วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 13 มิ.ย. 2535 ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ จากไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

13 มิ.ย. เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ปีนี้ปี 2560 เท่ากับว่า'พุ่มพวง ดวงจันทร์' ได้จากไปนานถึง 25ปีแล้ว แต่ผู้คนก็ยังรู้สึกอยู่เสมอว่า’เธอยังอยู่ ไม่ได้จากไปไหน'

 

           วันที่ 13 มิ.ย.เวียนมาบรรจบอีกวาระ จากปี2535 มาถึงปีนี้ ปี 2560 เท่ากับว่า 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' ราชินีลูกทุ่งได้จากแฟนเพลงไปนานถึง 25ปีแล้ว แต่แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปนานมากแล้ว แต่มิตรรักแฟนเพลงก็ยังรู้สึกอยู่เสมอว่า ‘เธอยังอยู่ ไม่ได้จากไปไหน' บทเพลงทุกบทเพลงที่ขับร้องเอาไว้ กลายเป็นเพลงอมตะ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่มีเนื้อหาผิดหวัง เศร้าสร้อยรวมถึงเพลงที่มีเนื้อร้องทำนองสนุกสนาน สมกับสมญานามที่เธอได้รับการยกย่องว่า ‘ศิลปินเพลงลูกทุ่งมหัศจรรย์‘ และ ‘ราชินีลูกทุ่งตลอดกาล‘

            ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ เสียชีวิตด้วยโรคเอสแอลอีหรือโรคแพ้ภูมิตัวเองเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2535 ในวัย 30 ปีเศษเท่านั้น

             ‘พุ่มพวง’ ชื่อเล่น ‘ผึ้ง’ หรือชื่อจริง ‘รำพึง จิตรหาญ’ เกิดเมื่อ 4 ส.ค. 2504 ที่บ้านหนองนกเขา  ต.ไพรนกยูง  อ.หันคา จ.ชัยนาท โตที่ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย เกิดในครอบครัวยากจน เป็นลูกคนที่ 5 ของบ้านในจำนวน 12 คน  ครอบครัวของเธอจัดอยู่ในขั้นที่ยากจนมาก เธอเรียนที่โรงเรียนบ้านดอนตำลึง แต่ด้วยความที่เธอมีน้องอีก 6 คน ประกอบกับค่านิยมของแม่นั้น เห็นว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนมาก เธอไม่จบแม้แต่ชั้น ป.2 ในวัยเด็กพอน้องหลับหมด เธอไปหาของขาย เก็บผัก หาดอกไม้ป่า หาบไปขายตามโรงงาน

             ‘รำพึง’ ชื่นชอบการร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เด็ก ถึงแม้ว่าเธอจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่ก็มีความจำดีเยี่ยม เธอเริ่มหัดร้องเพลงและเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 8 ปี โดยใช้ชื่อว่า 'น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย' เธอเข้าประกวดล่ารางวัลไปทั่ว ตั้งแต่อำเภอศรีประจันต์ บางปลาม้า แล้วข้ามจังหวัดไปถึงอำเภอเสนา ผักไห่ มหาราช วิเศษชัยชาญ บ้านแพรก หนองโดน พระพุทธบาท สระบุรี  ด้วยเหตุนี้หลังๆคนที่เข้าประกวดจึงมีการแบนเธอเกิดขึ้น ถึงขนาดว่าจะไม่ยอมขึ้นประกวดถ้า ‘น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย’ ขึ้นแข่งด้วย เพราะแข่งไปก็ไม่ชนะ

             ในปี 2518 เมื่ออายุได้ 15 ปี ‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ’นำวงดนตรีมาแสดงที่วัดทับกระดาน เธอได้ร่วมร้องเพลงและแสดงความสามารถจน‘ไวพจน์’เห็นความสามารถ เกิดความเมตตา จึงรับเป็นบุตรบุญธรรมและพาไปอยู่กรุงเทพฯ เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นหางเครื่องและนักร้องพลางๆ ก่อนที่‘ไวพจน์’ จะแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง ‘แก้วรอพี่ ’เพลงแต่งแก้กับเพลง “แก้วจ๋า” โดยใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า ‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’ ซึ่งจากการอยู่ในวงดนตรี‘ไวพจน์ เพชรสุพรรณ’ ทำให้เธอสนิทสนมกับ‘ธีระพล แสนสุข ’ และพัฒนาเป็นคู่รัก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้องแยกออกจากวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาเริ่มงานกับ‘ศรเพชร ศรสุพรรณ’ โดยทำงานเป็นทั้งหางเครื่องและนักร้องในวง จากนั้นย้ายมาอยู่กับ‘ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด’

           ในปี 2519 ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ‘มนต์ เมืองเหนือ’ รับเป็นลูกศิษย์ และเปลี่ยนชื่อจาก‘น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ’เป็น “พุ่มพวง ดวงจันทร์” โดยคนที่ตั้งชื่อนี้ให้ก็คือ‘ มนต์ เมืองเหนือ’ นั่นเอง  และได้บันทึกเสียงจากการแต่งของ‘ก้อง กาจกำแหง’ ร้องแก้‘ขวัญชัย’ เพลงนั้นคือ “รักไม่อันตรายและรำพึง” และตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนของ‘คารม คมคาย’ นักจัดรายการวิทยุ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

            ผลงานของ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’เริ่มประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา หลังจากได้รับการสนับสนุนจาก‘ประจวบ จำปาทอง’และ‘ปรีชา อัศวฤกษ์นันท์’ให้ตั้งวงร่วมกับ‘เสรี รุ่งสว่าง’ ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง จากจุดนี้ก็ได้รับความสำเร็จขึ้น

            ปี 2521 ‘พุ่มพวง’ได้รับรางวัลพระราชทานเสาอากาศทองคำพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากเพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” นอกจากนี้ยังได้เป็นผู้ร้องเพลง “ส้มตำ” เพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

           ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ เข้ามาอยู่สังกัดอโซน่า โปรโมชั่น ในปี 2525 ผลงานในระหว่างปี 2525-2535 ของเธอมีมากมายอย่าง เช่น จะให้รอ พ.ศ.ไหน (2525), นัดพบหน้าอำเภอ (2526)

            แล้วในปี 2527 คนจะดังเสียอย่าง ฉุดยังไงก็ไม่อยู่   ชื่อเสียงของ'พุ่มพวง'ดังเป็นพลุแตก เมื่อบังเอิญได้ร้องเพลง‘สาวนาสั่งแฟน’ ของครูลพ บุรีรัตน์ ซึ่งเพลงนี้ความจริง‘ครูลพ’ แต่งให้กับ‘ศิรินทรา นิยากร’ แต่ในช่วงการคัดเลือกเพลงทางอโซน่าต้นสังกัด หยิบเพลงนี้ออกมาให้‘พุ่มพวง’ร้อง เพลงนี้ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเฉพาะท่อนที่ร้องว่า “…ซื้อผ้าตาๆ มาฝากน้องบ้างเน้อ… เออ…” จะมีคนฟังร้องรับทุกครั้ง

           ส่วนเพลงอื่นๆ เช่น ทิ้งนาลืมทุ่ง (2527), คนดังลืมหลังควาย (2528). อื้อฮื้อ ! หล่อจัง (2528), ห่างหน่อย – ถอยนิด (2529) ,ชั่วเจ็ดที-ดีเจ็ดหน (2529), เรื่องของสัตว์โลก (2529) และ คิดถึงน้องบ้างนะ (2530) ซึ่ง 3 ชุดหลังเป็นชุดที่ออกหลังจากที่‘พุ่มพวง’ออกจากค่ายอโซน่า โปรโมชั่นแล้ว

           ต่อมาย้ายมาอยู่กับพีดี โปรโมชั่น และ ซีบีเอส เร็คคอร์ด (ประเทศไทย) และอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์‘พุ่มพวง’ให้เข้ากระแสนิยมของเพลงสตริงในยุคนั้น แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับของนักฟังเพลงลูกทุ่ง จึงได้ย้ายไปทำงานร่วมกับท็อปไลน์มิวสิค มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย ผลงานที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น ชุดตั๊กแตนผูกโบว์, กล่อม และ‘ ทีเด็ดพุ่มพวง’

          ผลงานกับค่ายท็อปไลน์มิวสิคอื่น ๆ เช่น หนูไม่รู้, หนูไม่เอา, พี่ไปดู หนูไปด้วย และนำผลงานเก่ามามิกซ์รวมกัน เช่น พุ่มพวงหลาย พ.ศ. (ตลับทอง และตลับเพชร), ขอให้รวย, น้ำผึ้งเดือนห้า, ซูเปอร์ฮิต 1 และ 2 

         จากนั้น ‘พุ่มพวง’ เริ่มรับจ้างทำงานให้กับอาร์เอส โปรโมชั่น เมโทรเทปและแผ่นเสียงและแฟนตาซี ไฮคลาส  สำหรับผลงานกับค่ายอาร์เอส เช่น ลูกทุ่งท็อปฮิตมาตรฐาน เป็นผลงานอัลบั้มที่เธอนำเพลงดังของศิลปินลูกทุ่งดังในอดีตมาร้องใหม่ นอกจากนี้ยังมีค่ายเมโทรฯ ที่ได้ลิขสิทธิ์งานเพลงชุด “ส่วนเกิน”

         การที่จะก้าวขึ้นสู่‘บัลลังก์ราชินีลูกทุ่ง’นั้น แค่‘พรสววรรค์’และน้ำเสียงอย่างเดียวไม่พอ ส่วนประกอบอื่นๆก็สำคัญไม่แพ้กัน ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ได้ชื่อว่าเป็นที่สุดของวงการลูกทุ่งบุกเบิก เพราะว่าเธอลงทุนไปดูโชว์ถึง ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา, ซื้อมิวสิควิดีโอนักร้องต่างชาติมาดู แล้วก็เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาพัฒนาต่อยอดจนทำให้เวทีคอนเสิร์ตของเธอมีสีสันต่างจากศิลปินลูกทุ่งรุ่นเดียวกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งลีลาแดนเซอร์ เสื้อผ้าการแต่งกายทั้งของเธอเองและของแดนเซอร์ ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาได้ทุกครั้งที่ปรากฏตัวบนเวที

          นอกจากนี้ ‘พุ่มพวง ดวงจันทร์’ ยังยกระดับเพลงลูกทุ่งโดย'พุ่มพวง'นับเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรก ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างเพลงของคนเมืองและคนชนบทเข้ามาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เมื่อ ‘พุ่มพวง’ สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการขึ้นเวทีใหญ่ร้องเพลงที่โรงแรมดุสิตธานีในการแสดงดนตรีการกุศล “พุ่มพวง ดวงจันทร์ อินคอนเสิร์ต” ท่ามกลางกลุ่มคนชั้นสูงทั้งหลาย ซึ่งในสมัยนั้นเวทีโรงแรมดุสิตธานีเป็นเวทีที่มักจะจัดคอนเสิร์ตเพื่อให้เหล่าชนชั้นสูงมาดูกัน 

         งานภาพยนตร์ - ‘พุ่มพวง’เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2526 และแสดงหนังเรื่องแรก‘ สงครามเพลง’ สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง‘ มนต์รักนักเพลง’ ได้พบกับ ‘ไกรสร แสงอนันต์’ และได้จดทะเบียนสมรสกันในเวลาต่อมา

         ผลงานการแสดงของเธอในฐานะนางเอก เช่น สงครามเพลง, รอยไม้เรียว, ผ่าโลกบันเทิง, นักร้อง นักเลง, นางสาวกะทิสด, มนต์รักนักเพลง, ลูกสาวคนใหม่, อีแต๋น ไอเลิฟยู, หลงเสียงนาง, จงอางผงาด, ขอโทษทีที่รัก, คุณนาย ป.4, อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง, สาวนาสั่งแฟน, เสน่ห์นักร้อง, นางสาวยี่ส่าย ซึ่งเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์

        12 ก.ย. ปี 2532 ‘พุ่มพวง’ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่นกับเพลง “สยามเมืองยิ้ม” ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์

        ในปี 2535 เริ่มปรากฏข่าวว่าเธอป่วย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสิน จันทบุรี และย้ายไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยด้วย‘โรคเอสแอลอี’หรือ‘โรคแพ้ภูมิตัวเอง’ อาการขั้นรุนแรง ลุกลามถึงไต  

        13 มิ.ย. 2535  มีการนำตัว ‘พุ่มพวง’ออกจากโรงพยาบาลศิริราชเพื่อไปรักษาด้วยวิธีทางไสยศาสตร์  ไปจังหวัดพิษณุโลกโดยเดินทางด้วยรถตู้ แต่หลังจากกราบไหว้พระพุทธชินราช เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ก็เกิดอาการช็อกและหมดสติ ญาตินำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช และเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อเวลา 20.55 น.

      หลังจาก "พุ่มพวง" จากไปแล้ว ญาติๆ และแฟนเพลง ยังนึกถึง "พุ่มพวง" อยู่เสมอ จึงจัดสร้าง'หุ่นพุ่มพวง' ไว้ที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และมีการจัดงานรำลึกถึงพุ่มพวง ช่วงวันที่ 13-15 มิ.ย.ของทุกปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ