริจาคจากประชาชนชาวไทยคนละ 1 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลโลก

          หลังจากมีคำพิพากษาของศาลโลกออกมา จอมพลสฤษดิ์ ออกแถลงการณ์แก่ประชาชนชาวไทยด้วยตนเองผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มีใจความตอนหนึ่งว่า' รัฐบาลและประชาชนชาวไทย ไม่ได้เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลโลก ทั้งในข้อเท็จจริง กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักความยุติธรรม แต่ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ ต้องยอมให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร ตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ แต่รัฐบาลขอตั้งประท้วงและขอสงวนสิทธิ์อันชอบธรรมของประเทศไทยในเรื่องนี้ ไว้ เพื่อสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินทางกฎหมายที่จำเป็นซึ่งอาจจะมีขึ้นในภายภาคหน้า ให้กรรมสิทธิ์นี้กลับคืนมาในโอกาสอันสมควร'
           จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2506 ด้วยโรคไตพิการเรื้อรังและอีกหลายโรค เมื่ออายุได้ 55 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนเดียวที่ถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่ง หลังจากนั้นไม่นานก็มีการขุดคุ้ยเรื่องการคอร์รัปชั่นและการมีอนุภรรยาจำนวนมากของอดีตผู้นำประเทศผู้นี้
             

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ