วันนี้ในอดีต

วันนี้ในอดีต..วันเกิด‘ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ผู้บุกเบิก'พยาบาล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้ในอดีต 12 พ.ค. ...วันเกิด‘ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้บุกเบิก‘พยาบาลสมัยใหม่’ ได้รับการยกย่องว่า“สตรีผู้ถือตะเกียง”(The Lady with the Lamp) 

 

       วันนี้ในอดีต  ย้อนไปเมื่อ 197 ปีที่แล้ว วันที่ 12 พ.ค. พ.ศ. 2363 เป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล(Florence Nightingale) สตรีชาวอังกฤษผู้บุกเบิกด้านการพยาบาลสมัยใหม่  

       เธอเกิดในครอบครัวเศรษฐีชาวอังกฤษที่กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี  ในยุคที่กุลสตรีชั้นสูงได้รับการเตรียมในครอบครัว ให้เป็นผู้มีความพร้อมสำหรับการแต่งงานกับชนชั้นสูงด้วยกันเพื่อทำหน้าที่ภรรยาและมารดาที่ดีต่อไป 

      แต่สำหรับ ‘ฟลอเรนซ์  ไนติงเกล’ เธอไม่ต้องการสังคมแบบนั้น จึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ จนกระทั่งมีความรอบรู้วิชาการต่างๆ เป็นอย่างดีและพูดได้ดีถึง 6 ภาษา 

     ‘ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ เป็นผู้ที่มีความศรัทธาแรงกล้าในศาสนาและไม่ประสงค์จะแต่งงาน แต่ต้องการทำความดีแก่มวลมนุษย์เพื่ออุทิศเป็นกุศลถวายแด่พระผู้เป็นเจ้ามากกว่า  เธอบอกว่า ได้ยินเสียงจากพระองค์ให้เธอช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จึงได้พยายามแสวงหาวิธีการที่จะสามารถใช้เป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ในขณะนั้น และพบว่าการเป็น ‘พยาบาล’น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าวิธีอื่น ทั้งที่ในสมัยนั้น สังคมยังกำหนดบทบาทให้ผู้หญิงเป็นเพียงแม่บ้านและภรรยาเท่านั้นแต่เธอปฏิเสธความเชื่อดังกล่าว โดยเริ่มออกช่วยรักษาคนป่วยที่ยากจน 

        ต่อมา พ.ศ. 2389 เธอเดินทางไปศึกษา'พยาบาล'ที่เมืองไคเซอร์เวิร์ธ (Kaiserswerth) ประเทศเยอรมนี และเริ่มอาชีพพยาบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2394 

       ในช่วงสงครามไครเมีย(Crimean War) มีทหารล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2397 เธอจึงรวมตัวกับเพื่อน 38 คน เดินทางไปตุรกี และเข้าทำงานเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลค่ายทหารที่สคูตารี (Scutari) (ปัจจุบันคืออิสตันบูล) ประเทศตุรกี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามบริเวณที่มีการสู้รบคือแหลมไครเมีย เมื่อมีทหารบาดเจ็บหรือล้มป่วยจากการสู้รบก็จะขนย้ายทางเรือข้ามทะเลดำ มายังโรงพยาบาลค่ายทหารแห่งนี้  เธอใช้มาตรฐานอย่างเข้มงวด ทั้งการรักษา สุขภาพอนามัย และอาหาร เธอดูแลคนป่วยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยแม้ในยามมืดค่ำ ก็ยังคงรักษาคนไข้ใต้แสงตะเกียง จนได้รับการยกย่องว่า“สตรีผู้ถือตะเกียง”(The Lady with the Lamp) 

        หลังสงครามเธอกลับอังกฤษในฐานะ‘วีรสตรี’ และได้รับอิสริยาภรณ์เชิดชูคุณความดีของอังกฤษ (British Order of Merit) เป็นคนแรก

        อีกทั้งในช่วงสงคราม เธอยังได้ทำการบันทึกสถิติทหารที่บาดเจ็บ ซึ่งกลายเป็นแบบอย่างในการบันทึกสถิติทางการแพทย์ในปัจจุบัน 

       ภายหลังเธอได้ตั้งองค์กรเพื่อสอนวิชาพยาบาลในประเทศตุรกี และก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลอีกหลายแห่ง นอกจากนั้นเธอยังจัดหน่วยรักษาพยาบาลไปรักษาที่ต่างประเทศ เช่น สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา และทำกิจกรรมสาธารณกุศล จนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ในวัย 90 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ