วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต 11 มิ.ย. 2507 ‘จอมพล ป.’ อสัญกรรม ณ ต่างแดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต11 มิ.ย. 2507‘จอมพล ป.’อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพัก ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากอดีตผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย

          วันนี้ในอดีต เมื่อ 53 ปีที่แล้ว 11 มิ.ย. 2507  จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ แปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” อดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดกว่านายกฯทุกคน คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8สมัย ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายในวัย 67 ปี  ณ บ้านพัก ที่เมืองซากามิฮาร่า ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ จากการทำรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  นายทหารรุ่นน้องที่ไว้ใจ 

         ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ มีชื่อเดิมว่า ‘แปลก ขีตตะสังคะ’  ที่ชื่อว่า  “แปลก” เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่านัยน์ตาผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า‘ แปลก’ เมื่อเข้ารับราชการ มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า ‘หลวงพิบูลสงคราม’ ต่อมาได้เลือกใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล เป็น‘จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ’ และหลังสุดได้ใช้ชื่อว่า ป. ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อ ซึ่งเหมือนกับชื่อของบุคคลสำคัญหลายคนในประเทศตะวันตกนิยมใช้กัน

          ‘จอมพล ป.‘  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เป็นนายกฯคนที่ 3 ของไทย เมื่อ 16 ธ.ค. ปี2481 โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การบริหารงานประเทศของเขานั้น มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็น’ชาตินิยม‘ เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ, มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า 'ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ' 

         ‘รัฐบาลจอมพล ป.’ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตนและให้นุ่งกางเกงขายาวแทน, มีการยกเลิกบรรดาศักด์และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ ในวันที่ 24 มิ.ย.ปี 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน ตามประเพณีไทยเป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับโลกตะวันตก โดยเริ่มเปลี่ยนในปี 2484

          มีการสร้างชาติด้วย‘วัฒนธรรมใหม่’ โดยจัดตั้ง‘สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ’ขึ้นเมื่อปี 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ มีประกาศฉบับต่างๆ เช่น สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด, ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนเปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน, ให้สวมหมวกโดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า‘มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ’ หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ ให้สวมรองเท้า ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิม แต่ส่งเสริมดนตรีสากล ฯลฯ  

          ‘จอมพล ป. ’ยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อ เช่น ฉัน, ท่าน, เรา และมีคำสั่งให้ข้าราชการไทยกล่าวคำว่า “สวัสดี” ในโอกาสแรกที่พบกัน นอกจากนี้ยังมีคำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรือ “ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย” และ “ไทยอยู่คู่ฟ้า”  วัฒนธรรมที่สังคมไทยเริ่มรับมาจากตะวันตกหลายรูปแบบในขณะนั้น ยังคงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะไม่มีการบังคับใช้อีกต่อไป และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ไปแล้ว

       ‘จอมพล ป. ’ ดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรกจนถึง 1 ส.ค.2487  รวม5 ปี 228 วัน เหตุที่พ้นจากตำแหน่งก็เพราะลาออกเนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา โดยสภาไม่ย่อมผ่านพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดถึง 2 ฉบับในเวลาที่ห่างกันเพียง 2 วัน

        หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในปี 2488   ‘จอมพล ป.’ ต้องต้องติดคุกระหว่างการถูกไต่สวนในฐานะ‘อาชญากรสงคราม’อยู่ระยะหนึ่ง  ต่อมาศาลไทยได้ปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังจากนั้น‘จอมพล ป.’ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ที่บ้านพักที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยปลูกผักต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีพ

        แต่แล้วการเมืองผกผัน 8 เมษายน ปี 2491 ‘จอมพล ป.’ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จากมติสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีที่มาจาก‘คณะรัฐประหาร’ ได้ยื่นคำขาดให้นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีลาออก การดำรงตำแหน่งนายกฯของ  ‘จอมพล ป.’ ครั้งหลังนี้ ยาวนานถึง 9 ปี  161 วัน เพราะมี “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์” และ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ค้ำบัลลังก์ให้

         ‘จอมพล ป.’ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน  จึงได้รับฉายาในช่วงที่ยังไม่หลุดจากอำนาจว่า “โจโฉ นายกฯตลอดกาล”

         ‘จอมพล ป.’ ได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า “จอมพลกระดูกเหล็ก” เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง

          วาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งนายกฯของ ‘จอมพล ป.’ มาถึง ในเย็นวันที่ 16 ก.ย.ปี 2500 เมื่อถูก‘ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ นายทหารรุ่นน้องที่ไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ กระทำการ‘รัฐประหาร’ ‘จอมพล ป.’ได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน รอดอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น  ‘จอมพล ป.’ ได้พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรม ร่าง‘จอมพล ป.’ ได้มีพิธีฌาปนกิจขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะมีการนำอัฐิกลับคืนสู่ประเทศไทยในวันที่ 27 มิ.ย.ปีเดียวกัน โดยมีพิธีรับอย่างสมเกียรติจากทั้ง 3 เหล่าทัพ

         

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ